"ส่องอนาคตธุรกิจสีเขียว (A Future Glance at Green-is-the-New-Black)"
OKMD Fast Forward talk ครั้งที่ 7 คิดให้ไกลไปให้เร็ว Green Means Business ธุรกิจสีเขียวครองโลก
ทอล์คพิเศษ เรื่อง "ส่องอนาคตธุรกิจสีเขียว (A Future Glance at Green-is-the-New-Black)" กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจอย่างไร โดย ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจด้านการเงิน และนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ในทางการเมือง ดร.ณรงค์ชัย เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเป็นสมาชิกวุฒิสภาต่อมาในปี พ.ศ. 2549 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และในปี พ.ศ. 2557 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นครั้งที่สอง อดีตประธานกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และยังเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดจนมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศไทย
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวัดนวลนรดิศ ก่อนสอบเข้าศึกษาต่อในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในปีนั้นได้รับทุนโคลัมโบไปศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ จบปริญญาตรี (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ออสเตรเลีย จบระดับปริญญาโท และปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
บทสรุปจากทอล์คพิเศษของ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี มีดังนี้
การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติมีผลต่อการใช้พลังงานไฟฟ้าโดยปริมาณการใช้ไฟฟ้ามีการเพิ่มขึ้นสูงสุดที่สุดในสถิติข้อมูลการใช้ไฟฟ้าในประเทศ อันเนื่องมาจากอากศที่ร้อนขึ้น ซึ่งส่งผลต่ออัตราการใช้ไฟฟ้าของคนไทย โดยที่ผลกระทบที่เกิดจากธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้
ปัจจุบันสังคมมีความกังวลเรื่องสภาพแวดล้อมมากขึ้น และพยายามที่จะหาวิธีการที่จะรักษาสภาพแวดล้อมไม่ให้เสียไป ซึ่งเป็นเหตุผลในการที่จะนำมาสร้างโอกาสทางธุรกิจ ท่ามกลางวิกฤติของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยการรักษาความ Green หรือคงสภาพแวดล้อมสีเขียวหรือสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติในอนาคตให้ดีพอหรือเท่ากับในอดีต เพื่อคนรุ่นหลัง ด้วยการรักษาสมดุลทางธรรมชาติ
แนวคิดหลัก Green Concept ก็คือ 3R ได้แก่ Reduce, Reuse และ Recycle
สาเหตุของการเกิดการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของประชากร เมื่อจำนวนประชากรมากขึ้น ความต้องการใช้สิ่งของต่าง ๆ ก็มากขึ้นตามมา ซึ่งจำนวนประชากรจะมีความสัมพันธ์กับความต้องการใช้ทรัพยากร โดยตรง เมื่อประชากรมากความต้องการก็มากขึ้น เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ( Industrail Revolution) โดยหันมาใช้เครื่องจักรกล เพื่อเพิ่มผลผลิต ซึ่งเครื่องจักรเหล่านี้จำเป็นต้องใช้พลังงานจากธรรมชาติและพลังงานไฟฟ้า
จากความเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม ทำให้มนุษย์ใช้ทรัพยากรมากขึ้นและอย่างรวดเร็ว การขุดค้นหาและนำทรัพยากรมาใช้มากขึ้น โดยไม่ได้ระมัดระวังถึงผลเสียที่จะตามมา และมักจะได้กระทำการอย่างไม่สนใจต่อการหมดสิ้นหรือเสื่อมสภาพของทรัพยากร ทำให้เกิดเสียสมดุลธรรมชาติ เกิดมลพิษทางสภาวะแวดล้อม
เพื่อความร่วมมือกันในการรักษาสภาพแวดล้อมจึงเกิด พิธีสารเกียวโต คือ พิธีสารที่จัดตั้งขึ้นภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เพื่อเพิ่มความเข้มข้นของพันธกรณี โดยจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศอุตสาหกรรม หรือที่เรียกว่าประเทศในกลุ่มภาคผนวกที่ 1 (Annex ICountries) หมายถึง กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Country) ในกลุ่ม Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) และประเทศในกลุ่มยุโรปกลาง ยุโรปตะวันออก และ ประเทศรัสเซีย ที่เรียกว่า “กลุ่มประเทศกำลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ เป็นระบบตลาดเสรี” หรือ EIT (Economic in Transition) ซึ่งมีพันธกรณี ในการจำกัด และการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในในระดับที่ปลอดภัย เพื่อให้ระบบนิเวศน์ธรรมชาติสามารถปรับตัวได้ และเพื่อเป็นการประกันว่า จะไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
มีความพยายามในการหันมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งพลังงานทดแทน หมายถึง พลังงานที่นำมาใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิง และพลังงานทดแทนอื่นๆสามารถแบ่งตามแหล่งที่ได้มากเป็น 2 ประเภท คือ
พลังงานทดแทนจากแหล่งที่ใช้แล้วหมดไป อาจเรียกว่า พลังงานสิ้นเปลือง ได้แก่ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ นิวเคลียร์ หินน้ำมัน และทรายน้ำมัน เป็นต้น และพลังงานทดแทนอีกประเภทหนึ่ง เป็นแหล่งพลังงานที่ใช้แล้วสามารถหมุนเวียนมาใช้ได้อีก เรียกว่า พลังงานหมุนเวียน ได้แก่ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์
โดยที่การเลือกใช้พลังงานทดแทนจะมีประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณา คือ การที่พลังงานทดแทนบางประเภท เช่น ถ่านหิน ให้พลังงานสูง ราคาถูก แต่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมสูง ในขณะที่พลังงานทดแทนประเภทอื่น มีราคาสูง ซึ่งมีผลต่อต้นทุนการผลิต และราคาของพลังงานต่อหน่วยเพื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภค ราคาของ พลังงานทดแทนและต้นทุนการผลิตเพื่อผลกำไร จึงเป็นประเด็นสำคัญในการนำมาคิด ในเรื่องของการใช้พลังงานทดแทน
สำหรับบทบาทของภาครัฐในเรื่องของนโยบายพลังงาน ได้แก่ ปฏิรูปโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับต้นทุนและให้มีภาระภาษีที่เหมาะสมระหว่างน้ำมันต่างชนิดและผู้ใช้ต่างประเภท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศและให้ผู้บริโภคระมัดระวังที่จะไม่ใช้อย่างฟุ่มเฟือย รวมถึงดำเนินการให้มีการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบรอบใหม่ทั้งในทะเลและบนบก และดำเนินการให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นโดยหน่วยงานของรัฐและเอกชน ทั้งจากการใช้ฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิง และจากพลังงานทดแทนทุกชนิด ด้วยวิธีการที่เปิดเผย โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นมิตรต่อสภาวะแวดล้อม พร้อมกับร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาพลังงาน ส่งเสริมการผลิต การใช้ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก โดย ตั้ง เป้าหมาย ให้สามารถทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างน้อยร้อยละ 25 ภายใน 10 ปี ด้วยแนวคิด ห่วงใยโลก ห่วงใยคน แต่ในเชิงธุรกิจก็ยังต้องมีกำไรจากการลงทุน
ในการลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้า รัฐได้ส่งเสริมการรักษาสภาพแวดล้อม ด้วยการให้รางวัลแกผู้ขายไฟฟ้าให้ แก่ภาครัฐที่มีการผลิตที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
สำหรับการใช้พลังงานทดแทน หรือการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม ที่ใช้กันในปัจจุบันมีดังนี้
- Solar Energy - พลังงานแสงอาทิตย์
- Wind Energy -พลังงานลม
- Waste - พลังงานจากขยะ
- Biogas - ก๊าซชีวภาพ
- Biofuel - เชื้อเพลิงชีวภาพ
- Light Bulbs - การใช้หลอด LED ซึ่งเป็นหลอดไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน
- การผลิตรถยนต์ที่ใช้กระแสไฟฟ้า เพื่อลดการใช้น้ำมัน
- การใช้พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) หรือพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ (Biodegradable plastic) หมายถึงพลาสติกที่ผลิตขึ้นจากวัสดุธรรมชาติส่วนใหญ่เป็นพืช สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ (biodegradable) ช่วยลดปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อม
การใช้พลังงานทดแทนในการรักษาสิ่งแวดล้อมมีปัจจัยในเรื่องของราคาของต้นทุน ของพลังงาน และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าเนื่องจากพลังงานหรือวัสดุที่ใช้ในการผลิตที่รักษาสิ่งแวดล้อม จะมีราคาสูง ซึ่งมีผลต่อราคาสินค้า ซึ่งการทำธุรกิจย่อมมีผลกำไรเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกใช้พลังงานทดแทน เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ราคาของก๊าซธรรมชาติ มีความผันผวนขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นกระแสของ Green อาจผันผวนขึ้นลงไปตามราคาของก๊าซธรรมชาติ เมื่อราคาลดลงก็จะมีการนำมาใช้มากขึ้น ซึ่งต้องมีการเตรียมตัวรับมือกับการขึ้นลงของกระแส Green
ดาวน์โหลดเอกสาร (pdf ขนาด 1749.56 KB)