OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

โอกาสจากการสร้างเครือข่ายธุรกิจใหม่ในจีนและ AEC

10757

"โอกาสจากการสร้างโครงข่ายธุรกิจใหม่ใน AEC และจีน" โดย รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ




AEC เป็นการรวมตัวของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนในลักษณะการเป็น "ตลาดร่วม" หมายถึง การเปิดเสรีสินค้า บริการ เงินทุน และแรงงาน การเปิดเสรีทั้ง 4 ประการ เป็นกระบวนการในการลดอุปสรรคของการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน และแรงงาน ซึ่งจะทำให้เกิดปัจจัยอื่นๆ เป็นผลติดตามมา


ในการเปิดแต่ละด้านจะมีกระบวนการต่างๆ เกิดขึ้น การเปิดเสรีสินค้าจะต้องลดอุปสรรค 2 ประการ คือ กำแพงภาษีนำเข้า (TB) และอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) โดยเฉพาะอย่างยิ่งโควตาต้องเหลือศูนย์ ส่วนการเปิดเสรีบริการ เงินทุน และแรงงาน หมายถึง การแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ในลักษณะให้เจ้าของบริการ เจ้าของเงินทุนหรือแรงงาน สามารถเคลื่อนย้ายในอีกประเทศหนึ่งได้เสมือนเป็นบุคคลประเทศเดียวกัน ดังนั้นการรวมตัวเป็นตลาดร่วมทุกแห่งที่เกี่ยวกับการเปิดเสรีเงินทุนและบริการ จึงหมายถึงการอนุญาตให้บริษัทของประเทศสมาชิกที่รวมกลุ่มถือครองในสัดส่วนที่เกิน 50% และมักจะตกลงที่ 100% เพียงแต่มีการกำหนดเงื่อนไขของเวลา ที่จะเริ่มต้นและจบลงที่ 100 % ในลักษณะนี้กล่าวได้ว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งกำหนดเรื่องการบริการและเงินทุนที่ถือครองได้ 70%


สำหรับการเริ่มต้น AEC ใน ค.ศ. 2015 มีธุรกิจ 12 ประเภท ซึ่ง 5 ประเภทของธุรกิจจะอยู่ในภาคบริการ ได้แก่ การท่องเที่ยว IT โลจิสติกส์ สุขภาพ และการบิน ซึ่งเป็นเพียงการเริ่มต้น หมายความว่าในอนาคตต่อจากนั้นต้องเปิดให้ถึง 100% และขยายไปมากกว่า 5 ประเภท เช่นเดียวกันกับแรงงานที่ปัจจุบันจำกัดที่ 8 ประเภท เมื่อถึงจุดหนึ่งแรงงานที่เปิดเสรี อาจเพิ่มเป็น 9 หรือ 10 ประเภท และในอนาคตอาจไปไกลกว่านั้นรวมทั้งการเปิดเสรีแรงงานที่ไม่มีฝีมือด้วยดังกรณีที่เกิดกับประชาคมยุโรป


กระบวนการการเปิดเสรีสินค้า บริการ เงินทุนและแรงงานได้มีการดำเนินการมาก่อน ค.ศ. 2015 เช่น การเปิดเสรีสินค้าเริ่มต้นเมื่อ ค.ศ. 1993 ขณะนี้กระบวนการดังกล่าวได้จบลงเกือบหมดแล้ว และการเปิดเสรีสินค้าดังกล่าวเรารู้จักกันในนาม "AFTA" หรือเขตการค้าเสรีอาเซียน ในด้านการเปิดเสรีบริการได้เริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. 1995 ที่รู้จักกันในนาม "AFAS" (ASEAN Framework Agreement on Services) และใน ค.ศ. 1995 - 1998 ก็คือจุดเริ่มต้นของการเปิดเสรีเงินทุนที่รู้จักกันในนาม "AIA" (ASEAN Investment Area) และการเริ่มเปิดเสรีแรงงานมีฝีมือก็มีการดำเนินการในกรอบของ AFAS และพลวัตการเปิดเสรีสินค้าและแรงงานจะยังขยายตัวต่อไปเนื่องจากกระบวนการต่างๆ ยังไม่จบ เช่นเดียวกับตลาดร่วมยุโรปการเปิดเสรีทางการเงินของสหภาพยุโรปในขณะนี้ก็ยังกำลังดำเนินการอยู่เนื่องจากกระบวนการต่างๆ ยังไม่ได้จบลงใน ค.ศ. 1992


