OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

Eco Font ฟอนต์รักษ์โลก

1731 | 21 ธันวาคม 2564
Eco Font ฟอนต์รักษ์โลก
ปัจจุบันกระแสรักษ์โลกได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก และมักจะใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ใช้ทรัพยากรของโลกน้อยลง ทำให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจต่างๆ ต้องหันมาปรับตัวเพื่อตอบโจทย์เทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อมที่กำลังมาแรง ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ที่จำเป็นจะต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน

ก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์มีการปรับตัวครั้งใหญ่ในการตอบรับกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม อย่างเช่น การใช้กระดาษถนอมสายตาซึ่งในการผลิตจะลดการฟอกสีและไม่มีการเคลือบผิวกระดาษ หรือกระดาษที่ผลิตจากวัสดุทางการเกษตรที่ใช้แล้วผสมเยื่อหมุนเวียนทำใหม่ ทดแทนการใช้เยื่อต้นไม้แบบเดิมเท่ากับเป็นการลดการตัดต้นไม้เพื่อผลิตกระดาษได้

การเปลี่ยนหมึกที่ใช้ในการพิมพ์ จากหมึกพิมพ์ที่มีส่วนประกอบจากน้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งเป็นสารอันตรายต่อร่างกายและสามารถก่อโรคมะเร็งได้ มาเป็นการใช้หมึกพิมพ์ที่มีฐานจากพืช เช่น หมึกพิมพ์น้ำมันถั่วเหลือง (Soy Ink) และหมึกพิมพ์น้ำมันพืช (Vegetable Ink) ที่ปลอดภัยต่อมนุษย์และโลกมากกว่า

รวมถึงมีการวิจัยว่าตัวอักษรที่ใช้น้ำหมึกในการพิมพ์น้อย เพื่อให้ลดการใช้หมึกพิมพ์ เช่น ตัวอักษร Century Gothic, Time New Roman, Calibri และ Verdana โดยตัวอักษรภาษาอังกฤษที่ประหยัดน้ำหมึกมากที่สุดคือ Century Gothic เพราะมีเส้นบางและไม่มีขีดตรงส่วนหัวหรือหางของตัวอักษร

นอกจากนี้ ยังมีการผลิตตัวอักษรที่ลดการใช้หมึกพิมพ์ ที่พัฒนาโดยบริษัท SPRANQ ในเนเธอร์แลนด์ มีชื่อว่า Ecofont Vera Sans โดยจะมีการแทรกรูเล็กๆ ในแบบอักษรเพื่อลดการใช้หมึกพิมพ์ ซึ่งจะสามารถลดปริมาณหมึกได้ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับตัวอักษรตระกูล Vera Sans ด้วยกัน มีหลักการพัฒนา คือการหาวิธีการลดเส้นในตัวอักษรให้มากที่สุดโดยที่ผู้อ่านจะยังสามารถเข้าใจข้อความบนงานพิมพ์นั้นได้ และต่อมาก็มีผู้พัฒนาตัวอักษรลดการใช้หมึกออกมาอีกหลายภาษา รวมถึงภาษาไทยด้วย

Thai Eco Font ตัวอักษรไทยรักษ์โลก 
เป็นชุดตัวอักษรไทยประหยัดหมึก ด้วยการใช้ตัวอักษร TH Sarabun ที่มักจะใช้ในหน่วยงานราชการไทยมาพัฒนาและต่อยอด ลดขนาดพื้นที่ภายในแต่ละตัวอักษรลง และลดปริมาณ Black Pixel ในตัวอักษรลงให้มากที่สุด ซึ่งผลลัพธ์ของการพัฒนานี้ทำให้สามารถประหยัดหมึกพิมพ์ได้มากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้ชื่อว่า TH Imjai-Ecofont มีชุดตัวอักษรที่พัฒนามีให้เลือกใช้งานถึง 13 แบบ ตามรูปแบบตัวอักษรภาษาไทยที่มีการใช้งานกันอย่างเป็นทางการ

Thai Eco Font เป็นผลงานของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทนงศักดิ์ อิ่มใจ ดร.ชิระวัฒน์ วัฒนพานิช อาจารย์จากสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และทีมนักวิจัย ที่มองเห็นถึงปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อหมึกพิมพ์ของทั้งภาครัฐและเอกชนที่แต่ละปีจะต้องทุ่มงบประมาณไปกับการจัดซื้อหมึกสำหรับพิมพ์เอกสารและวัสดุสิ้นเปลืองเป็นจำนวนมาก จึงต้องการหาวิธีเพื่อลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ด้วยการใช้กระดาษพิมพ์ซ้ำ (Reused) และการใช้โหมดการพิมพ์แบบประหยัดหมึก แต่อย่างไรก็ตามวิธีการนี้ไม่สามารถนำไปใช้ได้ในกรณีต้องใช้เอกสารหรือสิ่งพิมพ์เป็นฉบับจริง
 
ดังนั้น จึงคิดค้นและพัฒนาตัวอักษรที่ลดการใช้หมึกพิมพ์ให้ได้มากที่สุดและยังคงความคมชัดของตัวอักษรไว้ให้เหมือนในงานเอกสารทั่วไป จนออกมาเป็น Thai Eco Font ซึ่งในปัจจุบันทีมวิจัยได้จดลิขสิทธิ์ฟอนต์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว และได้พัฒนารูปแบบตัวอักษร Thai Eco Font เวอร์ชัน 1.0 เพื่อให้สามารถดาวน์โหลดไปใช้งานกันได้ฟรี

จะเห็นได้ว่า เพียงแค่เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความเคยชิน อย่างการเปลี่ยนตัวอักษรสำหรับการพิมพ์งานแบบเดิมที่ใช้อยู่เป็นตัวอักษรแบบรักษ์โลก ก็เท่ากับเป็นการช่วยลดการใช้ทรัพยากรในการประหยัดหมึกเครื่องพิมพ์ และนับเป็นแนวทางปฏิบัติในการพิมพ์ที่ยั่งยืนเลยทีเดียว





ที่มาของข้อมูล:
https://en.wikipedia.org/wiki/Ecofont
https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9540000112640 
https://urbancreature.co/thai-eco-font/ 
https://engineer.wu.ac.th/?page_id=16278 
https://www.designil.com/imjai-ecofont/ 
https://www.wu.ac.th/th/news/20479 
https://www.inkstation.com.au/blog/6-green-printing-tips-for-sustainability/

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)