OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

ความพร้อมของการท่องเที่ยวไทยเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีน

7165

สาระสำคัญของหัวข้อ “ความพร้อมของการท่องเที่ยวไทยเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีน” โดย ดร.รุ่งโรจน์ สีเหลืองสวัสดิ์ รองประธานฝ่ายวิชาการ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประเทศไทย ได้ให้ข้อสรุปและคำแนะนำไว้ดังนี้




ชาวจีนถือเป็นนักท่องเที่ยวที่มีความสำคัญต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทย จากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนต่อปีที่เข้ามาในเมืองไทยมีจำนวนตัวเลขที่สูงขึ้นจากปี 2554 เป็นต้นมา รายได้จากการท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวจีนมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดของไทย โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนจะแบ่งเป็นสามกลุ่ม ได้แก่ ระดับสูงซึ่งมีอำนาจในการใช้จ่ายสูงนิยมท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต กระบี่ ระดับกลางและระดับล่าง ซึ่งการวางโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเจาะกลุ่มลูกค้าในแต่ละระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับสูงและระดับกลาง จะทำให้สามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ให้มากขึ้น ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะมีอำนาจในการใช้จ่ายที่มากกว่าระดับล่าง การเตรียมความพร้อมของธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีจำนวนมาก จะทำให้เกิดโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจในกลุ่มท่องเที่ยวมากขึ้น สำหรับการเตรียมความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวจีน มีดังนี้


ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นสิ่งสำคัญที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างชาติให้เข้ามาเที่ยวในประเทศไทย โดยที่ขณะนี้วิกฤตการณ์ในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศในแถบเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่ตั้งอยู่ตรงกลางแวดล้อมด้วยประเทศต่าง ๆ ถือเป็นข้อได้เปรียบของประเทศไทย ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของความปลอดภัยและทรัพย์สิน จะทำให้ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์ในเรื่องของธุรกิจการท่องเที่ยว


การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ จะต้องอาศัยการสนับสนุนจากรัฐบาล ในขณะเดียวกันภาคธุรกิจก็ต้องเพิ่มขีดความสามารถของตนเองให้มากขึ้น ทั้งนี้ในภาพรวมใหญ่ต้องอาศัยรัฐบาลเป็นผู้วางโครงสร้างพื้นฐานซึ่ง หมายถึง องค์ประกอบพื้นที่รองรับการท่องเที่ยวทั้งระบบถือเป็นการสนับสนุนให้การท่องเที่ยวสามารถไปด้วยดี และทำให้เกิดความรวดเร็วในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ได้แก่ ระบบสาธารณูปโภคด้านต่างๆ ระบบการสื่อสารและโทรคมนาคม ระบบการขนส่ง ระบบสาธาณสุข และสิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่จะช่วยให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกสบายและมีความสุข สิ่งอำนวยความ


สะดวกที่สำคัญประกอบด้วย ที่พักแรม อาหารและสถานบันเทิง การบริการนาเที่ยวและมัคคุเทศก์ สินค้าที่ระลึก ระเบียบการเข้า-ออกประเทศ ในส่วนของภาคเอกชนและผู้ประกอบการต้องเพิ่มขีดความสามารถของตนเอง เพื่อให้สามารถตอบสนองนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความพึงพอใจให้แก่นักท่องเที่ยว ด้วยการพัฒนาทรัพยากรณ์บุคคล


การพัฒนาทรัพยากรณ์บุคคลต้องมีการพัฒนาทางด้านการศึกษา โดยที่ปัจจุบันการศึกษาของไทยมีลักษณะเป็นการเรียนการสอนในโรงเรียน ตามหลักสูตรการศึกษา ซึ่งการพัฒนาบุคลากรควรให้เป็นลักษณะของ การฝึกอบรม (Competency-based Training) เช่น สหรัฐอเมริกา คานาดา อังกฤษ เกาหลี ออสเตรเลีย เพื่อควบคุมคุณภาพของบุคลากรในอาชีพต่างๆ เพื่อเพิ่มการแข่งขันกับนานาชาติ โดยคำนึงถึงอุปสงค์ (demand) และอุปทาน (supply) ซึ่งผู้ให้บริการหรือผู้ประกอบการรวมถึงบุคลากรในวงการธุรกิจท่องเที่ยวจะต้องมีสมรรถนะในการปฏิบัติงานด้านนั้นๆ โดยที่ปัจจุบันได้มีข้อตกลงที่เรียกว่า “ข้อตกลงอาเซียนด้านบุคลากรวิชาชีพท่องเที่ยว” หรือ ASEAN MRA on Tourism Professionals เป็นข้อตกลงยอมรับร่วมที่ได้รับการลงนามโดย รัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ (โดยประเทศไทยมีนายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นตัวแทนลงนามในข้อตกลงดังกล่าว เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555) ข้อตกลงนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ


  1. ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายแรงงานด้านบุคลากรวิชาชีพท่องเที่ยวในอาเซียน
  2. แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best practices) ด้านการสอนและฝึกอบรมบุคลากรวิชาชีพบริการการท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐาน โดยใช้สมรรถนะเป็นหลัก (competency-based) รวมทั้งเพื่อเปิดโอกาสในการสร้างความร่วมมือและเพิ่มขีดความสามารถในหมู่สมาชิกอาเซียน

ตามแผนดำเนินงานที่วางไว้ อาเซียนจะจัดทำ “มาตรฐานสมรรถนะขั้นพื้นฐานของบุคลากรวิชาชีพท่องเที่ยวแห่งอาเซียน” (ASEAN Common Competency Standards for Tourism Professionals: ACCSTP) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 และสามารถนำไปใช้ได้ในประเทศสมาชิก โดย ACCSTP จะระบุถึงสมรรถนะพื้นฐานขั้นต่ำของบุคลากรวิชาชีพท่องเที่ยวในสายงานสาขาต่างๆ โดยบุคลากรที่ได้รับประกาศนียบัตรสมรรถนะวิชาชีพบริการท่องเที่ยวในสาขาที่ระบุใน ACCSTP จากหน่วยงานที่รับผิดชอบของประเทศใดประเทศหนึ่ง จะสามารถทำงานในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ได้ แต่ทั้งนี้สิทธิการทำงานจะยังอยู่ภายใต้กฎหมายและข้อบังคับของประเทศที่บุคคลผู้นั้นถูกจ้างงาน


สมรรถนะ (Competence) หมายถึง ความสามารถในการปฏิบัติ ภายใต้เงื่อนไข ใช้เครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ที่ระบุไว้ ให้ได้มาตรฐาน ตามเกณฑ์การปฏิบัติ (Performance Criteria) และมีหลักฐานการปฏิบัติ ให้ประเมินผลและตรวจสอบได้


สำหรับสภาวะการปัจจุบันภายใต้การบริหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐบาลดังนี้


  1. ควรมีการรักษาความสงบเรียบร้อยและการจัดระเบียบการให้บริการและสถานที่ท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวมองว่าเป็นการดำเนินงานที่ดีของ คสช. และเป็นโอกาสที่ดีที่จะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้
  2. ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวให้กับต่างประเทศ โดยไตรมาสที่ 4 นับเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสถานการณ์ในประเทศเข้าสู่ภาวะปกติ ภาครัฐควรต้องมีการประชาสัมพันธ์ต่างๆ เช่น จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย Roadshow ในประเทศเป้าหมาย
  3. เพิ่มศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาอย่างยิ่งเที่ยวบินจากประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมาก รัฐอาจจะต้องให้การสนับสนุนในเรื่องเที่ยวบินเหมาลำ (Charter flight) ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ด้วย โดยอาจจะช่วยประสานงานกับทางรัฐบาลจีนในการดำเนินงานดังกล่าว หรือการลดต้นทุนเช่น ค่าจอดเครื่องบินและค่าธรรมเนียมสนามบิน
  4. ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศอย่างต่อเนื่อง การอนุญาตให้นักท่องเที่ยวชาวไทยนำค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยวภายในประเทศไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้
  5. การส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ เพื่อรองรับการเติบโตของการท่องเที่ยว และการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรที่จำเป็น เช่น มัคคุเทศก์ คนขับรถ ที่อาจจะขาดแคลนและจะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของการท่องเที่ยวในอนาคตอันใกล้

ในส่วนของข้อเสนอแนะต่อผู้ประกอบการ ได้แก่


  1. พัฒนามาตรฐานการให้บริการ โดยเฉพาะการดูแลความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว
  2. เตรียมความพร้อมของตนเองในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 4 และเทศกาลสำคัญในช่วงปลายปี
  3. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลกรในธุรกิจของตนเอง
  4. เพิ่มความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการในธุรกิจหรือในพื้นที่เดียวกันให้มากยิ่งขึ้น

ดาวน์โหลดเอกสาร (pdf ขนาด 887.46 KB)