การที่จะปรับตัวให้เข้ากับ AEC องค์ประกอบที่สำคัญที่สุด คือ การคิดในลักษณะที่สามารถใช้สมองวิเคราะห์และพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดในอนาคตได้ล่วงหน้า เราเรียกลักษณะการคิดดังกล่าวว่า มี "วิสัยทัศน์" (Visionary Mindset) ล้ำสมัย ทำและรู้ก่อนคนทั่วไป เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและ AEC ก็เป็นตัวเร่งแห่งการเปลี่ยนแปลง การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จต้องมีการเตรียมตัวอย่างดีหรือมองเห็นอนาคต นั่นคือการที่สามารถผลิตสินค้าและบริการได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า หรือสามารถปรับตัวให้ได้ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร


สำหรับการสร้างสรรค์เสรีภาพทางการแข่งขัน การร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านทำให้เกิดเหลี่ยมเศรษฐกิจต่างๆ ได้แก่


  • สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ หรือ IMT-GT (Indonesia-Malaysia-Thailand Great Triangle)
    ความร่วมมือทางเศรษฐกิจทางตอนใต้ของไทย 5 จังหวัดร่วมกับตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตราอินโดนีเซียและตะวันตกเฉียงเหนือของมาเลเซีย

  • สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ หรือ UPMEC (Upper Mekong Economic Cooperation)
    เริ่มแรกประกอบด้วยมณฑลยูนนาน เมียนมาร์ สปป.ลาว และ 8 จังหวัดทางเหนือของไทย (เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน) หรือประเทศบนแม่น้ำโขงตอนบน ต่อมาในปี 2544 ได้ขยายวงจากยูนนานรวมซื่อชวน กวางซี ขณะที่ 8 จังหวัดทางเหนือของไทยขยายวงคลุมจังหวัดภาคเหนือตอนใต้อีก 11 จังหวัด

  • ห้าเหลี่ยมเศรษฐกิจ หรือ ACMECS (Arawadi-Chaophraya-Mekong Economic Cooperation Strategy)
    ประกอบด้วยเมียนมาร์ ไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

  • หกเหลี่ยมเศรษฐกิจ หรือ GMS (Greater Mekong Subregion)
    ประกอบด้วยประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงรวม 6 ประเทศคือจีนตอนใต้ เมียนมาร์ สปป.ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

  • เจ็ดเหลี่ยมเศษฐกิจ หรือ BIMSTEC (Bangladesh-India-Myanmar-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation)
    บวกด้วยภูฐาน และเนปาล รวมเป็น 7 ประเทศแถบอ่าวเบงกอล

