OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

ระดมความคิดเทรนด์การออกแบบของโลก

2544

ด้วยความที่เรื่องของเทรนด์ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ต่อการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทาง OKMD ในฐานะหน่วยงานที่สนับสนุนด้านการบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ จึงได้มองเห็นถึงความจำเป็นในการเผยแพร่ความรู้ในเรื่องนี้ และได้จัดให้มีการประชุมระดมความคิดเทรนด์การออกแบบของโลก หรือ OKMD Global Trend Symposium: The Design Crossover Trends Implication toward 2014 ขึ้นเพื่อให้เกิดการเผยแพร่และขยายข้อมูล เพื่อนำไปสู่การปรับใช้เทรนด์ในแต่ละอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับทิศทางของโลกต่อไป


OKMD Global Trend Symposium: The Design Crossover Trends Implication toward 2014

ทั้งนี้ การประชุมระดมความคิดเทรนด์การออกแบบของโลกครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสี ค้าปลีก สิ่งทอ แฟชั่น เครื่องสำอางและสุขภาพ จากประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และไทย จำนวน 7 คน มากล่าวถึงการประยุกต์ใช้ศาสตร์และศิลป์ในเทรนด์วัสดุ ไลฟ์สไตล์ วิถีชีวิต แฟชั่น สุขภาพและความงาม โดยผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นได้แก่ Mrs.Ornella Bignami ที่ปรึกษาด้านงานสร้างสรรค์และผู้ก่อตั้งบริษัท Elementi Moda อิตาลี/ประธานและผู้ก่อตั้งองค์กร Colorist อิตาลี และประธานองค์กรนานาชาติ INTERCOLOR, รศ.ปิยานันต์ ประสารราชกิจ อาจารย์พิเศษ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและที่ปรึกษาฝ่ายออกแบบสี บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด, คุณประดิษฐ์ รัตนวิจิตราศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักโครงการและจัดการความรู้ สบร., คุณจารุพัชร อาชวะสมิต อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, Mr.Shiaki Kuriyama ประธานบริษัท Preal จำกัด สนับสนุนโดย Japan Fashion Association (JFA/AFF-Japna), Mr.Olivier Guillemin ผู้อำนวยการฝ่ายครีเอทีฟและผู้ก่อตั้งบริษัท [o,o] จำกัด ประธานองค์กรสี Comite Francais de la Couleur ฝรั่งเศส และเลขาธิการองค์กรนานาชาติ INTERCOLOR และ Ms.Sandrine Williamson ผู้อำนวยการส่วนจัดซื้อ Accessories ห้างสรรพสินค้า Galeries Lafayette ประเทศฝรั่งเศส


โดยแม้ว่าจะเป็นการจัดงานเป็นครั้งแรกแต่ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีจากบุคลากรในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่เข้าร่วมงานเป็นจำนวนเกือบ 500 ราย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากแฟชั่น สิ่งทอและเครื่องประกอบการแต่งกาย ที่ให้ความสนใจเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ


เทรนด์อารมณ์การออกแบบพื้นผิว วัสดุ และสิ่งทอในสินค้าไลฟ์สไตล์และตกแต่งปี 2014 Lifestyle & Living Trend Focus on Touch, Surface, Materials and Textiles for 2014


โดย Mrs.Ornella Bignami


ก่อนที่เราจะมองไปถึงเรื่องของเทรนด์อารมณ์ คงจะต้องมาดูกันในเรื่องของวิถีชีวิตที่น่าจะเป็นของคนในปี 2014 กันก่อน จากสภาวการณ์ในปัจจุบัน เรามองเห็นได้ว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคมที่ถาโถมเข้ามากระทบกับชีวิตเรา


Mrs.Ornella Bignami

ในปี 2014 ความเปลี่ยนแปลงนั้นมีแต่จะส่งผลให้เห็นชัดเจนขึ้น ทั้งด้วยความเร่งด่วนในการใช้ชีวิต, เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่นำไปสู่นวัตกรรมใหม่ เช่นในเรื่องของวัสดุ, อิทธิพลของการ show off ในสังคม ที่ผลักดันให้เกิดความแปลกใหม่เพื่อแสดงถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่ช่วยทำให้การเข้าถึงวัฒนธรรมต่างๆ และการเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมเป็นไปได้อย่างง่ายดายขึ้น


