OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

"ส่องอนาคตธุรกิจ Aged Society"

10905
"ส่องอนาคตธุรกิจ Aged Society"

ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมของผู้สูงวัยตั้งแต่ปี 2548 โดยอัตราของผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นทุกปี แหละนี่เอง คือ จุดที่จะทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้สูงอายุ


คุณสุวรรณชัย หรือ คุณเสือ เล่าถึงประสบการณ์เมื่อครั้งที่ไปเรียนที่ญี่ปุ่นว่าได้เห็นสิ่งที่แปลกแตกต่างไปจากประเทศไทยตั้งแต่ความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองระเบียบวินัยและวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากการเป็นคนช่างสังเกตและการสังเกตนี่เองที่จะนำไปสู่ความคิดใหม่ๆทักษะในการสังเกตเรื่องราวรอบๆตัว และการตั้งคำถามในสิ่งที่ได้พบเห็น เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลง การสร้างสรรค์แนวคิด เพื่อมาปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเดิมให้สามารถอยู่รอด ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเดิมหรือนำมาซึ่งความคิดริเริ่มในการสร้างธุรกิจใหม่ให้รองรับกับความเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วงชิงโอกาสและความสำเร็จของธุรกิจ เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ต่อให้เราอยู่นิ่งการ เปลี่ยนแปลงก็ยังคงเกิดขึ้น ดังนั้นเราจึงต้องมีการติดตามการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา


การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เทคโนโลยีและบริบททางสังคมนำมาซึ่งเทรนด์ใหม่ๆซึ่งเทรนด์เหล่านี้จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าเราจะสนใจหรือไม่ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยสรุป เทรนด์ที่จะเกิดขึ้นใน ปี ค.ศ.2020 (Future Foresight 2020: Unveil SMEs in Mega Trends) มีแนวโน้มสำคัญ 6 ประการ ได้แก่


  1. ชีวิตในโลกแห่งดิจิตอล (Digital Lifestyle)

    ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในยุคโลกไร้พรมแดน ด้วยความแพร่หลายของอินเตอร์เน็ต ก่อให้เกิดสังคมออนไลน์ที่แทรกซึมเข้าสู่วิถีชีวิตของคนทั่วโลก ทั้งนี้ เทคโนโลยีทางด้านออนไลน์เข้ามามีบทบาทเกี่ยวพันกับวิถีการใช้ชีวิตในแต่ละวันทำให้ปัจจุบันกลายเป็นสังคมก้มหน้า ในขณะที่ ผู้ประกอบการก็สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่าง ฉับไวและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการขยายตลาดของ “สมาร์ทโฟน” และ “แท็บเล็ต” ให้มีการสามารถใช้งานทดแทนคอมพิวเตอร์ โดยมีการพัฒนารูปแบบให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้

  2. เศรษฐกิจสีเขียว (Greening Economy)

    ความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ เริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพ ผู้คนและสังคมจึงหันมาสนใจในเรื่องของการอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานในอนาคต

  3. ระบบขนส่งความเร็วสูงและโลจิสติกส์ (Hi-Speed & Coverage Logistics)

    ความต้องการการเชื่อมโยงอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองผู้บริโภคเพื่อให้สินค้าสามารถถึงมือผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว

  4. พลังผู้หญิงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Sheconomy )

    ปัจจุบัน ผู้หญิงมีความสำคัญในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น สังคมไทยมีผู้หญิงเก่งมากขึ้น มีผู้หญิงเป็นผู้บริหารระดับสูงจำนวนมาก เหล่านี้หากเราวิเคราะห์ให้ได้ว่าผู้หญิงกลุ่มนี้ มีความชอบและไม่ชอบอะไร ก็สามารถเชื่อมโยงกับโอกาสทางธุรกิจยังมีช่องทางธุรกิจอยู่อีกมาก

  5. แนวโน้มการใช้ชีวิตแบบวิถีคนเมือง (Urbanization)

