OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

กินอย่างมีสติ

2084 | 19 มกราคม 2565
กินอย่างมีสติ
หลังจากผ่านพ้นช่วงเวิร์ค ฟอร์ม โฮมที่ยาวนาน เชื่อว่ามีหลายคนกลับมาทำงานพร้อมกับใบหน้าอวบอิ่มและเรือนร่างที่สมบูรณ์ ดูไปก็คล้ายจะเป็นเรื่องดีที่มีอาหารการกินบริบูรณ์ ไม่ขัดสน แต่ก็ยังมีบางคนตัดพ้อกับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งใจ (และไม่ได้ดั่งใจ) ซึ่งที่มาของน้ำหนักส่วนเกินนี้ก็ไม่มีอะไรมาก ส่วนหนึ่งก็คือมาจากนิสัยการกินที่เปลี่ยนไป มากไป บ่อยไป พร่ำเพรื่อไป จนถึงกับมีบางคนออกปากว่า “กินอย่างขาดสติ” ถ้าเช่นนั้น เราคงต้องหันกลับมากินอย่างมีสติ เพื่อกำจัดน้ำหนักส่วนเกินและนิสัยการกินที่ไม่พึงประสงค์ทิ้งไป คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วต้องกินอย่างไรจึงจะเรียกว่า “กินอย่างมีสติ”

ท่ามกลางชีวิตประจำวันที่รีบเร่ง ขณะที่เรากำลังทำงาน ดูทีวี คุยโทรศัพท์ หรือแม้กระทั่งในระหว่างเดินทาง เราอาจจะไม่ทันได้สังเกตว่าเรากินขนมไปสองสามชิ้น จิบกาแฟไปอีกหนึ่งถ้วย อมลูกอม หรือหยิบโน่นนั่นนี่ใส่ปากระหว่างทำอาหาร และไม่ได้จดจำว่าตัวเองกินอาหารมื้อล่าสุดไปตอนไหน เพราะการกระทำเหล่านี้ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติและเป็นไปเองตามธรรมชาติ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่ากินอย่างมีสติ เพราะการกินอย่างมีสติหมายถึงการรู้ตัวรู้ตนในขณะกินอาหารหรือดื่มเครื่องดื่ม บ่อยครั้งที่การกินอย่างขาดสติ หรือไม่ตั้งใจ ทำให้ร่างกายของเราได้รับปริมาณอาหารมากเกินจำเป็น ในขณะเดียวกันก็อาจจะทำให้เราได้รับสารอาหารบางอย่างต่ำกว่าที่จำเป็นได้ด้วยเช่นกัน เพราะเราไม่ใส่ใจ และไม่ตระหนักรู้ว่าเรากินอะไรไปบ้างนั่นเอง การกินและดื่มอย่างปล่อยปละละเลยเช่นนี้จึงอาจเป็นที่มาของภาวะทุพโภชนาการและส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจทั้งทางตรงและทางอ้อม

การได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วนและในปริมาณที่ไม่เหมาะสมอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติ เช่น ระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย รวมไปถึงระบบประสาทและต่อมไร้ท่อ เพราะการขาดสารอาหารที่สำคัญบางชนิดอาจไปยับยั้งหรือชะลอการผลิตฮอร์โมนหรือสารสื่อประสาทบางชนิดส่งผลให้ร่างกายทำงานผิดปกติ เราจึงควรหันมาใส่ใจการรับประทานอาหารของเราด้วยการพินิจพิจารณาให้ลึกซึ้งกว่าเดิม การกินอย่างมีสติจะช่วยให้เราทำทุกอย่างช้าลง ฉุดเราออกจากระบบกินแบบกึ่งอัตโนมัติ และให้ความสนใจสิ่งที่กินเข้าไปอย่างแท้จริง แต่ถ้ายังไม่แน่ใจว่าควรเริ่มจากตรงไหน ลองดูวิธีฝึกการกินอย่างมีสติเหล่านี้เป็นตัวอย่าง

  • ใช้ประสาทสัมผัสในการรับรู้ถึงสิ่งที่เรากินและดื่ม ที่จริงแล้วอาหารและเครื่องดื่มไม่ได้มีเพียงรสชาติที่เราสัมผัสได้ แต่ยังให้ทั้งกลิ่น เนื้อสัมผัส อุณหภูมิ เสียงขณะที่เราเคี้ยว สัมผัสเคลื่อนไหวขณะที่เรากลืน ตลอดจนความรู้สึกที่เราได้รับจากการกินและดื่ม เมื่อเราใช้ประสาทสัมผัสรับรู้และพิจารณาคุณสมบัติเหล่านี้ จะช่วยให้เราตระหนักได้ว่าสิ่งที่เรากินเข้าไปนั้นเหมาะสมหรือไม่ และนำไปสู่การปรับนิสัยการกินให้ดีต่อสุขภาพยิ่งขึ้น