ในทางตรงกันข้าม ชีวิตที่เร่งด่วนก็ทำให้คนเราโหยหาความเนิบช้า (Slowdown) ต้องการพื้นที่ที่เป็นส่วนตัวมากขึ้น และในขณะที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ขนบธรรมเนียมดั้งเดิมก็ยังคงมีความสำคัญอยู่ เพราะคนมองว่ามันเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อคุณค่าที่แท้จริงในงานออกแบบ


คนเราหันมาให้ความสนใจต่อคุณค่าอันเป็นเนื้อแท้ของสิ่งต่างๆ มากขึ้นจากวิกฤติการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ทำให้พวกเขาถูกดึงดูดเข้าหาความมินิมัลลิสท์ (minimalism) ที่ขับเน้นถึงความจำเป็นของสิ่งต่างๆ มากขึ้น


ในอีกมุมหนึ่ง ชีวิตก็ขาดสุนทรียะและความงามแบบบทกวีที่จรรโลงใจไม่ได้ (poetic touch) ความอ่อนไหว (sensitivity) ช่วยสร้างให้เกิดความรู้สึกและสัญชาตญาณของมนุษย์ (sense & intuition) ที่จะช่วยให้ชีวิตสามารถก้าวผ่านความยุ่งยากและซับซ้อนในอารมณ์และความละเอียดอ่อนของมนุษย์ไปได้


สุดท้าย สิ่งที่เหนือกว่าเทรนด์ทั้งหมดคือความยั่งยืน (sustainability) ซึ่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาเชิงนวัตกรรม ที่ต้องตระหนักลึกลงไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี (ethic value) ความสมดุลของมนุษย์และการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ดี


องค์ประกอบต่าง ๆ ที่กล่าวมาส่งผลต่อเทรนด์สีและวัสดุของฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อนปี 2014 ดังต่อไปนี้


  1. สิ่งที่สำคัญและบทกวีจรรโลงใจ (essential & poetic) ความตระหนักตามแนวทางของมินิมิลลิสท์มาพร้อมกับแนวทางวัสดุใหม่ๆ เน้นความมั่นคงและชัดเจน ความละเอียดอ่อนกับฟังค์ชั่นเฉพาะเพื่อการใช้งานและตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ เน้นโทนสีและลวดลายที่ให้ความรู้สึกบางเบา นุ่มสบาย โปร่งใส
  2. คุณค่าที่แท้จริง (True Value) เห็นได้จากเค้าโครงอิทธิพลสีจากธรรมชาติและวัฒนธรรมที่สอดผสานความทันสมัยลงไป เป็นการผสมผสานคุณค่าทางขนบประเพณีที่สอดแทรกมุมมองสมัยใหม่ลงไป
  3. ดี-ไซน์ (D-Sign) Anamorphic art ความนิยมในศิลปะการแปลงร่างรูปทรงได้สร้างโอกาสให้แก่ตึกเก่าๆ ในการแปลงเป็นงานศิลป์รูปแบบใหม่ๆ สีช่วยเติมคุณค่าและสร้างสไตล์เฉพาะให้แก่แต่ละอาคาร พลังของสีโทนสวว่างเสริมความน่าสนใจในพื้นที่ที่อยู่อาศัยและแฟชั่น เน้นเฉดสีที่มีความสดเข้ม พร้อมลวดลายเรขาคณิตหลากแบบหลายสี ผ้าต่อลายกราฟิคและลายภาพสะท้อนละลานตาจากกล้องคาเลโดสโคป ความหลากหลายของลายขวาง งานเส้นลายตรงโดยการใช้สีตัดกัน (multicolor stripe) เน้นการใช้ผ้าที่มีความยืดหยุ่นสูงและผ้ายืดเจอร์ซี่ที่เบา ลายตารางและลายข้าวหลามตัดในการจัดเรียงซ้ำๆ ด้วยเทคนิคโมเสคแบบใหม่ งานคอลลาจภาพตัดปะ การผสมงานจากยุค 60-70s ลายกราฟิคขนาดเล็กๆ จากยุค 70s และพื้นผิวแน่นดูตันๆ
  4. ความกำกวม ความสับสน ประสบการณ์เกี่ยวกับภาวะที่ไม่แน่นอนและความคิดเพ้อฝัน การสร้างภาพจินตนาการให้เห็นด้วยเอฟเฟ็กต์ที่เกินคาด นำมาซึ่งเทรนด์สีที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ที่เกินและผิดปกติเช่น สีสันเหลือบแบบสีรุ้ง ประกายทองแห่งเวทมนต์ ลุคแบบเหนือจริง เน้นการใช้วัสดุที่ดูขัดแย้งกัน เล่นลายกราฟิคและเอฟเฟ็กต์เพื่อให้เกิดความมีมิติ