การดำเนินการในส่วนของอาเซียนกับจีน ได้มีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับจีน ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-จีน ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002 ผู้นำอาเซียน-จีน ได้ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-จีน (Framework Agreement of ASEAN-China Comprehensive Economic Cooperation) กรอบความตกลงฯ ดังกล่าว เป็นข้อผูกพันทางกฎหมายระหว่างอาเซียนและจีนสำหรับการดำเนินการเจรจาต่อไปในอนาคต โดยมีลักษณะเป็นกรอบกว้าง ครอบคลุมเรื่องสำคัญๆ เช่น การค้าสินค้า การบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการเปิดเสรีและความร่วมมือในด้านต่างๆ ในอนาคต ได้แก่ กรอบความร่วมมือด้านการค้าสินค้า กรอบความร่วมมือด้านการค้าบริการ กรอบความร่วมมือด้านการลงทุน ซึ่งมีข้อตกลงในเรื่องของการลดภาษี ให้มีการลดภาษีสินค้าส่วนแรก (EHP) ภายใต้พิกัดอัตราศุลกากร ตอนที่ 01-08 ซึ่งเป็นสินค้าเกษตร โดยเริ่มต้นการลดภาษีในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2004 และลดภาษีให้เหลือร้อยละ 0 ภายในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2006 การลดภาษีภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ครอบคลุมสินค้าส่วนใหญ่โดยแบ่งรายการสินค้าเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ รายการสินค้าปกติ อัตราภาษีสุดท้ายคือ 0 และ รายการสินค้าอ่อนไหว ได้แก่ สินค้าที่ต้องการความคุ้มครองมากกว่าสินค้าปกติ และต้องการระยะเวลาการปรับตัวนานกว่า ซึ่งจะมีระยะเวลาการลดหย่อนหรือการยกเลิกภาษีช้ากว่าสินค้าปกติ สำหรับรายการสินค้าที่ได้รับการยกเว้นตามพันธะกรณีของ WTO จะไม่ต้องนำมาลดภาษี ในส่วนของกรอบความร่วมมือด้านการค้าบริการอาเซียนและจีนได้ตกลงเปิดเสรีด้านการค้าบริการให้ก้าวหน้ามากขึ้น โดยยกเลิกหรือลดมาตรการที่เป็นการเลือกปฏิบัติทั้งหมดระหว่างกัน และห้ามใช้มาตรการที่เป็นการเลือกปฏิบัติใหม่หรือมาตรการเลือกปฏิบัติที่มีเงื่อนไขมากขึ้นกว่าเดิม สำหรับกรอบความร่วมมือด้านการลงทุนอาเซียน-จีน ได้ตกลงให้มีการส่งเสริมการลงทุน การตั้งนโยบายการลงทุนที่แข่งขันเปิดกว้างและมีความโปร่งใส โดยได้มีการเพิ่มเติมให้ครอบคลุมเรื่องการปกป้องการลงทุนด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงในเรื่องของการลดภาษีสินค้าส่วนแรกและความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้า ซึ่งข้อตกลงเหล่านี้จะก่อให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น โดยแต่ละประเทศจะต้องมีการปรับปรุงสินค้าเพื่อให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพมากขึ้น


นอกจากนี้การจับคู่ทางธุรกิจของอาเซียนกับประเทศต่างๆ ก็เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะก่อให้เกิดโอกาส และการเสียเปรียบคู่แข่งทางการค้า การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit- EAS) หรือ ASEAN+6 เดิมเป็นข้อริเริ่มในกรอบอาเซียน+3 ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไปสู่การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกซึ่งรวมประเทศ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เพิ่มเข้ามา เพราะอาเซียนเห็นว่า ควรเปิดกว้างให้ประเทศนอกกลุ่มอาเซียนเข้าร่วม การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit-EAS) จะเป็นเวทีสำหรับหารือทางยุทธศาสตร์ที่เปิดกว้างให้ประเทศที่ตั้งอยู่ภายนอก แต่มีความสนใจและมีบทบาทในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียตะวันออกเข้ามามีส่วนร่วมในกรอบความร่วมมือต่างๆ ในเอเชียตะวันออก ทำให้เห็นได้ว่ากลุ่มประเทศต่างๆ ทั้งในภูมิภาคเอเชียหรือภูมิภาคอื่นๆ ของโลกเริ่มหันมาให้ความสำคัญและสนใจในการเสริมสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ กับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียนจะต้องมีการเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ เพื่อประโยชน์ที่จะได้รับในอนาคต


ในการเตรียมตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาข้างต้นสำหรับนักลงทุน คือ การเรียนรู้และศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ของประเทศคู่ค้าและประเทศคู่แข็ง ตามคำกล่าวที่ว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” ข้อมูลต่างๆที่จำเป็น ได้แก่ ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง ศิลปวัฒนธรรม ค่านิยม รวมถึงรายละเอียดปลีกย่อย เช่น กฏหมาย ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวกับการลงทุน แนวโน้มความเป็นไปของโลก ข้อมูลเหล่านี้ จะทำให้สามารถผลิตสินค้าและบริการได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่นและประสพความสำเร็จ เช่น การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมควรตั้งในภูมิภาคใด ค่าแรงงานในประเทศนั้นๆ การควบคุมสภาวะแวดล้อมเพื่อม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีกฎระเบียบข้อห้ามใดๆหรือไม่ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่นักลงทุนจะต้องทำการศึกษาเสียก่อน


