OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

AEC: โอกาสของผู้ประกอบการและคนไทยรุ่นใหม่

3466

โดย คุณกรกฎ ผดุงจิตต์ รองประธานกลุ่มเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย




การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของอาเซียน จะสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยอย่างไร จากการที่เราได้ไปเซ็นสัญญาต่างๆ เพื่อเปิดเสรีการค้า จนก่อให้เกิดการรวมตัวเป็นอาเซียน และเป็นอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) หรือบวกหก (เพิ่มอินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) ซึ่งจะครอบคลุมกลุ่มประเทศที่มีประชากรกว่า 40% ของโลก หรือราว 3,000 กว่าล้านคน สิ่งนี้จะช่วยให้เรามีศักยภาพด้านการแข่งขันได้มากขึ้นจริงหรือไม่ ต้องมาพิจารณาดูข้อได้เปรียบเสียเปรียบแต่ละประเทศดังนี้


ก่อนอื่นต้องเข้าใจ ASEAN Style หรือ ASEAN Way หรือวิถีแบบอาเซียน ปัจจุบันยังหมายถึงข้อกำหนดต่างๆ ที่อาจจะไม่เป็นไปตามที่ตกลง อาจจะใช้ได้เฉพาะพื้นที่บางแห่งเท่านั้น ใช้ไม่ได้ทั่วไปกับทุกประเทศ เพราะแต่ละประเทศยังมีความสามารถแข่งขันไม่เท่ากัน จึงเก็บข้อได้เปรียบเอาไว้เจรจาต่อรอง สิ่งนี้ยังคงต้องมีการปรับปรุงต่อไป


โอกาสอยู่ตรงที่ว่าเราสามารถส่งสินค้าขยายตัวเข้าไปขายในกลุ่มประเทศเหล่านี้ได้มากขึ้น ซึ่งถ้าประเทศที่เราส่งสินค้าเข้าไปมีกำลังซื้อด้วย เราก็จะได้ประโยชน์ ซึ่งแต่ละประเทศมีศักยภาพต่างกัน ดังนี้


อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนในแง่ของ GDP และใหญ่เป็นอันดับที่ 20 ของโลก ประเทศที่ใหญ่รองลงมาในอาเซียนคือประเทศไทย จึงน่าสนใจในการลงทุนที่สุดในอาเซียน จากเอกสารของ Bank of Japan หรือเจบิก (JBIC) ได้รายงานว่าตั้งแต่ปี 2540-2550 มี Return of Investment ของผู้ประกอบการญี่ปุ่น คือ ประเทศไทย แต่วันนี้อินโดนีเซียแซงหน้าไปแล้ว เพราะมีทั้งสินแร่เหล็ก ถ่านหิน ทอง ทองแดง อินโดนีเซียมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน มีโรงถลุงแร่เหล็ก ซึ่งลงทุนร่วมระหว่างรัฐบาลและเอกชน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ปัจจุบันมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้นมาก มาจากการลงทุน และมีการบริโภคสูง เนื่องจากมีจำนวนประชากรมากกว่า 200 ล้านคน แต่มีจุดต้องระวังคืออัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นทางการต่างจากในตลาดมืดอย่างมาก   โอกาสในอินโดนีเซีย เช่น ขณะนี้โรงสีขนาดใหญ่ในอินโดนีเซีย 2 แห่ง เป็นของคนไทย เพราะที่นั่นมีการทำเกษตรเหมือนไทย แต่มีโอกาสเติบโตได้ดี จึงมีนักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุน ธุรกิจอีกประเภทที่ไทยได้เปรียบคือธุรกิจโรงพยาบาล หรือ Medical Hub คนในอาเซียนให้ความเชื่อถือในการเข้ามาใช้บริการที่ประเทศไทยมาก โดยเฉพาะคนอินโดนีเซีย เพราะคนไทยให้บริการดี แล้วได้ท่องเที่ยวไปในตัว ธุรกิจด้านโลจิสติกส์ได้ก็ได้เปรียบ เพราะแอร์เอเชียเปิดเส้นทางการบินโดยใช้ดอนเมืองเป็นฐานบินเข้าสนามบินที่อู่หั่นประเทศจีน ด้วยราคาค่าเดินทางที่ถูกกว่าการบินตรงจากจาการ์ตาบินไปประเทศจีน   อินโดนีเซียมีจุดอ่อนอีกเรื่องคือเรื่องการขนส่งทางเรือ มีท่าเรือตันจุงปิล็อก หรือท่าเรือจาการ์ตา เป็นท่าเรือขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีเรือออกมากกว่าแหลมฉบังของไทย แต่รัฐบาลก็ได้มีการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาคอขวดและโลจิสติกส์ทั้งหมดในอินโดนีเซียแล้ว