สีในงานสถาปัตยกรรม: ก่อนนี้…ขณะนี้…ต่อจากนี้ Color on Architecture: Then, Now & Next


โดย รศ.ปิยานันต์ ประสารราชกิจ


หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ การใช้สีมีมาเนิ่นนานแล้ว คนยุคโบราณได้ใช้สีที่มีอยู่ในแร่ธาตุหรือวัตถุดิบจากธรรมชาติ แต่งแต้มสีสันให้กับสิ่งรอบตัวของพวกเขา จากฝาผนังถ้ำ สู่อาคารบ้านเรือน จากเดิมที่คนใช้สีตามฟังค์ชั่น ปัจจุบันนี้ เริ่มมีการคำนึงถึงการใช้สีเพื่อให้เกิดผลทางอารมณ์ต่าง ๆ มากขึ้น เช่น การใช้สีสันสดใสมาทำให้บรรยากาศของอาคารที่มืดทึบอย่างอาคารจอดรถดูสว่างไสวขึ้น


รศ.ปิยานันต์ ประสารราชกิจ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าสีจะเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่ออารมณ์ ความรู้สึกของมนุษย์ แต่หลายคนกลับมองว่าสีเป็นเพียงแค่สิ่งที่มาเติมเต็มงานออกแบบสถาปัตยกรรมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทำให้พวกเขามาคิดถึงเรื่องสีเอาในขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว สีควรจะเกิดขึ้นพร้อมกับฟอร์ม ไม่ใช่เกิดขึ้นตามหลัง เพราะการใช้สีนั้นจะต้องคำนึงถึงบริบทแวดล้อมรอบด้านต่าง ๆ ด้วย


ในอนาคตข้างหน้า สีจะไม่ถูกใช้ในฐานะปัจจัยที่มีผลกระทบทางด้านอารมณ์เท่านั้น แต่จะมีการใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเลือกใช้สีด้วย เช่นการใช้แสงและสีทำงานร่วมกันเป็นเลเยอร์ เพื่อสร้างภาพมายาของความเคลื่อนไหว นับเป็นการบูรณาการจากสถาปัตยกรรมสู่วิทยาศาสตร์


แนวคิดเทรนด์สากล มุมมองผู้บริโภค สีและแรงบันดาลใจการออกแบบ ปี 2014 Consumer Insight & Color Inspiration towards 2014


โดย คุณประดิษฐ์ รัตนวิจิตราศิลป์


ปัจจุบันนี้ สังคมผู้บริโภคได้รับอิทธิพลจากสิ่งเร้าต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะ เรื่องของเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ทั้ง โซเชียล เน็ตเวิร์ค, เทคโนโลยี tracking, cloud computing, การสื่อสารข้ามโซนเวลา และวิถีชีวิตคนเมือง ส่งผลให้พฤติกรรมของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปด้วย


คุณประดิษฐ์ รัตนวิจิตราศิลป์

พอมาถึงปี 2014 อาจสรุปแนวโน้มวิถีชีวิตของผู้บริโภคได้หลักๆ 4 แบบด้วยกัน


  1. ความสุขแบบเร่งด่วน ผู้บริโภคต้องการความสุขที่เกิดขึ้นได้เดี๋ยวนั้น ไม่ต้องการรอคอย
  2. การเคลื่อนไหว ภาพเคลื่อนไหวเริ่มเข้ามาแทนที่ภาพนิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ
  3. วัฒนธรรมการมีส่วนร่วม ทุกคนอยากเกิดความรู้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า เห็นได้จากการกด like
  4. ความย้อนแย้ง ความเป็นหนึ่งเดียวของความแตกต่างเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมากขึ้น

