OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

ความท้าทายของผู้ประกอบการไทยใน AEC: มุมมองจากผู้บริหารยุคใหม่

2825

โดย คุณเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน)




จากประสบการณ์ของบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เป็นธุรกิจขายความคิดสร้างสรรค์ ตามปกติวงจรธุรกิจนี้โดยเฉลี่ยจะขึ้นสูงสุดทุก 10 ปี แล้วจะตก แต่อินเด็กซ์ฯ เริ่มธุรกิจเล็กๆ อยู่มา 26 ปีแล้ว เติบโตด้วยการ Diversify ธุรกิจขยายตัวออกไป ปัจจุบันมีพนักงาน 590 คน มียอดขาย 2,500 ล้านบาท มีบริษัทในเครือ 10 แห่ง และมีหน่วยธุรกิจ 6 หน่วย ให้บริการ 9 รูปแบบ มีสาขาที่โฮจิมิน ฮานอย ย่างกุ้ง กัวลาลัมเปอร์ และจากาตาร์


Special Event Magazine ของสหรัฐอเมริกา ได้จัดอันดับในธุรกิจ Event ให้อินเด็กฯ เป็นอันดับ 7 ของโลก มา 3 ปีซ้อนแล้ว งานที่มีชื่อเสียงของบริษัทได้แก่ บูธ Thailand Pavilion ที่งาน The International Expo 2010 ที่จีน และ The International Expo 2012 ที่เกาหลี และงาน Countdown 2011-2014 ที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังทำรายการทีวี จัดงานนิทรรศการ ทำโฆษณา ทำพิพิธภัณฑ์ ละครเวที ฯลฯ ล้วนเป็นงานที่มีพื้นฐานด้านความคิดสร้างสรรค์


ประเทศไทยมีความโดดเด่นด้านธุรกิจสร้างสรรค์มาก อินเด็กซ์ฯ ใช้กลยุทธ์ในการขยายตัวทางธุรกิจ คือ ประเทศไหนบินไปได้ภายใน 1 ชั่วโมง และมี Land Link ก็จะเข้าไปร่วมทุนธุรกิจกับบริษัทท้องถิ่นในประเทศนั้น ยกเว้นอินโดนีเซีย เนื่องจากเขาสนใจอยากร่วมทุนด้วย ก็แค่ไปตั้งสาขา ยังไม่ได้ร่วมลงทุนจริงจัง


ประเทศไทยมีจุดเด่นด้านภูมิศาสตร์ สามารถเป็น Land Link เป็นจุดได้เปรียบมาก และการที่ประเทศรอบข้างเป็นคอมมิวนิสต์มาก่อน ทำให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์พวกทีวี ฟิล์ม การแสดง และการจัดนิทรรศการ มีพัฒนาการช้ากว่าประเทศไทยมาก ไทยรับถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีนี้จากประเทศทางตะวันตกที่เป็นต้นแบบมานาน 30-40 ปีแล้ว ประเทศรอบข้างไทยจึงมีความเข้าใจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์น้อยกว่าไทยมาก นี่คือจุดได้เปรียบที่อินเด็กซ์ฯ เอาเป็นโจทย์เพื่อขยายตัวออกไปประเทศอื่นๆ รอบข้าง เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว


เพราะมองว่าถ้าอยู่เฉพาะในเมืองไทย คงจะไปตามวงจรธุรกิจ คือ 10 ปี ก็จะมีคลื่นลูกใหม่มาแซงหน้า การทำธุรกิจมานานก็จะทำให้บริษัทจุดแข็งตรงที่มีผู้เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์และองค์ความรู้เกิดขึ้นตลอดเวลาที่ประกอบการมายาวนาน เพราะก่อนหน้านี้ในประเทศไทยก็แทบจะไม่มีธุรกิจ Event มาก่อน ทุกอย่างอินเด็กซ์ฯ ต้องเรียนรู้และสร้างขึ้นมาใหม่หมด จึงตัดสินใจไปทำธุรกิจต่างประเทศ ก็มาพิจารณาว่าจะร่วมทุนกับบริษัทระดับโลกไหม แต่มองว่าเขาอาจจะฮุบกิจการและต้องการองค์ความรู้จากการประกอบการมากกว่าผลกำไร จึงตัดสินใจไปร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นจะดีกว่า โดยให้เขาดูแลเครือข่ายและใช้ภาษาถิ่น แต่อินเด็กซ์ฯ เอาองค์ความรู้ในการทำงานใส่เข้าไป


อินเด็กซ์ฯ เข้าไปเปิดสาขาในพม่าตั้งแต่ปี 2010 ก็ได้ร่วมธุรกิจกับหุ้นส่วนรายหนึ่ง จึงได้คุยงานกับระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงข้อมูลข่าวสาร เขาต้องการใช้ธุรกิจสร้างสรรค์เพื่อเปิดประเทศสู่โลกภายนอก สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้พม่า จึงได้ทำงานกับรัฐบาลพม่าเป็นหลักในช่วงแรกๆ ปัจจุบันธุรกิจขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจพม่ากำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน ธุรกิจสร้างสรรค์ที่น่าสนใจในพม่าคือ ตลาดนิทรรศการและงาน Trade Fair เพราะเขาไม่เคยมีมาก่อน แล้วรัฐบาลให้การสนับสนุนอินเด็กซ์ฯ ในทุกความคิด เปรียบได้กับเป็นตลาดแบบ Blue Ocean ซึ่งประเทศไทยเป็น Red Ocean ไปแล้ว


ธุรกิจที่อินเด็กซ์ฯ ทำไทยไม่โตแล้ว แต่ทำที่พม่าได้เป็นเจ้าแรก เช่น ธุรกิจแฟรนไชน์ ธุรกิจทำวิจัยด้วย ทำให้ได้ข้อมูลตลาด ร้านขายเครื่องดนตรีและโรงเรียนสอนดนตรี ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจการแสดงแบบในลาสเวกัส


บทเรียนที่ได้คือเลือกจะอยู่ที่เมืองไทยหรือบุกไปต่างประเทศ อินเด็กซ์ฯ เลือกขยายไปต่างๆ โดยเริ่มจากสิ่งที่ถนัดก่อน โดยทำในสิ่งเล็กๆ แล้วขยายไปสู่สิ่งที่เคยฝันไว้ว่าอะไรที่ทำในไทยไม่ได้ ก็เอาไปทำกับต่างประเทศ ทำทุกอย่างที่สามารถจะทำได้ ใช้เวลากับการคิดใคร่ครวญให้มาก เป็น Creative Marketing ไม่ต้องใช้เงินเยอะ การก้าวเข้าสู่ AEC หมายถึงการแข่งขันกับคนทั้งโลก ถ้าก้าวช้าหมายถึงการหมดโอกาส เพราะฉะนั้นต้องไปให้เร็วกว่าเขาด้วยการร่วมทุนกับท้องถิ่น วันนี้อินเด็กซ์ฯ คือ ธุรกิจ Creative Networking ไปแล้ว


ดาวน์โหลดเอกสาร (pdf ขนาด 939.09 KB)