สิงคโปร์ ประชากรมีรายได้สูงกว่าคนไทย 9 เท่า มีพัฒนาการสูงสุด มีแหล่งรายได้ใหม่คือ อ่าวมารีน่ากับการท่องเที่ยว นักลงทุนยังคงมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์กันเป็นส่วนใหญ่ เพราะจ่ายภาษีน้อยกว่าประเทศไทย แม้ว่าค่าเช่าหรือค่าครองชีพจะแพงกว่าไทยมาก การจัดการข้อมูลและมาตรฐานการทำงานก็ดีกว่าไทยมาก คนสิงคโปร์ได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพสูงกว่าไทย ส่วนไทยมีจุดอ่อนคือ ขาด Knowledge Base คือ ไม่ทำการวิจัยให้เป็นฐานองค์ความรู้สำหรับการทำงานต่อยอด จึงยังคงถนัดแต่ทำงานรับจ้างผลิตอยู่ และพัฒนาต่อยอดไม่เป็น


มาเลเซีย ประชากรมีรายได้สูงกว่าคนไทย 1 เท่า มีพัฒนาการรองจากสิงคโปร์ มาเลเซียมีพลังงานที่ถูก มีโรงถลุงอลูมิเนียม ท่าเรือที่ปีนังเป็นท่าเรืออันดับสามของมาเลเซีย โดยขนส่งสินค้าส่วนใหญ่มาจากภาคใต้ของไทยไปมาเลเซีย ซึ่งถูกกว่าไปขึ้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง มาเลเซียมีการวางผังเมืองที่ชัดเจน มีการเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้โดยทั่วกันว่าจะสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาบ้าง เช่น ในกัวลาลัมเปอร์อันเป็นเมืองหลวง จะมีการทำ Landmark ของเมืองขึ้นมาใหม่ เดิมมี KL Tower ต่อมามี Twin Tower และกำลังจะสร้างอีกแห่ง สะท้อนว่ามีระบบการจัดการบริหารประเทศที่ดี มาเลเซียได้สร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเป็นอาเซียน มีท่าเรือทั้งหมด 7 แห่ง โดยจะทำถนน 6 เลน เป็น Land Bridge 300 กิโลเมตรเสร็จแล้ว เชื่อมท่าเรือ North Port ซึ่งเป็นท่าเรือหลักของประเทศ มาเลเซียยังมีท่าเรือขนาดใหญ่อีก 2 แห่ง คือ West Port และอีกแห่งใหญ่ที่สุด โดยตั้งใจจะทำแข่งกับท่าเรือสิงคโปร์ คือ ท่าเรือตันจุงปาปัส (Tunjung Pelepas) โดยลดค่าธรรมเนียมให้กับบริษัทเมอร์ส เพื่อให้ย้ายการขนส่งจากท่าเรือสิงคโปร์มาที่มาเลเซีย ซึ่งบริษัทเมอร์สได้กำไรทันที 300 ร้อยล้านบาท ทำให้ท่าเรือนี้มีการใช้ประมาณ 7 ล้านทียู เป็นอันดับที่ 17 ของโลก


บรูไน เป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก และไม่มีธุรกรรมอะไรเท่าไร


ฟิลิปปินส์ ค่อนข้างโดดเดี่ยวจากกลุ่มประเทศอาเซียน มะนิลามีปัญหาการคมนาคมและความสะอาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ถ้าจะทำธุรกิจกับฟิลิปปินส์ ก็ต้องมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับคนในพื้นที่