  • รับรู้สัญญาณของร่างกาย เราทุกคนต่างเคยประสบกับเสียงคำรามลึกๆ ในท้องเมื่อเราหิว นั่นคือสัญญาณที่ร่างกายบอกเราว่าถึงเวลาที่ต้องกินแล้ว แต่บางครั้งเราก็กินด้วยสัญญาณที่แตกต่างออกไป นั่นคือความอยาก เราอาจจะรู้สึกอยากกินขนมหรือเครื่องดื่มหวานๆ เมื่อเราเครียดหรือวิตกกังวล หรือบางคนต้องการกาแฟมาระงับความง่วง การตอบสนองความอยากอาหารพร่ำเพรื่อเกินไปอาจไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ ดังนั้นลองสังเกตสัญญาณของร่างกาย เพื่อที่เราจะตระหนักและควบคุมการกินและดื่มของเราได้อย่างเหมาะสม

  • กินอาหารให้ช้าลงเพื่อให้ร่างกายและสมองสามารถสื่อสารทันกัน ถ้าเรากินอาหารด้วยความเร่งรีบ ความรู้สึกอิ่มอาจจะตามไม่ทัน แล้วนำไปสู่การกินมากเกินไป หลังจากนั้น เราจะรู้สึกอิ่มจนอึดอัด ดังนั้นเราจึงควรผ่อนจังหวะการกินให้ช้าลง ปล่อยให้ร่างกายและสมองมีเวลาสื่อสารกัน เพื่อจะได้หยุดกินเมื่อร่างกายได้รับอาหารในปริมาณที่พอเหมาะตามที่ร่างกายต้องการ

  • กินอาหารแบบมีสังคมและวัฒนธรรม การกินอาหารคนเดียวเป็นประจำอาจทำให้เรามีแนวโน้มตามใจตัวเอง จะกินอะไร ที่ไหน เมื่อไรก็ได้ เสี่ยงต่อนิสัยกินอาหารไม่ตรงเวลา กินจุบจิบ พร่ำเพรื่อ หรือกินซ้ำๆ แต่อาหารประเภทเดิม ในทางกลับกัน การกินอาหารกับเพื่อนจะช่วยให้เราได้พิจารณาทั้งประเภทและปริมาณของอาหาร ได้แบ่งปันและรับประทานอาหารหลากหลาย มีกำหนดเวลา และสถานที่ชัดเจน นอกจากนั้นการได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในสังคมจะช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายและเพลิดเพลิน ไม่เร่งรีบเกินไป ซึ่งส่งผลดีทั้งต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเรา

  • ฝึกสติในรูปแบบอื่นๆ เราไม่สามารถมีสติเฉพาะเวลากินเท่านั้น หากเราต้องการกินอย่างมีสติ เราจำเป็นต้องฝึกสติในการทำกิจกรรมอื่นๆ ควบคู่ไปด้วยในกิจวัตรประจำวัน เช่น การฝึกโยคะ การนั่งสมาธิ การเดินจงกรม การฝึกหายใจ การฝึกสติในทุกรูปแบบจะช่วยให้เรามีชีวิตอยู่กับปัจจุบันขณะ มีประโยชน์ต่อการทำงานและการดำเนินชีวิตโดยรวม
การกินอย่างมีสตินั้นต่างจากการงดเว้นอาหารเพื่อลดน้ำหนักหรือลดแคลอรี แต่เน้นที่การปรับปรุงความสัมพันธ์ของเรากับอาหารและประสบการณ์การกินโดยรวม น้ำหนักที่ลดลงเป็นเพียงผลพลอยได้ แต่สิ่งสำคัญที่เราคาดหวังจากการกินอย่างมีสติคือสุขนิสัยการกินที่ดี นำมาซึ่งสุขภาพที่แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ

6 เคล็ดลับง่ายๆ ในการกินอย่างมีสติ
  1. กินช้าๆ หยุดกินเมื่ออิ่ม
  2. ฟังเสียงร่างกาย กินเมื่อท้องหิว อย่ากินตามใจปากบ่อยเกินไป
  3. กินให้ตรงเวลา อย่ากินเรื่อยเปื่อย
  4. กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ 
  5. ไม่ควรทำกิจกรรมอื่นขณะกินอาหาร
  6. ใส่ใจส่วนผสมและการปรุงเช่นเดียวกับรูปลักษณ์และรสชาติ
อย่าลืมมีสติทุกครั้งก่อนจะหยิบอะไรเข้าปาก!! 





ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.verywellmind.com/what-is-mindful-eating-5207910
https://www.mindful.org/6-ways-practice-mindful-eating/

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)