จากวิถีชีวิตของผู้บริโภคดังกล่าวนำมาสู่คอนเซ็ปต์สำหรับผลิตภัณฑ์และการบริการด้านการออกแบบในปี 2014 ได้ดังนี้


  1. จัดเองสนุกเอง แม้จะมีทางเลือกสำเร็จรูปให้ แต่เราก็ยังต้องการทำให้มันมีความเป็นแบบเฉพาะของเรา
  2. ร่วมกันเฉพาะกาล มีการรวมกลุ่มกันเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับกลุ่ม เป็นการยกสถานะของตัวเองขึ้นมา
  3. คนเดียว…ไม่เป็นไร วิถีชีวิตที่ต้องการพื้นที่ส่วนตัว การสร้างสภาพแวดล้อมเลียนแบบ บรรยากาศความเป็นอยู่ร่วมกับธรรมชาติ
  4. เล่นจริงจัง เป็นการสร้างงานศิลป์ส่วนตัว ทำในสิ่งที่ตื่นเต้น โดยไม่คำนึงถึงคนรอบข้าง

การใช้ชีวิตทางสังคม สไตล์ และเทรนด์การออกแบบผลิตภัณฑ์ ปี พ.ศ. 2557 The Social Life, Style and Trend for Product Design 2014


โดย คุณจารุพัชร อาชวะสมิต


ในปี 2014 การออกแบบผลิตภัณฑ์จะได้รับอิทธิพลจากหลายปัจจัย ทั้งทางด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจและเทคโนโลยี ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ก่อให้เกิดกระบวนทัศน์ใหม่ในการมองเห็น กล่าวคือผลิตภัณฑ์ไม่ได้จำกัดเฉพาะสิ่งที่เรามองเห็นเท่านั้น แต่มันยังรวมถึงบรรยากาศ ความมีตัวตน บริการ และการประกอบอาชีพในแบบใหม่ๆ ที่มีทางเลือกที่สะดวกขึ้นด้วย


คุณจารุพัชร อาชวะสมิต

โดยทิศทางสำคัญในการออกแบบผลิตภัณฑ์ปี 2014 ได้แก่


  1. การเข้าถึงโดยง่าย ผลิตภัณฑ์หลายๆ อย่างที่เคยมีราคาสูงหรือมีอยู่ในเฉพาะกลุ่มของคนร่ำรวยหรือชนชั้นสูงมีราคาลดลงมาหรือเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เช่นแผ่นดีวีดีที่มีราคาถูกลง หรือคอนเสิร์ตนักร้องต่างประเทศชื่อดังที่จากเดิมแสดงคอนเสิร์ตแต่ที่ต่างประเทศก็เริ่มมีการเข้ามาเปิดคอนเสิร์ตในบ้านเรา
  2. การโยกย้ายถ่ายเท ศูนย์กลางการผลิตมีการเปลี่ยนแปลงไป การผลิตเชิงปริมาณกลายเป็นจุดขายแทนที่คุณภาพ การทำงานมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ไม่อยู่กับที่ ทำให้มีปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อให้การทำงานคล่องตัวมากขึ้น เช่นโน้ตบุ๊คมีขนาดเล็กลง ทำให้พกพาสะดวกขึ้น ในขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ที่ถูกจำกัดบทบาททางวัฒนธรรมจะถูกเปลี่ยนแปลงให้มีความเป็นสากลมากขึ้น
  3. ยักษ์ใหญ่ไล่ยักษ์เล็กในสังคม จากเดิมที่นักข่าวพลเมือง คนดังทางรายการเรียลิตี้หรือผู้ที่ทำรายการของตัวเองออกมาเป็นผู้ที่ทรงอิทธิพลในสังคม นักข่าวอาชีพหรือสถาบันต่างๆ ก็เริ่มหันมาใช้สื่อออนไลน์มาเป็นเครื่องมือในการผูกสัมพันธ์กับแฟนๆ มากขึ้น นอกจากนั้น ระบบ tracking ยังช่วยให้การนำเสนอสินค้าเป็นไปอย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เหมือนกับเป็นเพื่อนสนิทที่เลือกนำเสนอสินค้าที่เราน่าจะถูกใจให้กับเรา