เขมร ชายแดนไทยเขมร ส่วนใหญ่เป็นบ่อนคาสิโน ยังไม่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากเท่าชายแดนไทยลาว เส้นทางหลักเชื่อมเข้าเขมรคือ จากกรุงเทพฯ – ศรีโสภณ – พนมเปญ – โฮจิมิน เชื่อมสู่จีนผ่านทางเวียดนาม ทางรถไฟยังเชื่อมกันไม่ครบ ส่วนสนามบินก็ยังไม่ทำการบินแน่นอน มีท่าเรือใหญ่อยู่ที่สีหนุวิว ซึ่งคนไทยไปลงทุน เขมรมีเขื่อนทั้งหมด 3 แห่ง คือ ซานเซ คีรีรมย์ 1 และ คีรีรมย์ 2 และกำลังสร้างอยู่เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ คือ สะตรึงเต็ง ทำให้เขมรยังคงต้องซื้อไฟฟ้าจากประเทศไทย ลาวและเวียดนาม การขนส่งสินค้าจากไทยไปเขมรทางบกแพงมาก แต่ขนไปทางท่าเรือหม่องนที ค่าเรืออย่างเดียว 27 บาท/ตัน ถ้าจากโฮจิมิน ท่าเรือวุงเตา ค่าขนส่ง 10 บาท/ตัน ดังนั้นต้นทุนจากทางไทยสูงกว่า ท่าเรือโฮจิมินกำลังเติบโตแซงหน้าไทย ในลาว พม่า เขมร มีการขนส่งด้วยรถจักรยานยนต์ ซึ่งจะมีปัญหาค่าโลจิสติกส์สูงมาก เพราะใช้ถนนมาก ในเขมรมีเหมืองทอง 1 แห่ง ในเวียดนาม 1 แห่ง ในลาว 3 แห่ง เกาะกงในเขมรไม่มีแรงงาน แรงงานส่วนใหญ่อยู่รอบๆ พนมเปญ มีธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยเข้าไปลงทุนอยู่ก่อนหน้านี้พอสมควร ธุรกิจที่น่าสนใจในเขมร เช่น ธุรกิจชุดแต่งงาน เพราะงานแต่งงานมีจัดเลี้ยง 1 คืน ใช้ชุดแต่งงาน 10-15 ชุด เขมร พม่า ลาวและคนเวียดนามชอบแต่งตัวและเสริมความงาม ธุรกิจแฟชั่นและเสริมความงามน่าจะไปได้ดี


ลาว มีประชากรราว 7 ล้านคน ในลาวจึงไม่ค่อยมีแรงงาน เขาทำเกษตรด้วยการใช้เครื่องจักรเป็นส่วนใหญ่ เวียงจันทน์เมืองหลวงของลาว อยู่ใกล้อุดรธานีมาก เป็นเมืองเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของลาง รองลงมาคือ หลวงพระบาง สะหวันเขต จำปาศักดิ์ คอนเซ็ปท์ของประเทศ คือ แบตเตอรี่โลก ด้วยการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าขาย โดยคนไทยได้สัมปทานหลายแห่ง ลาวยังเป็นแหล่งวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรม เขาสนใจธุรกิจอาหารในลักษณะเอ็มเคสุกี้ของไทย  ค่าแรงในเขมร ลาว เวียดนาม ประมาณ 120 บาท/วัน


พม่า ท่าเรือทวายมีปัญหามาก อาจจะไม่เกิด แต่ก็มีอีกแห่ง คือ ท่าเรือทิลวา เป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ อยู่ปากแม่น้ำ ห่างจากย่างกุ้ง 25 กิโลเมตร ญี่ปุ่นเข้าไปซื้อที่ดินหมดแล้ว เป็นท่าเรือสำคัญอีกแห่งที่เจ้าผิว เชื่อมเส้นทางขึ้นไปสู่จีน วางท่อก๊าซและท่อส่งน้ำมันคู่ขนานกันไป เป็นท่าเรือน้ำลึก และเป็นอ่าวเปิด มีปัญหาเรื่องมรสุม ท่าเรือที่ย่างกุ้ง มี 2 แห่ง เป็นของรัฐบาลและเอกชน มีแหล่งถลุงถ่านหิน พม่าขาดไฟฟ้า จึงสนใจโครงการที่จะไปลงทุนผลิตไฟฟ้า ในพม่าค่าแรง 40 บาท/วัน เฉพาะในเมืองย่างกุ้ง แต่ค่าเช่าบ้าน 4,000 บาท/เดือน ค่าแรงเงินเดือนปริญญาตรี 4,500 – 5,000 บาท ข้าวแกงข้างถนน จานละ 60 บาท คนพม่าจึงหิ้วปิ่นโตไปกินข้าวกันเอง คนอินโดนีเซีย คนมาเลเซีย เริ่มรู้สึกว่าเขาเป็นประชากรของอาเซียนแล้ว วันนี้คนไทยมีความรู้สึกว่าเป็นประชากรของอาเซียนแล้วหรือยัง



ดาวน์โหลดเอกสาร (pdf ขนาด 939.09 KB)