OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

ทางม้าลาย ชื่อนี้มีที่มาอย่างไร?

5022 | 15 กุมภาพันธ์ 2565
ทางม้าลาย ชื่อนี้มีที่มาอย่างไร?
ทางม้าลาย ชื่อนี้มีที่มาอย่างไร?
“ทางม้าลาย” เป็นเครื่องหมายจราจรที่เห็นกันจนคุ้นตา และเรามักจะถูกสอนมาว่าทางม้าลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับข้ามถนนเพื่อไปยังอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้รถใช้ถนนทั้งผู้ขับขี่รถและคนเดินเท้า แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ที่มาที่ไปว่าทำไมเราถึงเรียกทางข้ามนี้ว่าทางม้าลาย

ทางม้าลาย คืออะไร
ทางม้าลาย คือ เครื่องหมายจราจรที่เป็นสัญลักษณ์สากลมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการข้ามถนน เป็นพื้นที่ที่ทำขวางถนนสำหรับให้คนเดินเท้าข้าม โดยส่วนใหญ่เป็นแถบสีขาวสลับดำคล้ายกับสีของม้าลาย

ทางม้าลาย หรือ Pedestrian Crossing เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1930 แต่ยังไม่มีรูปแบบเป็นเส้นตรงสลับสีอย่างเช่นปัจจุบัน เป็นการทำเสาธงโลหะปักไว้ขอบซ้ายขวาของถนนเพื่อให้สัญญาณคนขับรถว่าเป็นจุดที่จะมีคนข้ามถนน แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ขับขี่จะไม่สามารถสังเกตเห็นได้จากในระยะไกล จึงมีการปรับและออกแบบเพื่อให้ปลอดภัยมากขึ้น มาเป็นการใช้สีทาที่พื้นถนนเป็นเส้นตรงสลับช่องในแนวขวาง ซึ่งมีการทดลองใช้สีต่างๆ เช่น สีน้ำเงิน-เหลือง สีแดง-ขาว เพื่อทดสอบว่าคู่สีใดจะทำให้ผู้ขับขี่มองเห็นได้ในระยะไกล และลดความเร็วเพื่อหยุดรถได้ในจุดที่จะมีคนเดินข้ามถนน ซึ่งพบว่าสีขาวเป็นสีที่มองเห็นชัดและสังเกตได้ง่ายตั้งแต่ระยะไกลได้ชัดเจนมากที่สุด จึงมีการใช้สีขาว-ดำ เป็นสัญลักษณ์ของทางคนข้าม และถูกเรียกว่า Zebra crossing ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1951 เป็นต้นมา
 
ต่อมาในยุคล่าอาณานิคม ประเทศอังกฤษได้นำวัฒนธรรมนี้เผยแพร่ไปทั่วโลกจนได้รับการยอมรับในระดับสากล รวมถึงในไทยเองก็ได้นำมาใช้และเรียกทางข้ามนี้ว่า “ทางม้าลาย” 

ซึ่งทางม้าลาย นับเป็นเครื่องหมายจราจรที่มีกฎหมายบังคับใช้กับผู้ใช้รถใช้ถนนทั้งผู้ขับขี่รถและคนเดินเท้า โดยในประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทางม้าลาย ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ระบุถึงทางม้าลายเอาไว้หลายมาตรา ดังนี้

มาตรา 152 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท 

มาตรา 46 (2) ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถแซงเพื่อขึ้นหน้ารถอื่น ภายในระยะสามสิบเมตรก่อนถึงทางข้ามทางร่วมทางแยก วงเวียนหรือเกาะที่สร้างไว้ หรือทางเดินรถที่ตัดข้ามทางรถไฟ ซึ่งหมายถึง ห้ามขับรถแซงเพื่อขึ้นหน้ารถคันอื่น ภายในระยะ 30 เมตรก่อนถึงทางข้าม/ทางม้าลาย

มาตรา 57 (4)  ห้ามมิให้ผู้ขับขี่จอดรถในทางข้าม หรือในระยะสามเมตรจากทางข้าม หมายความว่า ห้ามจอดรถทับทางข้าม/ทางม้าลาย โดยนับจากเส้นไปก่อนและหลัง 3 เมตร 

มาตรา 70 ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก ทางข้ามเส้นให้รถหยุด หรือวงเวียน ต้องลดความเร็วของรถ หมายความว่าเมื่อเห็นทางข้าม/ทางม้าลาย ให้ชะลอความเร็วของรถ

มาตรา 104 ภายในระยะไม่เกินหนึ่งร้อยเมตรนับจากทางข้ามห้ามมิให้คนเดินเท้าข้ามทางนอกทางข้าม ซึ่งหมายความว่าห้ามไม่ให้ข้ามถนน ในระยะ 100 เมตรมีทางข้าม/ทางม้าลาย โดยจะต้องข้ามตรงทางม้าลายเท่านั้น
 
และในส่วนของผู้ที่จะใช้ทางข้ามหรือทางม้าลายเอง ก็ควรจะมองขวา-มองซ้าย แล้วมองขวาอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีรถกำลังแล่นมาจึงจะข้ามได้ แล้วให้รีบข้ามโดยให้เดินอย่างรวดเร็วแต่อย่าวิ่งข้ามถนน และหากถนนมีเกาะกลางถนน ควรจะต้องข้ามทีละครึ่งโดยข้ามไปพักที่เกาะกลางถนนเสียก่อน จึงข้ามในครึ่งหลังต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้รถใช้ถนน ทั้งผู้ขับขี่รถและคนเดินเท้า ควรจะต้องมีวินัยและเคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุและความปลอดภัยในการสัญจรร่วมกัน





ที่มาของข้อมูล :
https://www.easycompare.co.th/articles/driver-lifestyle/history-crosswalk
https://www.beartai.com/lifestyle/rewind/925495
https://zhort.link/yz3 
https://zhort.link/yz4 
https://car.kapook.com/view251524.html
https://www.autodeft.com/deftanswer/traffic-law-about-crosswalk-in-thailand-2021 
https://urbancreature.co/bangkok-road-signs/ 

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)