OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

‘ทวารัฐ’ ชี้ร้อนนี้ยังเดือดไม่สุด! ถ้าไม่อยากถึงจุดนั้นทำอย่างไร? ชูแก้ด้วยศาสตร์พระราชา

64 | 9 พฤษภาคม 2567
‘ทวารัฐ’ ชี้ร้อนนี้ยังเดือดไม่สุด! ถ้าไม่อยากถึงจุดนั้นทำอย่างไร? ชูแก้ด้วยศาสตร์พระราชา
“ดร.โจ๊ะ – ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือโอเคเอ็มดี  ได้ฉายภาพความรุนแรงภาวะโลกเดือด ในโครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา จัดโดยบมจ.ทิพยประกันภัย เพื่อทำกิจกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม คืนความสมดุลให้กับระบบนิเวศชายทะเล และสร้างการรับรู้ถึงความรุนแรงของปัญหาโลกเดือด โดย “ดร.โจ๊ะ” เล่าว่า ภาวะโลกเดือด คือปัญหาที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก ณ เวลานี้ มีสัญญาณเตือนภัยจากธรรมชาติปรากฏทั่วทุกมุมโลก ทั้งอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างน่าวิตก การละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ระดับน้ำทะเลที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ และสภาพอากาศแปรปรวน

ล้วนบ่งชี้ว่าโลกกำลังอยู่ในสภาวะผิดปกติขั้นรุนแรง โดยนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า น้ำแข็งที่กำลังละลายจากขั้วโลก จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 2.4 เมตรภายในปี พ.ศ. 2643 หรือประมาณ 76 ปีข้างหน้า ส่งผลให้พื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทย และทั่วโลกตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะจมอยู่ใต้มหาสมุทร และอากาศที่แปรปรวนจะทำให้พืชพรรณจำนวนมากไม่สามารถเจริญเติบโตได้ อัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจะเพิ่มสูงขึ้น ในท้ายที่สุดมนุษย์เองก็ไม่อาจดำรงชีวิตอยูได้เช่นกัน ดังนั้น ทุกคนจึงควรตระหนักอย่างจริงจังว่า ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วน และกำลังคุกคามความอยู่รอดของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกใบนี้

6 สิ่งเกิดขึ้นหลังโลกเดือด…ต้องรับมือ

“ดร.โจ๊ะ” เล่าต่อว่า เมื่อวิเคราะห์จากสถานการณ์อากาศร้อนจัดของประเทศไทยที่ทะลุสถิติ 45 องศาเซลเซียส ในปี 2567 ซึ่งเป็นอุณหภูมิสูงสุดในรอบ 73 ปี และมีแนวโน้มที่จะพุ่งสูงขึ้นอีกในอนาคต ทำให้มองเห็นถึงทิศทางสภาพอากาศของโลกว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ประชาชนคนไทยต้องเตรียมพร้อมและปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์สุดขั้วต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากวิกฤตโลกเดือด เช่น
  1. การอพยพย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ของมนุษย์ เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้หลายพื้นที่ต้องจมอยู่ใต้มหาสมุทร ส่งผลให้ประชากรโลกกว่า 100 ล้านคนไร้ที่อยู่ และต้องอพยพไปสู่พื้นที่ที่สูงกว่า
  2. การเกิดขึ้นของโรคอุบัติใหม่ เช่น โรคโควิด-19 โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคอื่นๆ ที่อาจแพร่ระบาดมากขึ้นจากการย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ รวมถึงการปรับตัวของเชื้อโรคจากการที่อากาศมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น
  3. ทรัพยากรขาดแคลน ภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำจืดจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำสาธารณะจะแห้งเหือดไปหมด พืชพันธุ์ธัญญาหารจะเน่าเสียและไม่สามารถเจริญงอกงามได้ตามปกติ อาหารการกินก็จะขาดแคลนตามมา
  4. ภัยธรรมชาติรุนแรง เช่น อากาศร้อนจัด หนาวจัด ฝนตกหนัก ไฟป่า และหมอกควัน ทุกภัยธรรมชาติจะทวีความรุนแรงมากขึ้นจากสภาพอากาศแห้งแล้ง และร้อนจัด
  5. ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) จากการที่มนุษย์ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ดังเดิม รวมถึงขาดแคลนทรัพยากรต่างๆ เช่น อาหาร น้ำประปา ไฟฟ้า เชื้อเพลิง ฯลฯ
  6. ระบบนิเวศล่มสลาย ผลกระทบที่ร้ายที่สุดหากความร้อนรุนแรงเกินกว่าที่ชีวิตจะทรงอยู่ได้ คือ สิ่งมีชีวิตนานาชนิดต้องสูญพันธุ์ไป เนื่องจากร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้ทนต่อความร้อนจัดสุดขีด ระบบนิเวศโลกจะพังพินาศและสูญเสียความสมดุลอย่างสิ้นเชิง มนุษย์และสิ่งมีชีวิตบนโลกอาจต้องสูญพันธุ์ไปในที่สุด
ถ้าไม่อยากให้โลกไปถึงจุดนั้น วันนี้เราต้องทำอย่างไร?

