OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

10 กิจกรรมเพิ่มพลังสมอง

13554 | 17 กุมภาพันธ์ 2565
10 กิจกรรมเพิ่มพลังสมอง
เป็นที่เข้าใจโดยทั่วกันว่า สุขภาพกายและใจที่ดีนั้นขึ้นอยู่กับกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรา นอกเหนือจากการใช้ชีวิตที่ใส่ใจต่อสุขภาพกาย เช่น การรับประทานอาหารที่สมดุล การออกกำลังกายเป็นประจำ และการพักผ่อนให้เพียงพอแล้ว ในวัยผู้ใหญ่ที่การทำงานนับเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ของชีวิต เราก็สามารถรักษาความคิดและความจำให้เฉียบคมฉับไวได้ด้วยการออกกำลังกายสมอง โดยไม่จำเป็นต้องละลายทรัพย์ไปกับกิจกรรมที่หรูหราหรือสิ้นเปลือง ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาหลายคนแนะนำให้ฝึกสมองด้วยกิจกรรมในชีวิตจริง โดยกิจกรรมที่เสริมสร้างพัฒนาการและการทำงานของสมองควรมีความแปลกใหม่และท้าทาย กิจกรรมบางอย่างที่ดูเหมือนไม่มีสาระ เช่น การขับรถกลับบ้านหรือไปทำงานโดยใช้เส้นทางที่ไม่เคยไป การแปรงฟันหรือหวีผมด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด จะช่วยกระตุ้นเซลล์ประสาทที่ไม่ค่อยได้ใช้งานได้ฟื้นฟู เพราะสมองของเราทำงานผ่านการเชื่อมโยงประสานงานกันของเซลล์ประสาทที่อยู่ในส่วนต่างๆ ของร่างกายซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกัน ดังนั้น กิจกรรมที่ประสานการทำงานและการมีส่วนร่วมของเซลล์ประสาทยิ่งมาก ยิ่งหลากหลาย ก็จะยิ่งช่วยชะลอการเสื่อมถอยของสมองออกไปได้ แต่ถ้าคุณยังไม่มั่นใจว่ากิจกรรมที่ทำในแต่ละวันนั้นช่วยเพิ่มพลังสมองของคุณหรือไม่ 10 กิจกรรมที่จะแนะนำต่อไปนี้อาจเป็นทางเลือกที่คุณพบว่าน่าสนุก เป็นประโยชน์ และไม่ยากเกินไปที่จะทดลองทำ

  1. ทดสอบการเรียกคืนความจำของคุณด้วยการเขียนหรือพิมพ์ลิสต์รายการสิ่งต้องซื้อ งานที่ต้องทำ หรือสิ่งอื่น ๆ ที่อยู่ในใจออกมา อ่านและจดจำไว้ จากนั้นละไปทำกิจกรรมอื่นประมาณหนึ่งชั่วโมง แล้วกลับมาเขียนหรือพิมพ์ลิสต์รายการเดิมซ้ำอีกครั้ง ลองดูว่าคุณสามารถเรียกคืนความจำได้กี่รายการ อย่าเพิ่งท้อใจถ้าคุณจำได้ไม่มาก ให้ลองฝึกฝนต่อไป และฝึกบ่อยๆ ด้วยความท้าทายที่ยากหรือซับซ้อนขึ้นตามลำดับ กิจกรรมนี้จะช่วยพัฒนาระบบความจำของคุณให้เฉียบคมและแม่นยำยิ่งขึ้น


    Photo by Glenn Carstens-Peters on Unsplash

  2. เรียนรู้การเล่นเครื่องดนตรีหรือเข้าร่วมคณะนักร้องประสานเสียง การฟัง การทำความเข้าใจ และจดจำทำนอง จังหวะ เสียง ถ้อยคำ ตลอดจนอารมณ์ของเพลงช่วยเปิดการรับรู้และสื่อสารของประสาทสัมผัสและอารมณ์ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งกิจกรรมเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนจนกลายเป็นทักษะที่คล่องแคล่วแม่นยำ การเรียนรู้สิ่งใหม่และซับซ้อนในช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้นนั้นเหมาะอย่างยิ่งสำหรับสมองที่เริ่มเสื่อมถอย


    Photo by Gabriel Gurrola on Unsplash

  3. ถอยห่างจากเครื่องอำนวยความสะดวกในการคิดคำนวณและการเขียน ลองเปลี่ยนจากการกดเครื่องคิดเลขตลอดเวลามาเป็นการคิดเลขในใจ หรือเปลี่ยนจากการกดแป้นพิมพ์มาเป็นการเขียนด้วยลายมือบ้างเป็นครั้งคราว จะช่วยรื้อฟื้นความจำที่ไม่ค่อยได้ใช้ให้กลับคืนมามีประสิทธิภาพมากขึ้น

  4. ฝึกทำอาหาร เรียนรู้วิธีการปรุงอาหารเมนูใหม่ เพราะการทำอาหารต้องใช้ประสาทสัมผัสหลายอย่างประสานกัน ทั้งการดมกลิ่น การสัมผัส การมองเห็น และการชิมรสชาติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรับรู้และการประมวลผลของสมอง