เทรนด์เอชั่นอาเซียน ฤดูกาล Autumn/Winter 2013/14จากมุมมองนักวิเคราะห์เทรนด์ญี่ปุ่น สนับสนุนโดย Japan Fashion Association (JFA/AFF-Japan)


โดย Mr.Shiaki Kuriyama



Asian Fashion Trend for Autumn/Winter 2013/14, Viewpoint from Japanese Trend Forecasters


Mr.Shiaki Kuriyama

เมื่อมองย้อนไปตั้งแต่ปี 1960 เทรนด์แฟชั่นของญี่ปุ่นมีความเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว การเปลี่ยนแปลงเทรนด์จะเกิดขึ้นทุกๆ 5-7 ปี สิ่งที่น่าสังเกตก็คือการที่สภาวะเศรษฐกิจมีผลกระทบต่อทัศนคติและบรรยากาศในการบริโภคอย่างชัดเจน เช่น ในเวลาที่เศรษฐกิจดี สินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยก็จะขายดี แต่ในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำ หรือเกิดภัยพิบัติขึ้น คนญี่ปุ่นก็จะระมัดระวังในเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้แฟชั่นแบบ casual ได้รับความนิยมมากขึ้น


สำหรับแนวโน้มของเทรนด์ในตลาดญี่ปุ่นในช่วงฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาวในปี 2013/2014 ได้แก่


  1. Graphical Retro มีการใช้ลายตาราง และเรขาคณิตที่ดูเรียบง่าย สะอาดตา
  2. Pure Woman ถ่ายทอดความเป็นผู้หญิงที่อ่อนหวาน บริสุทธิ์ อาจใช้ผ้าโปร่งแสง เน้นความมินิมอล
  3. Mix Elegance หรูหรา มีระดับ แต่ก็มีความแคชวล มีทั้งความเป็นผู้ชายและผู้หญิง
  4. Fine Sport ได้รับแรงบันดาลใจจากกีฬาโอลิมปิค ถ่ายทอดความแข็งแรง ความอยู่ดีมีสุขและความทรงพลัง
  5. Relax Journey ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย มีการเพิ่มลวดลายพรรณไม้ กราฟิค ทำให้เกิดรายละเอียดที่วิจิตร

เทรนด์สีและเทรนด์ความงามในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางแห่งอนาคต 2014 & Beyond: Future Color and Beauty Trends in Cosmetics


โดย Mr.Olivier Guillemin



เครื่องสำอางมีความสำคัญในการแต่งแต้มความงามให้กับผู้หญิงมานับตั้งแต่ยุคโบราณ และทัศนคติที่มีต่อความงามก็มีความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามยุคสมัย เช่น บางยุค นิยมความเรียบง่าย เรียบร้อย หรือบางยุค นิยมความงามที่เย้ายวน


Mr.Olivier Guillemin

ทั้งนี้ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจมากจากปัจจัยต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น เศรษฐกิจและสังคม นวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีในเชิงสี พื้นผิวและบรรจุภัณฑ์ กิจกรรมทางวัฒนธรรม


เช่น ภาพยนตร์ ดนตรี การแสดงผลงานนิทรรศการ ฯลฯ โลกแห่งสื่อ ผู้คนในแวดวงวงการบันเทิงต่างๆ การโฆษณา ไปจนถึงช่องทางการขายและระบบการกระจายใหม่ๆ


สำหรับแนวโน้มความงามในปี 2014 นั้นเป็นเรื่องของความปรารถนาใน 6 รูปแบบได้แก่


  • Desire for perfection เน้นสีนู้ดและนีโอคลาสสิค
  • Desire for Neutrality สีโปร่งใสเบาบาง
  • Desire for Freshness เป็นสีพาสเทลสดใส ให้ความรู้สึกสนุกสนาน ชัดเจน
  • Desire for Mystery ใช้ความมืด แรเงา เฉดสีต่างๆ ที่สลับซับซ้อน
  • Desire for Sublimated Nature สีเขียวตามธรรมชาติในอุดมคติ
  • Desire to Play มีความแตกต่างของสี แสดงถึงความกล้าในการใช้และเล่นสีสัน

การปรับใช้เทรนด์ในบรรยากาศค้าปลีกของฝรั่งเศส Trend Implication in French Retail Environment


