OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

ทำไมต้องดูแลมนุษย์เงินเดือนให้มีความสุข

1698 | 10 กุมภาพันธ์ 2565
ทำไมต้องดูแลมนุษย์เงินเดือนให้มีความสุข
เพราะความสุขเป็นสิ่งสูงสุดที่คนทุกคนปรารถนา ความสุขในการทำงานของพนักงานจึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ทุกองค์กรให้ความใส่ใจ เห็นได้จากงานวิจัยจำนวนมากที่ระบุว่า “ความสุข” ส่งผลดีต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งนั่นนำไปสู่ความก้าวหน้าขององค์กรต่อไป นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดและกระบวนการสร้างความสุขในที่ทำงานอีกมากมาย ซึ่งขึ้นกับว่าแต่ละองค์กรเหมาะกับแนวคิดใด และหากทุกองค์กรมองเห็นแนวทางเดียวกัน นั่นก็คือ “การให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคลในทุกระดับอย่างเท่าเทียมกัน”  มองและเห็น “คนทำงาน” มากขึ้น นั่นก็จะสร้างความสุขพื้นฐานที่ยั่งยืนให้พนักงาน และเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานมากยิ่งขึ้น 

“ความสุขในการทำงาน” จะเป็นตัวสร้างความผูกพันและแรงจูงใจในองค์กร ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน การสร้างความจงรักภักดีของพนักงาน และลดอัตราการลาออก หลายคนองค์กรจึงหันมาใส่ใจการสร้างความสุขในที่ทำงานมากขึ้น ต่อจากนี้คือแนวทางการสร้างความสุขในการทำงานให้ยั่งยืน เพื่อให้ทุกองค์กรสามารถนำไปปรับใช้กัน

“ความสุขในการทำงาน” คืออารมณ์ของพนักงานในทางที่ดีต่องานที่ได้รับมอบหมาย โดยสามารถเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น การได้รับการยกย่อง การยอมรับ ความมั่นคง ความก้าวหน้า ความปลอดภัยในการทำงาน รวมไปถึงปัจจัยทางด้านบุคคล เช่น เพื่อนร่วมงานที่ดี หรือหัวหน้างานที่ดีมีเมตตาและความยุติธรรม ซึ่งทั้งหมดเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ โดยความสุขในที่ทำงานประกอบไปด้วย

ความรื่นรมย์ในการทำงาน เป็นความรู้สึกสนุกขณะทำงาน โดยไม่มีความรู้สึกวิตกกังวลใดๆ

ความพึงพอใจในงาน เป็นความรู้สึกพอใจขณะทำงาน โดยไม่มีความทุกข์ใจในการปฏิบัติตน

ความกระตือรือร้นในการทำงาน เป็นความรู้สึกอยากทำงาน โดยเต็มไปด้วยความตื่นตัวและมีชีวิตชีวา

ปัจจุบันนี้ การวัดผลการดำเนินงาน ไม่ได้มองเพียงแค่การเติบโตทางตัวเลขเพียงอย่างเดียว แต่มองไปถึงความท้าทายในการสร้างสินค้าและบริการใหม่ๆ ซึ่งตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนานั้น คือ พนักงานขององค์กร การดึงศักยภาพของพนักงานแต่ละคนออกมาให้ได้มากที่สุดเป็นความท้าทายที่องค์กรต้องลงทุน คิด และวิเคราะห์ออกมาให้ได้ “องค์กรยุคใหม่” ไม่สามารถมองข้ามประเด็น “ความสุขในการทำงานของพนักงาน” ได้เลย มีงานวิจัยจำนวนมากที่บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างความสุขในการทำงานกับประสิทธิภาพขององค์กรอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น

พนักงานที่มีความสุข จะมีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มมากขึ้น 12%

พนักงานที่มีความสุข จะทุ่มเทในการทำงานมากขึ้นเป็น 2 เท่า

พนักงานที่มีความสุข จะมีพลังงานในการทำงานมากกว่าพนักงานที่ไม่มีความสุข 65%

Milieu Insight ได้สำรวจความสุขในที่ทำงานของพนักงานทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 6,800 คน ทั้งจากประเทศอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เวียดนามและไทย พบว่า คนไทยกว่า 44% รู้สึกว่าปี พ.ศ. 2564 ไม่มีความสุขมากกว่าปีที่แล้ว ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีความสุขสูงที่สุดในกลุ่มตัวอย่างอีกด้วย โดยความสุขในที่ทำงานของคนไทยเกิดจากเงินเดือน 48% ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน 45% การจัดการงานปัจจุบัน 36% และความหมายในการทำงาน 33% ขณะที่การไม่มีความสุขในที่ทำงานของคนไทยเกิดจาก ปริมาณงานที่มากเกินไป 23% การไม่มีโอกาสในการเติบโต 21% เงินเดือน 21% และสวัสดิการบริษัท 20% 

จะเห็นได้ว่า ปัจจัยที่ทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงานได้นั้นมีทั้ง การมีรายได้ที่เพียงพอ การมีเจ้านายที่ดี การมีเพื่อนร่วมงานที่ดี การมีอิสระ และการมีชีวิตและการทำงานที่สมดุล ฯลฯ โดยองค์กรสามารส่งเสริมการสร้างความสุขในการทำงานได้ทั้ง การส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในองค์กร การใช้ระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น การตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงในเส้นทางอาชีพ การส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะใหม่ การ ชื่นชม ยกย่อง และยอมรับในความสามารถของพนักงาน และการมอบผลตอบแทนและสวัสดิการที่ดี

เพียงการใส่ใจ ดูแลในความสุขของพนักงาน องค์กรก็จะได้ “รีเทิร์น” ที่แสนจะคุ้มค่าในที่สุด 





ข้อมูลประกอบการเขียน
https://th.hrnote.asia/tips/workplace-happiness-210708/ 

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)