กิจกรรมขยายผลความรู้กินได้ "(อี)สาน จัก ถัก ทอ"
โครงการขยายผลศูนย์ความรู้กินได้ ภายใต้สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และศูนย์ความรู้กินได้ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการขยายผลความรู้กินได้ โดยมีกิจกรรมสำคัญคือนิทรรศการหมุนเวียน "(อี)สาน จัก ถัก ทอ"
นำเสนองานจักสานในอดีตที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวไทยอีสาน ปัจจัยที่มีอิทธิพลในการออกแบบเครื่องจักสานอีสาน ตัวอย่างการประยุกต์งานจักสานเพื่อตอบสนองแนวคิดด้านประโยชน์ใช้สอย (function) ความสวยงาม (design) และความต้องการของตลาด (market demand) และผลิตภัณฑ์จักสานร่วมสมัยเพื่อต่อยอดให้เข้ากับวิถีสังคมพร้อมแนวคิดเบื้องหลังการออกแบบ พร้อมกับจัดเสวนา หัวข้อ "ไอเดียเพิ่มคุณค่าเครื่องจักสาน" เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนาเครื่องจักสาน และนำเสนอแนวแนวคิดในการพัฒนาและสืบสานงานฝีมือจากไม้ไผ่ ในวันที่ 10 มีนาคม 2557 ณ ศูนย์ความรู้กินได้ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีเนื้อหาการเสวนาโดยสรุปดังนี้
ผู้ร่วมเสวนา
- นางมะลิวัลย์ สิงห์ผง ผู้แทนกลุ่มผู้ผลิตงานจักสาน
- นางสุพรรณ ศรีประสาน ผู้แทนกลุ่มผู้ผลิตงานจักสาน
- นางทองใบ สมจิตร ผู้แทนกลุ่มผู้ผลิตงานจักสาน
- นายลำแพน ภาโว ผู้แทนกลุ่มผู้ผลิตงานจักสาน
- นางอำนวยพร มาลัยสันต์ ผู้แทนกลุ่มผู้ผลิตงานฝีมือจากใบตอง
- นางทองใบ กสิภูมิ ผู้แทนกลุ่มผู้ผลิตงานจักสาน
- นางสาวพิมพ์ผกา ผ่านพินิตย์ ผู้แทนกลุ่มผู้ผลิตงานถักจากเชือกร่ม
- ผศ. ดร. ศักดิ์ชาย สิกขา หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะศิลปะประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ผู้ดำเนินการเสวนา)
การผลิตหัตถกรรมไม้ไผ่ของประเทศในอาเซียนเพื่อเป็นสินค้าสำหรับนักท่องเที่ยว
จากตัวอย่างของชิ้นงานสามารถสรุปแนวคิดในการออกแบบและพัฒนาสินค้าได้ดังนี้
-
พม่า ใช้แนวคิด "หัตถอุตสาหกรรม" ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิตให้มีปริมาณที่ตอบสนองความต้องการของตลาดได้ แต่ฝีมือไม่ประณีตและจำหน่ายในราคาถูก
- เวียดนาม ใช้งานจักสานไม้ไผ่ในรูปแบบดั้งเดิมเดิมมาตกแต่งเพิ่มเติมเพื่อจำหน่ายเป็นงานศิลปะ และใช้แนวคิด knock down ในการออกแบบเพื่อความสะดวกในการจัดเก็บและขนส่ง
- อินโดนีเซีย ใช้อัตลักษณ์ของท้องถิ่น และความปราณีตของฝีมือแรงงานเพื่อสร้างชิ้นงานเป็นของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว และของสะสมสำหรับนักสะสมงานฝีมือ
- ลาว โดยเฉพาะลาวเทินชิ้นงานจะมีจุดเด่นคือมีสีเข้มหรือสีดำที่เกิดจากการรมควันเพื่อไล่มอด และแมลงที่อยู่ในไม้ไผ่

สถานการณ์งานไม้ไผ่ และงานจักสานในจังหวัดอุบลราชธานี
-
อำเภอน้ำยืน ชาวบ้านในพื้นที่รวมกลุ่มสานกล่องข้าว และหวด แต่มีรายได้รายละไม่เกิน 1,000 บาท ดำเนินการอยู่ประมาณ 1 เดือนจึงยกเลิกการรวมกลุ่ม และปัจจุบันหัวหน้ากลุ่มไปเป็นครูสอนที่แขวงสะหวันเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
-
อำเภอบุณฑริก ชาวบ้านในพื้นที่สานหวดเป็นหลักอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 10-12 ใบ/คน/วัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เมื่อสานเสร็จจะขายต่อให้กลุ่มเพื่อส่งต่อพ่อค้าคนกลางสินค้าอื่นที่ผลิตคือโคมไฟแต่จะทำเมื่อมีคำสั่งซื้อเท่านั้น ปัจจุบันต้องซื้อวัตถุดิบคือไผ่จากพื้นที่อื่น เนื่องจากไผ่ในอำเภอบุณฑริกปลูกกลางแจ้งทำให้ลำต้นสั้นไม่เหมาะในการนำมาใช้งาน