ส่วนของกลุ่มลงทุน ได้แก่ รัฐวิสาหกิจ หรือกับเอกชน ต้องพิจารณาถึงความเสี่ยง แม้ว่าการลงทุนกับรัฐวิสหกิจจะดูเหมือนมั่นคงแต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ ในการที่จะเข้าไปลงทุนผู้ลงทุนอาจศึกษาข้อมูลจากการไปดูงานนิทรรศการทางการค้า การลงทุนที่จัดขึ้นเพื่อพบปะกับผู้ที่มีความสนใจในธุรกิจเดียวกัน หรือศึกษาข้อมูลจากกระทรวงพานิชย์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สามารถให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการลงทุน หรือการเดินทางไปพบปะกับนักธุรกิจหรือหน่วยงานด้วยตนเอง เหล่านี้คือช่องทางที่จะเข้าไปจับคู่ทางการค้า


สำหรับนักลงทุนที่สนใจจะลงทุนหรือขยายตลาดการค้าของตน ควรแน่ใจว่ากิจการหรือธุรกิจของตนที่มีอยู่ในประเทศเวลานี้มีความมั่นคงและสามารถอยู่รอดได้ก่อนทำการลงทุนหรือเปิดตลาดใหม่ ปัจจุบันความนิยมของผู้บริโภคนิยมสินค้าที่มีคุณภาพระดับ world class ดังนั้นสินค้าจะต้องได้คุณภาพ ซึ่งต้องศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และเรียนรู้คู่แข่งในธุรกิจเดียวกันและคู่แข่งที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเรา


บทสรุปก็คือ โลกกำลังเปลี่ยนแปลง และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ได้จบลงที่ AEC แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement : TPP) เป็นความตกลงการค้าเสรีกรอบพหุภาคี ที่มีมาตรฐานสูง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการบูรณาการทางเศรษฐกิจในด้านการเปิดตลาดการค้าสินค้า บริการและการลงทุน การปฏิรูป การสร้างความสอดคล้องในกฎระเบียบทางเศรษฐกิจให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น นโยบายการแข่งขัน การจัดซื้อโดยรัฐ ทรัพย์สินแห่งปัญญา มาตรฐานแรงงาน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งแต่เดิมนั้น ประเทศสมาชิกประกอบด้วย ชิลี นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และบรูไน หรือที่เรียกว่า The Pacific -4 (P4) และต่อมา สหรัฐฯ ออสเตรเลีย เปรู เวียดนาม และมาเลเซียได้เข้าร่วมการเจรจาความตกลง TPP ซึ่งประเทศสมาชิก TPP ทั้ง 9 ประเทศต่างเป็นสมาชิก APEC ด้วย ทั้งนี้ ประเทศสมาชิก TPP ยังไม่มีแนวโน้มที่จะรับสมาชิกใหม่จนกว่าการเจรจาจะเสร็จสิ้น ดังนั้นการศึกษา เรียนรู้ การมีวิสัยทัศน์ ที่จะเรียนรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกจะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการดำเนินธุรกิจท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดจากการสร้างเครือข่ายระหว่างกัน แม้ว่าการสร้างเครือข่ายธุรกิจใหม่ในจีนและ AEC จะเป็นโอกาสสำหรับการลงทุน อย่างไรก็ตามสำหรับการทำธุรกิจในตลาดจีนสิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ การทำในสิ่งที่ตนเองชำนาญ การลงทุนที่คำนึงถึงความเสี่ยงน้อย การขยายฐานลูกค้า การสร้างเครือข่าย และการค่อยๆ ศึกษาเรียนรู้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการลงทุนมากที่สุด


ดาวน์โหลดเอกสาร (pdf ขนาด 887.46 KB)