OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

"ส่องอนาคตธุรกิจบริการไทยในทศวรรษหน้า" (A Future Glance at the Next Decade of Service Businesses

10343
"ส่องอนาคตธุรกิจบริการไทยในทศวรรษหน้า" (A Future Glance at the Next Decade of Service Businesses

ภาคบริการเป็นธุรกิจที่แฝงอยู่ในธุรกิจทุกประเภท ไม่ใช่แต่เพียงธุรกิจด้านบริการที่เห็นอย่างชัดเจน ยกตัวอย่าง เช่น ธุรกิจน้ำดื่ม ตัวธุรกิจประเภทนี้ต้องอาศัยธุรกิจบริการเข้ามาเป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่แรงงานผลิต จนถึงการขนส่ง ลำพังการผลิตน้ำดื่มอย่างเดียวหากไม่มีธุรกิจบริการไปเกี่ยวข้อง ก็ไม่อาจที่จะทำการขายสินค้าได้เนื่องจากไม่มีการขนส่งซึ่งเป็นภาคบริการเข้ามาเป็นเครื่องมือในการนำสินค้าไปสู่มือผู้บริโภค เป็นต้น โดยลักษณะของธุรกิจบริการ มีดังนี้


  • เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้บริโภคจำนวนมาก
  • ประกอบด้วยแรงงานจำนวนมาก
  • เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญา เช่น การนวดแผนไทย
  • ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของโลก

โดยสามารถสรุปภาพรวมของธุรกิจบริการของไทยในปัจจุบัน ได้ดังนี้


  1. ภาคบริการของไทยกำลังอยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก
  2. สัดส่วนของแรงงานจะเข้าไปสู่ภาคบริการมากขึ้น เนื่องจากแรงงานภาคเกษตรกรรมน้อยลง เช่น คนเลิกทำนาหันมาประกอบอาชีพขับรถรับจ้าง
  3. แนวทางของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDB) กับแนวคิดของภาคบริการเป็นคนละแนวทาง
  4. ภาคบริการคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ของ GDP
  5. ประเทศไทยได้เปรียบดุลการค้าในธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นธุรกิจบริการที่สำคัญประเภทหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การเปิด AEC จะส่งผลให้เกิดคู่แข่งทางธุรกิจด้านการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการเปิด AEC จะเกิดความเชื่อมโยงในหลายมิติ ทั้งการค้า การคมนาคม ซึ่งแต่ละประเทศสมาชิกมีจุดขายในเรื่องของธุรกิจท่องเที่ยวเช่นเดียวกับประเทศไทย เท่ากับว่าจะเกิดทั้งคู่แข่งและพันธมิตรในตลาดการท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน ก่อให้เกิดความต้องการแรงงานด้านต่างๆ มากขึ้น ซึ่งแรงงานจำเป็นต้องมีการพัฒนาทักษะแรงงานด้านต่างๆ เพื่อให้ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น เพิ่มทักษะด้านภาษา ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความต้องการสินค้าบริการมากขึ้น


สำหรับสัดส่วนรายได้ภาคบริการของไทย ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลว่าจะเน้นการพัฒนาในด้านใด ซึ่งหากนโยบายเน้นในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นหลักนั้น จะส่งผลให้รายได้ภาคอุตสาหกรรมโตเร็วกว่าภาคบริการ สัดส่วนรายได้ภาคบริการจะมีแนวโน้มลดลง แต่หากรัฐบาลเน้นนโยบายการพัฒนาภาคบริการ จะส่งผลให้รายได้ภาคบริการโตเร็วกว่าภาคอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้สัดส่วนรายได้ภาคบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้นจะส่งผลให้อัตราค่าจ้างต่อคนของภาคบริการมีสัดส่วนของค่าตอบแทนที่ดีกว่าของภาคอุตสาหกรรม


อย่างไรก็ตามแนวโน้มของธุรกิจค้าส่งค้าปลีกและการขนส่ง รวมถึงธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคม (telecommunication) ของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ธุรกิจบริการในทศวรรษหน้าที่มีความเสี่ยงต่อการอยู่รอด ได้แก่ ธุรกิจที่จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี หรือบริการที่ใช้แรงงานจำนวนมากและไม่เน้นทักษะมากนัก ความท้าทายสำหรับธุรกิจบริการในทศวรรษหน้าดังกล่าว คือ การปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์ของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยการให้บริการที่ครบวงจร หรือการขายแนวคิดที่แปลกใหม่ ภายใต้ แนวคิด Best, Good และ Different


ดาวน์โหลดเอกสาร (pdf ขนาด 1662.99 KB)