-
กลุ่มสานหมวก สินค้าที่ผลิตเพื่อจำหน่ายทำจากวัสดุ 2 ชนิด คือไม้ไผ่ และใบตาล ความสามารถในการผลิตวันละ 100 ใบ ต้นทุนสำหรับหมวกไม้ไผ่อยู่ที่ 10 บาท/ใบ โดยตั้งราคาขายส่งหมวกไม้ไผ่ใบละ 15 บาท ส่วนหมวกใบตาลปัจจุบันไม่สามารถผลิตได้มากนักเนื่องจากต้นตาลในพื้นที่ลดน้อยลง แม้มีการปลูกทดแทนแต่ใบตาลยังไม่ได้คุณภาพตามที่กำหนดเนื่องจากอายุน้อยเกินไป
-
ตำบลหนองขอน อำเภอเมือง นอกจากมีการรวมกลุ่มเพื่อผลิตสินค้าแล้ว ปัจจุบันตัวแทนกลุ่มรับเชิญเป็นวิทยากรให้โรงเรียนเพื่อถ่ายทอดความรู้และฝึกทักษะให้กับเยาวชนในพื้นที่
-
กลุ่มผลิตภัณฑ์จากเชือกร่ม ส่วนใหญ่นำมาถักเป็นกระเป๋าโดยมีตลาดหลักคือกรุงเทพฯ นอกจากจำหน่ายทั้งขายปลีกและขายส่งแล้ว ยังจำหน่ายผ่านเฟสบุ๊คอีกช่องทางหนึ่ง
-
งานฝีมือจากใบตอง เนื่องจากเป็นงานที่ใช้ฝีมือและความประณีตสูง จึงทำให้มีรายได้ค่อนข้างดีคือเฉลี่ย 20,000 บาท/เดือน มีแนวคิดในการนำวัสดุธรรมชาติอื่นๆ มาใช้ร่วมกับใบตองและพัฒนารูปแบบให้หลากหลาย และประณีตซับซ้อนมากขึ้นเพื่อสร้างความแตกต่างของผลงาน
-
การส่งเสริมจากภาครัฐโดยเฉพาะการให้ความรู้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการตลาดขาดความต่อเนื่อง จึงทำให้ผู้ผลิตสินค้าบางกลุ่มขาดโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และลูกค้าขาดความเชื่อมั่นในสินค้าและผู้ผลิต

แนวคิดในการพัฒนาและสืบสานงานฝีมือจากไม้ไผ่
-
ควรมีการรวบรวมข้อมูล หรือจัดทำองค์ความรู้เกี่ยวกับงานสานของชาวอีสานเพื่อไม่ให้สูญหาย อีกทั้งควรนำมาประยุกต์ ต่อยอดเพื่อสร้างคุณค่า
-
ควรกระตุ้นและสร้างให้เยาวชนเห็นความสำคัญ และคุณค่าของงานจักสานที่มีต่อวิถีของชาวอีสานเพื่อสร้างผู้สืบทอด
-
ควรส่งเสริมให้มีการปลูกไม้ไผ่พุง โดยขอความช่วยเหลือจากนักวิชาการเกษตรเพื่อให้คำแนะนำวิธีการปลูก และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยให้กระบวนการจัดเตรียมวัตถุดิบสำหรับการจักสานมีคุณภาพดีก่อนนำไปผลิตเป็นงานหัตถกรรมและงานจักสาน
-
ควรกระตุ้นให้เกิดแนวคิดในการทำงานจักสานเพื่อนำไปจำหน่าย ซึ่งจะกระตุ้นให้มีการพัฒนาฝีมือและความคิดสร้างสรรค์
-
ควรมุ่งเน้นสร้างการรับรู้และพัฒนาชิ้นงานที่มีคุณค่าสูง โดยตั้งเป้าหมายไปที่ลูกค้าที่มีคุณภาพและกำลังซื้อมากขึ้นเช่น ใช้การเล่าเรื่องราว (story) เพื่อสร้างคุณค่าให้กับชิ้นงาน หรือวางตำแหน่ง (positioning) และสร้างผลงานให้เป็นงานหัตถกรรมสำหรับนักสะสม (collector) หรือชิ้นงานสำหรับจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
-
ควรสร้างแหล่งเรียนรู้ครบวงจร ตั้งแต่วัตถุดิบที่จะนำมาใช้ การออกแบบ เทคนิคและวิธีการสร้างชิ้นงาน การพัฒนาและการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่และวัสดุธรรมชาติ และเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าชมและซื้อสินค้าที่นำมาจัดแสดง
-
สร้างความร่วมมือระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ ผู้จักสาน ผู้ผลิตวัตถุดิบ นักออกแบบ และนักวิชาการเพื่อคิดค้นเทคนิคและกระบวนการที่ทำให้ผลิตงานได้มีคุณค่าและคุณภาพเพิ่มขึ้น
-
สร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายการผลิต ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการจำหน่าย