OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

Botanical Art Illustration บันทึกเรื่องราวจากธรรมชาติ ด้วยศาสตร์และศิลป์

3945 | 16 ธันวาคม 2564
Botanical Art  Illustration บันทึกเรื่องราวจากธรรมชาติ ด้วยศาสตร์และศิลป์

ปัจจุบัน เทคโนโลยีต่างๆ เจริญรุดหน้าไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทุกคนสามารถเป็นช่างภาพได้ แค่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาก็สามารถถ่ายภาพสิ่งต่างๆ ได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว

แต่ในยุคที่ยังไม่มีกล้องถ่ายภาพ จึงต้องบันทึกภาพพืชพรรณต่างๆ ผ่านการวาดภาพเพียงอย่างเดียว ซึ่งถือเป็นวิธีที่นักสำรวจพันธุ์พืช สามารถสื่อสารรายละเอียดของพืช ทั้งราก ลำต้น ดอก ใบ ผล เมล็ด ให้ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่คนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้าต่อไป

ภาพวาดชนิดนี้ เป็นภาพวาดทางพฤษศาสตร์ธรรมชาติ (Botanical Art Illustration) หรืองานศิลปพฤกษศาสตร์ ถือศิลปะเฉพาะทางด้านพืชพรรณต่างๆ ที่รวมเอาวิทยาศาสตร์และศิลปะเข้าด้วยกัน 

แต่การบันทึกภาพส่วนต่างๆ ของพืชที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะ ก็ล้วนแฝงไปด้วยอารมณ์และความรู้สึกของผู้สร้างสรรค์ นอกจากนั้นยังสามารถเน้นให้เห็นรายละเอียดสำคัญ สะท้อนความแตกต่างเพียงจุดเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยความละเอียดอ่อน ถือเป็นสิ่งกล้องถ่ายรูปไม่สามารถทำได้

ด้วยเหตุนี้ ทำให้การวาดภาพที่แสดงรายละเอียดของพืชพรรณ ต้นไม้ต่างๆ ยังคงได้รับความนิยมจวบจนปัจจุบัน เพราะเสน่ห์ของมันนั่นเอง

ภาพวาดทางพฤษศาสตร์ธรรมชาติ (Botanical Art Illustration) เป็นศาสตร์ที่เกิดจากส่วนผสมระหว่างวิทยาศาสตร์ นั่นก็คือความถูกต้องตามความเป็นจริงที่ปรากฎในธรรมชาติ และศิลปะที่เกิดจากการสร้างสรรค์โดยมนุษย์ที่ถูกปรุงแต่งด้วยจินตนาการและอารมณ์ ซึ่งงานศิลปพฤกษศาสตร์จำเป็นต้องมีองค์ประกอบด้วย 3 ส่วนเข้าด้วยกัน ดังนี้

  1. สัดส่วนของพืชพรรณ มีสัดส่วนที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ (Scientific Accuracy)

  2. รายละเอียดของพืช มีการสังเกตรายละเอียดอย่างครบถ้วน และแม่นยำ (Keen Observation)

  3. ความสวยงาม ผลงานมีความสวยงามและมีคุณค่าทางศิลปะ (Aesthetic)

งานศิลปพฤกษศาสตร์ สามารถแบ่งออกคร่าวๆ ได้เป็น 3 ประเภท คือ

  1. ภาพเหมือนทางพฤกษศาสตร์ (Botanical Illustration) ผลงานประเภทนี้มักถูกนำมาใช้ในงานวิชาการ รายละเอียดและองค์ประกอบต่างๆ ของพืชพรรณต้องครบถ้วน ชัดเจน สามารถบ่งบอกถึงพืชพรรณชนิดต่างๆ ได้ จุดสำคัญที่สุดคือความถูกต้องของสัดส่วน ตามมาด้วยการสังเกตรายละเอียดต่างๆ ของพืชและความสวยงาม เราสามารถพบเห็นผลงานประเภทนี้ได้ในพจนานุกรม หนังสือวิทยาศาสตร์ เป็นต้น เทคนิคในการวาดมักจะใช้ปากกาดำเขียนเป็นเส้นบนพิมพ์กระดาษขาว

       

  2. ภาพวาดพฤกษศาสตร์  (Botanical Painting) ประเภทนี้จะเน้นที่ความสวยงามมาก่อน แล้วตามด้วยการสังเกตรายละเอียดต่างๆ ของพืช ปิดท้ายด้วยเรื่องของสัดส่วนต้องถูกต้องตามความเป็นจริง


    Myristica Fragrans' Hout. (Myristicaceae). Nutmeg Tree. From an album of 40 drawings made by Chinese artists at Bencoolen, Sumatra, for Sir Stamford Raffles. Watercolour. Originally published/produced in c.1824.

  3. ภาพวาดทางธรรมชาติ  (Nature Painting หรือ Flowers Painting) ภาพวาดที่เน้นความงามทางศิลปะ เน้นสุนทรีย์ทางอารมณ์และจินตนาการเป็นหลักสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงาน ส่วนการสังเกตรายละเอียดต่างๆ และสัดส่วนที่ถูกต้องตามความเป็นจริงนั้นไม่จำเป็น  เช่น ภาพดอกไม้ในแจกัน (Still Life) สีสันของภาพขึ้นอยู่กับอารมณ์ของศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน โดยไม่ได้อิงกับความถูกต้องของสีจริงของพืชดอก


    Still Life with Flowers. Creator: Nemecký. Date: 1710-1750. Identifier: O 895 Institution: Slovak National Gallery. Provider: Slovak National Gallery. Providing Country: Slovakia. PD for Public Domain Mark


ปัจจุบัน เรามีกล้องโทรศัพท์มือถือที่มีความละเอียดสูง สามารถเก็บรายละเอียดของพืชพรรณได้อย่างครบถ้วนและรวดเร็วก็ตาม แต่เสน่ห์ของงานศิลปพฤกศาสตร์คือการสร้างสรรค์ผลงานที่รุ่มรวยไปด้วยอารมณ์และความรู้สึกศิลปินผู้สร้างสรรค์ 

เนื้อแท้ของมันคือการที่มนุษย์เริ่มกลับมาพินิจพิเคราะห์ผลงานที่สร้างสรรค์โดยมนุษย์เอง มากกว่าวัตถุที่พัฒนาไปเร็วอย่างไม่มีที่สิ้นสุด




ข้อมูลประกอบการเขียน
หนังสือขอเพียงแต่เห็น โดย ลลิตา โรจนกร
http://www.rspg.or.th/articles/painting/painting3-2.htm
https://th-th.facebook.com/artlearning.satitchula/posts/1677987445629987/
https://adaybulletin.com/talk-guest-geek-05-botanical-artist-sansanee-deekrajang/34685

Tags : Botanical Art

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)