    Photo by Alyson McPhee on Unsplash

  5. เรียนภาษาต่างประเทศ คำศัพท์ใหม่ที่หลากหลายมีพลังกระตุ้นการเรียนรู้จดจำ ทั้งการฟังและการเปล่งเสียง การเห็นรูปคำเทียบเคียงกับความหมาย การฝึกฝนไวยากรณ์ และการได้สื่อสารกับเจ้าของภาษา ล้วนเป็นการเปิดประสบการณ์เรียนรู้ที่สดใหม่และน่าตื่นตาตื่นใจช่วยกระตุ้นสมองที่เริ่มอ่อนล้าและเฉื่อยชาให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง


    Photo by Romain Vignes on Unsplash

  6. ฝึกสร้างคำ สะกดคำในสมองแล้วลองนึกถึงคำอื่นๆ ที่มีพยัญชนะต้นหรือตัวสะกดพยางค์สุดท้ายเหมือนกับคำนั้น เช่น โจทย์ที่คิดไว้ในใจคือคำว่า สถานการณ์ ลองคิดคำที่มีพยัญชนะตัวแรกเหมือนกับโจทย์ เช่นคำว่า สถานที่ สรีระ สนามหญ้า ฯลฯ หรือหาคำที่มีตัวสะกดพยางค์สุดท้ายเหมือนกับโจทย์ เช่น ประสบการณ์ อุทธรณ์ สมบูรณ์ ฯลฯ ลองคิดโจทย์ใหม่ๆ พลิกแพลงไปมา และทดลองกับคำศัพท์ภาษาต่างประเทศได้เช่นกัน

  7. วาดแผนที่จากความจำ หลังกลับจากการเดินทางไปยังสถานที่ใหม่ๆ แล้ว ลองระลึกและวาดแผนที่เดินทางไปยังสถานที่นั้น ฝึกทำแบบฝึกหัดนี้ทุกครั้งในการเดินทางไปยังที่ใหม่ บางทีคุณอาจจะพบว่า สัญลักษณ์บางอย่างที่คุณพบเห็นระหว่างทางช่วยให้คุณจดจำเส้นทางได้ดีและแม่นยำขึ้น คุณสามารถวาดหรือเขียนสัญลักษณ์เหล่านั้นใส่ลงไปเป็นหมุดหมายในแผนที่เดินทางของคุณด้วยก็ได้ เช่น วัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำก่อนขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำ ป้อมตำรวจใกล้แยกไฟแดงก่อนเลี้ยวขวาออกจากทางหลัก ป้ายชื่อถนนหรือสถานที่ ฯลฯ



  8. ท้าทายต่อมรับรสของคุณด้วยการจดจ่อและสังเกตรสชาติอาหารที่รับประทาน ระหว่างรับประทานอาหาร พยายามระบุส่วนผสมแต่ละอย่างในมื้ออาหารของคุณ รวมทั้งสมุนไพรและเครื่องเทศที่เป็นส่วนผสมของอาหารแต่ละจาน แบบฝึกนี้จะช่วยกระตุ้นประสาทรับรสและประสาทรับกลิ่นของคุณให้ว่องไวและแม่นยำขึ้น

  9. ฝึกฝนการประสานงานของมือและตา ลองหางานอดิเรกใหม่ๆ ที่ช่วยพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวและการประสานงานของอวัยวะต่างๆ เช่น การถักไหมพรม การวาดภาพระบายสี การโยนรับลูกบอล หรือการต่อตัวต่อภาพหรือโมเดลต่างๆ

  10. ลองฝึกเล่นกีฬาประเภทที่ไม่คุ้นเคย หรือกีฬาที่สนใจแต่ยังไม่เคยมีโอกาสได้เรียนรู้ และเริ่มออกกำลังกายที่ต้องใช้ทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น โยคะ กอล์ฟ เทนนิส เต้นรำ ฯลฯ นอกจากนี้ การเล่นเกมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกมกระดาน เกมคอมพิวเตอร์ หรือเกมลับสมองต่างๆ ทั้งที่เล่นคนเดียวและเล่นกับเพื่อนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ได้ทั้งความสนุกและประโยชน์ที่ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ในสมองและในสังคมควบคู่กันไป


    Photo by Carl Barcelo on Unsplash
จะเห็นได้ว่าการออกกำลังกายสมองนั้นส่งผลดีต่อทั้งร่างกายและจิตใจไปพร้อมๆ กัน และคงไม่มีอะไรที่จะบ่งบอกถึงสุขภาพที่ดีได้ดีไปกว่าสมองที่แจ่มใสในร่างกายที่แข็งแรงควบคู่ไปกับจิตใจและอารมณ์เชิงบวก ดังนั้น หากเราสามารถรักษาสมดุลของสมอง ร่างกาย และจิตใจเอาไว้ได้ สุขภาพที่ดีย่อมไม่ไกลเกินเอื้อม 





สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก:
https://www.everydayhealth.com/longevity/mental-fitness/brain-exercises-for-memory.aspx
https://www.medicalnewstoday.com/articles/brain-exercises
https://www.healthline.com/health/mental-health/brain-exercises

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)