“ดร.โจ๊ะ” ให้คำแนะนำว่า การที่จะหยุดยั้งและแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล เอกชน และประชาชนทั่วโลก โดยเราต้องดำเนินการดังนี้
  • ใช้ชีวิตอยู่บนความพอเพียง ไม่ประมาท เป็นความโชคดีของคนไทย ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติในการดำเนินชีวิตของเรา นั่นคือ พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน หลักความพอเพียงนี้ ยังคงเป็นแนวทางที่ใช้ได้จริง และทันสมัยอยู่ แนวทางนี้จะสอนให้เราใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ไม่บริโภคเกินความจำเป็น และเคารพต่อธรรมชาติ นี่คือหนทางที่จะนำพาสังคมไทยให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ทำลายโลกที่สวยงามใบนี้ เพื่อลูกหลานของเราในอนาคต
  • ใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล และไบโอดีเซล ให้มากขึ้น เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงลงทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ๆ
  • รักษาพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น และขยายพื้นที่ป่าธรรมชาติให้กว้างขวางขึ้น เนื่องจากพืชพรรณช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้จากกระบวนการสังเคราะห์แสง
  • ลดการใช้ถุงพลาสติกและผลิตภัณฑ์จากพลาสติก รวมถึงรณรงค์ให้คนทุกคนหันมาแยกขยะและรีไซเคิลอย่างจริงจัง
  • สนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยสิทธิประโยชน์และมาตรการทางภาษี เพื่อจูงใจให้บริษัทต่างๆ ปรับเปลี่ยนมาดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืน
  • ให้การศึกษาแก่เยาวชนและประชาชนทุกระดับอย่างต่อเนื่องถึงภัยร้ายจากโลกร้อน สร้างจิตสำนึกให้ช่วยกันปกป้องรักษาโลกใบนี้ไว้ เพื่ออนาคตของลูกหลานเรา
  • บังคับใช้กฎหมายและมาตรการทางสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและเด็ดขาดโดยรัฐ ผ่านการกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษที่เข้มงวด การเรียกเก็บภาษีคาร์บอนเพิ่มขึ้น รวมถึงการลงโทษผู้ละเมิดอย่างหนักหน่วง
  • ประสานความร่วมมือกับนานาประเทศในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน แบ่งปันข้อมูล แลกเปลี่ยนความรู้และนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพสูงสุด
“วิชชุดา ไตรธรรม” ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย ได้เสริมในประเด็นเรื่องความพอเพียงว่า เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2521 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้มีพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมว่า “ธรรมชาติแวดล้อมของเรา ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเล และอากาศ มิได้เป็นเพียงสิ่งสวยๆ งามๆ เท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของเรา และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของเราไว้ให้ดีนี้ ก็เท่ากับเป็นการปกปักรักษาอนาคตไว้ให้ลูกหลานของเราด้วย” ซึ่งพระบรมราโชวาทนี้ สะท้อนถึงความตระหนักของพระองค์ ในผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีต่อมนุษย์ และได้ทรงแนะแนวทางการดำเนินชีวิตให้อยู่บนความพอประมาณ ไม่เบียดเบียนหรือแสวงประโยชน์จากธรรมชาติเกินความจำเป็น มนุษย์จึงจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเกื้อกูล และยั่งยืน

โครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 39 ได้พาคณะครูอาจารย์ และผู้ที่สนใจลงพื้นที่ทำกิจกรรม ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย จังหวัดชลบุรี โดยได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมปลูกป่าโกงกางด้วยวิธีการใหม่ที่เรียกว่า “ท่อใยหิน” แบบยกพื้น ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้ต้นโกงกางมีโอกาสในการรอด และเติบโตมากขึ้น และยังได้ร่วมกันปล่อยเต่าตนุกลับสู่ธรรมชาติ รวมทั้งทำกิจกรรมเก็บขยะบริเวณชายหาดน้ำใส เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ลดปัญหามลพิษทางทะเลจากขยะ และสร้างภูมิทัศน์ให้สะอาดสวยงาม พร้อมจัดกิจกรรมบรรยาย และ workshop ให้ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมศาสตร์พระราชา และการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามนโยบาย UNSDG ภายในปี 2030 โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย เช่น รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม อ.อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และ ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี

ปัญหาวิกฤตการณ์ภาวะโลกเดือด ถือเป็นความท้าทายที่ทั้งโลกต้องเผชิญและเอาชนะร่วมกัน แต่ขณะเดียวกันก็อยู่ที่จุดเปลี่ยนสำคัญที่เรายังสามารถกอบกู้และแก้ไขได้อย่างทันการณ์ หากทุกคนทุกฝ่ายตื่นตัวและร่วมแรงร่วมใจกัน ด้วยการปฏิบัติอย่างจริงจัง และเสียสละทุ่มเทเพื่อส่วนรวม เราก็จะสามารถปกป้องโลกของเราให้รอดพ้นจากวิกฤตครั้งยิ่งใหญ่นี้ไปได้

ขอบคุณข่าวจาก Dailynews 
https://www.dailynews.co.th/news/3405469/

ข่าวและกิจกรรมอื่นๆ

เปิดผลสำเร็จ 20 ปี OKMD จากอดีต ปัจจุบัน สู่อนาคต

เปิดผลสำเร็จ 20 ปี OKMD จากอดีต ปัจจุบัน สู่อนาคต

เดินหน้าสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เตรียมเปิด “ศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ” บน ถ.ราชดำเนิน ให้เป็น “ต้นแบบแหล่งเรียนรู้สาธารณะของประเทศ” ภายในปี 2570
OKMD จับมือ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ สนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ “ติดอาวุธการเรียนรู้สมัยใหม่” ให้กับประชาชน

OKMD จับมือ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ สนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ “ติดอาวุธการเรียนรู้สมัยใหม่” ให้กับประชาชน

OKMD ร่วมกับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการสนับสนุนให้มี การนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในงานบริการองค์ความรู้แก่ประชาชน รองรับการเปิด “ศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ”
‘ทวารัฐ’ ชี้ร้อนนี้ยังเดือดไม่สุด! ถ้าไม่อยากถึงจุดนั้นทำอย่างไร? ชูแก้ด้วยศาสตร์พระราชา

‘ทวารัฐ’ ชี้ร้อนนี้ยังเดือดไม่สุด! ถ้าไม่อยากถึงจุดนั้นทำอย่างไร? ชูแก้ด้วยศาสตร์พระราชา

“ปัญหาโลกเดือด” เรื่องจริง ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่องๆ และหากเราไม่มีมาตรการรองรับที่ดีพอ ผลกระทบจากโลกเดือดนี้จะเป็นภัยคุกคามที่รุนแรงขึ้นต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราอย่างวิกฤติ และสาหัสขึ้นเรื่อยๆ
ประชาสัมพันธ์การใช้งาน E-Workforce Ecosystem Platform

ประชาสัมพันธ์การใช้งาน E-Workforce Ecosystem Platform

E-Workforce Ecosystem Platform แพลตฟอร์มอัจฉริยะที่เชื่อมโยงข้อมูลของแต่ละหน่วยงานให้เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และช่วยสร้างโปรไฟล์เพื่อรองรับการเพิ่มทักษะ การมีงานทำ

ข่าวและกิจกรรม