โดย Ms.Sandrine Williamson



ห้างสรรพสินค้ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในโลกของแฟชั่น เพราะมันเป็นสถานที่ที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงแฟชั่นได้อย่างง่ายดายขึ้นและมีสินค้าและบริการหลากหลายให้ผู้บริโภคได้ตัดสินใจเลือกตามความพึงพอใจ


Ms.Sandrine Williamson

ปัจจุบันนี้ ห้างสรรพสินค้าได้ใช้ยุทธการใหม่ๆ เพื่อดึงดูดและสร้างความประหลาดใจให้กับลูกค้า เพราะในการเข้าเลือกชมสินค้า ลูกค้าไม่ได้สนใจแต่สินค้าเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขายังสนใจบรรยากาศและสิ่งกระตุ้นเร้าทางสายตาอื่นๆ ด้วย เป็นโอกาสให้ห้างสรรพสินค้าได้ตอกย้ำถึงเอกลักษณ์ความเป็นแบรนด์ของตัวเอง หรือ DNA ของพวกเขาให้ผู้บริโภคได้ตระหนักถึงด้วย


สำหรับ Galeries Lafayette ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าชื่อดังที่สุดแห่งหนึ่งของฝรั่งเศส พวกเขาได้เลือกที่จะนำเสนอบุคลิกของแบรนด์ออกมาด้วยการตกแต่งภายในเพื่อสร้างความรู้สึกที่ว่าห้างสรรพสินค้าแห่งนี้เป็นเมืองหลวงแห่งโลกแฟชั่น เป็นผู้นำเทรนด์ และมีการดึงดูดผู้บริโภคด้วยการจัดงานอีเวนต์ต่างๆ ในรูปแบบที่ตอกย้ำถึงบุคลิกของห้างสรรพสินค้าแห่งนี้นั้นคือความหรูหรา มีระดับ


การสร้างบุคลิกของแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการตลาดแบบ 360 องศา เพราะมันเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างความโดดเด่น และแตกต่างจากคู่แข่งให้กับแบรนด์


สำหรับเทรนด์ใหม่ในบรรยากาศค้าปลีกของฝรั่งเศสจะแบ่งคอนเซ็ปต์ต่างๆ ได้ดังต่อไปนี้


  • ให้ความสำคัญกับคอนเซ็ปต์ของร้านค้า จะเน้นถึง DNA ของแบรนด์และประสบการณ์ที่ได้รับในการเดินเข้าร้าน
  • ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ เน้นถึงไลน์ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย
  • แสดงถึงฝีมือที่ชำนาญของแบรนด์ เน้นถึงความเป็นช่างฝีมือ และความประณีตและความใส่ใจในชิ้นงาน
  • วิถีชีวิต ให้ความสำคัญกับศิลปะ แฟชั่น เวลา วัฒนธรรมและการออกแบบ
  • ร้านค้าป็อปอัพ เน้นความสะดวกสบาย เข้าถึงง่าย


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

มันส์สมอง | Let’s play with knowledge
2707
เล่นให้โดน : ถอดรหัสกลเม็ดสู่ความสำเร็จสร้างคอนเทนต์ให้โดนใจคนไทย
2590
เล่นเป็นเรียน : เรียนให้ต่าง เล่นให้ได้ความรู้
5470
เล่นจนได้ดี : กล้าเดินตามฝัน ลงมือทำในสิ่งที่คนอื่นได้แต่คิด
3688
เล่น ลอง เรียน : ถอดรหัส "ห้องเรียนแห่งศตวรรษที่ 21"
4869
“เล่น เห็น โลก: ท้าทายอนาคต สร้างโอกาสใหม่ให้ประเทศ”
3249
มันส์สมอง | พื้นที่แห่งความรู้ในศตวรรษที่ 21
2813
สร้างโอกาสใหม่จากวัฒนธรรมของโลกที่ไร้ขอบเขต โดย เชฟเอียน พงษ์ธวัช เฉลิมกิตติชัย
4706
รู้ทันโลกเทคโนโลยี พลิกธุรกิจรับโอกาสใหม่ โดย ไผท ผดุงถิ่น
5935
ทักษะการสื่อสารและการตลาดที่จะพาเราไปตลาดโลก โดย สุรชัย พุฒิกุลางกูร
3282