    แนวโน้มการใช้ชีวิตแบบเมืองเพิ่มขึ้นนำไปสู่การขยายตัวของความเป็นเมืองใหญ่ทั้งในหัวเมืองและท้องถิ่นต่างๆ โดยรูปแบบการใช้ชีวิตแบบวิถีคนเมืองนี้ส่วนใหญ่เน้นการอุปโภคบริโภคที่มีลักษณะเฉพาะ

  6. การเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aging Society)

    การเพิ่มจำนวนของผู้สูงอายุ ทำให้เกิดสังคมของผู้สูงอายุ ความต้องการรักษาความสดชื่นแข็งแรง รักษาสุขภาพ การอยู่ดีกินดี เหล่านี้คือคำสำคัญที่นำมาสู่ที่มาของการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคมผู้สูงอายุ ที่ควรจับตามอง เช่น เรื่องของอาหาร ที่ต้องผลิตให้ตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุที่ต้องการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง การใช้รูปแบบของผลิตภัณฑ์ ภาพถ่ายที่เน้นความสวยงาม จะดีกว่าการใช้คำว่า “อาหารเพื่อผู้สูงอายุ” เพราะไม่มีใครต้องการเป็นผู้สูงอายุ หรือการใช้คำว่า “อาหารเพื่อสุขภาพ” เพราะผู้บริโภคมักมีความเชื่อว่า อาหารเพื่อสุขภาพมักจะไม่อร่อย โดยธุรกิจอาหารเหล่านี้ไม่ใช่สินค้าสำหรับผู้สูงอายุเพียงกลุ่มเดียว แต่ยังมีกลุ่มของผู้รักสุขภาพอยู่ด้วย จึงทำให้เกิดธุรกิจ “อาหารเพื่อความห่วงใย (care food)“ เกิดขึ้น


ในกลุ่มอาหารเหล่านี้จะคำนึงถึงความสะดวกในการบริโภคของผู้สูงอายุ เช่น ความสามารถในการบดเคี้ยวของผู้สูงอายุ ที่สามารถบดเคี้ยวได้ง่าย ไม่แข็ง กรอบแต่เคี้ยวได้ กัดได้ด้วยเหงือก บดได้ด้วยลิ้น และกลืนได้เลย เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่จำเป็นต้องนำมาเป็นรายละเอียดในการประกอบธุรกิจสำหรับผู้สูงอายุ และเรื่องของการใส่ใจดูแลผู้สูงอายุ


สำหรับห้างสรรพสินค้าหรือสถานที่จับจ่ายใช้สอยสำหรับผู้สูงอายุ คุณเสือ ยกตัวอย่าง ห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ห้างหนึ่งที่มีคู่แข่งเป็นห้างสรพสินค้าที่ทันสมัย และต้องปรับตัวเองเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ เริ่มจากการที่ผู้บริหารซึ่งเป็นทายาททางธุรกิจสังเกตเห็นว่า ลูกค้าของตนมักเป็นผู้สูงอายุที่คุ้นเคยกับการเดินซื้อของในห้างของตนเอง จึงปรับตัวเองให้กลายเป็นห้างสำหรับผู้สูงอายุ ที่มีสินค้า และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน โดยอาศัยการสังเกต การบันทึกและวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย จากการสังเกตพบว่า ลูกค้าเป็นผู้สูงอายุที่มักจะมาเป็นคู่ หรือมากับลูกหลาน จึงทำการปรับทางเดินให้กว้างขึ้นเพื่อให้สามารถเดินได้สะดวก และจัดเก้าอี้สำหรับนั่งพักไว้เป็นระยะ จัดวางสินค้าให้หยิบง่าย ไม่สูงจนเกินไป ในกรณีผู้สูงอายุมาคนเดียวจะจัดเจ้าหน้าที่ไว้หนึ่งคนไว้คอยดูแลช่วยเหลือแนะนำสินค้า และช่วยถือของให้ มีการปรับขนาดสินค้าให้มีขนาดเล็กลง น้ำหนักไม่มากนัก เนื่องจากผู้สูงอายุมักจะซื้อสินค้าที่มีจำนวนไม่มาก พอเพียงแก่การบริโภคในแต่ละครั้ง แต่เพื่อให้มียอดซื้อจำนวนมาก จึงมีบริการจัดส่งให้ถึงบ้านสำหรับผู้เป็นสมาชิกที่มาจับจ่ายเป็นประจำ ซึ่งกระบวนการคิดเหล่านี้เกิดจากการสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และนำมาหาวิธีการที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ


ในการดำเนินธุรกิจอย่ากังวลเรื่องรูปแบบและทำซ้ำ จากการที่ต้องดูและธุรกิจ SME ที่มีขนาดแตกต่างกัน ตั้งแต่รายย่อย จนถึงรายใหญ่ทำให้พบว่า แต่ละรายมีความแตกต่างกันออกไป ตามศักยภาพของธุรกิจนั้นๆ ซึ่งได้แก่จำนวนของเงินทุน ซึ่งเงินไม่ใช่ปัญหาในการดำเนินธุรกิจ ให้เรียนรู้และพัฒนาไปเรื่อยๆ สำหรับการเลียนแบบนั้น เลียนแบบได้ แต่อย่าลอกแบบ โดยเลียนแบบความคิดและนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจของตนเอง ทำให้เกิดความโดดเด่นขึ้นมา ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากความแตกต่างของธุรกิจที่ตนเองมีอยู่


ในฐานะเจ้าของธุรกิจจะต้องใช้การสังเกตมาตั้งคำถาม เพื่อให้ได้คำตอบว่า ผู้บริโภคสินค้าหรือบริการของเราต้องการอะไร และตอบโจทย์ให้ได้เพื่อนำไปผลิตหรือปรับปรุงสินค้าและบริการให้ตอบสนองกลุ่มเป้าหมายให้ได้ เป็นการคิดและออกแบบจากสิ่งที่เราเห็น การดำเนินธุรกิจจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน และมุ่งไปสู่เป้าหมายนั้นให้ได้


คุณเสือได้นำวีดีโอที่แสดงให้เห็นถึงรูปแบบธุรกิจสำหรับผู้สูงอายุอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การดูแลผู้สูงอายุ โดยธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่มีอยู่ในประเทศญี่ปุ่น เป็นการนำผู้สูงอายุจากบ้านมายังศูนย์ดูแล ที่มีบุคลากร และสิ่งอำนวยความสะดวก มีกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ จัดการเรื่องอาหารการกิน ที่พักผ่อน ในเวลากลางวัน และส่งกลับบ้านในตอนเย็น ซึ่งหากสังเกตและวิเคราะห์จะพบว่า ในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ละคนจะมีความต้องการที่แตกต่างกันออกไป รายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละคน สามารถที่จะนำมาเป็นโจทย์ในการออกแบบ สินค้า บริการ และกิจกรรม เพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายที่มีความแตกต่างกัน เพื่อสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้


โดยกลุ่มของผู้สูงอายุจะมีตั้งแต่ผู้ที่ช่วยเหลือตนเองได้ ต้องมีผู้ช่วยเหลือ และช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ซึ่งต้องอาศัยการดูแลที่แตกต่างกันไป และมีผลต่อการออกแบบสินค้าและบริการ แต่ที่อยู่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ การที่ผู้สูงอายุต้องการมีใครที่จะคอยดูแลเอาใจใส่ ซึ่งต่างจากในอดีต การนำผู้สูงอายุไปอยู่ที่สถานรับเลี้ยง เป็นการทอดทิ้ง แต่ปัจจุบัน สถานที่รับเลี้ยงจะเป็นสถานที่ที่ตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ ที่ต้องการคนดูแลเอาใจใส่ ปัจจุบันยังมีธุรกิจอีกหลายอย่างที่รอให้ผู้ประกอบการเข้ามาดำเนินธุรกิจในกลุ่มผู้สูงอายุ หากคิดว่าการดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุอย่างไร ให้ท่านเหล่านั้นมีความสุข ก็จะสามารถต่อยอดในการดำเนินธุรกิจได้อีกมามาก เพราะยังมีรูปแบบธุรกิจอีกมากมายที่จะตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุรออยู่


ดาวน์โหลดเอกสาร (pdf ขนาด 1714.54 KB)