OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

เป็นวันนั้นของเดือนอย่างไรให้รักษ์โลก

8086 | 4 ตุลาคม 2564
เป็นวันนั้นของเดือนอย่างไรให้รักษ์โลก
รู้หรือไม่ว่า ในวันนั้นของเดือนของสาวๆ เป็นช่วงที่สร้างขยะจำนวนมากมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการมีประจำเดือนเป็นเรื่องปกติของผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ ที่จำเป็นจะต้องใช้ผ้าอนามัยเพื่อรักษาสุขอนามัยส่วนตัว ในการรองรับดูดซับเลือดประจำเดือนหรือระดู ส่งผลให้ในแต่ละปีมีขยะจากผ้าอนามัยมากกว่า 12,000 ล้านชิ้น ซึ่งเป็นขยะติดเชื้อและไม่สามารถรีไซเคิลได้

รู้จัก “ผ้าอนามัย”
ผ้าอนามัย หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ซับเลือดประจำเดือน ทำจากวัสดุห่อหุ้มและวัสดุเนื้อใน มีความนุ่ม สะอาด และมีคุณสมบัติดูดซึมของเหลวได้ดี จัดเป็นเครื่องอุปโภคที่จำเป็นสำหรับสตรี ทำด้วยวัสดุที่มีคุณลักษณะซึมซับได้ดี หุ้มด้วยผ้าสำลี และมีส่วนประกอบหลัก คือสารที่มีคุณสมบัติดูดซับ แผ่นฟิล์ม แถบกาว และอาจผสมสารอื่นๆ เพื่อเสริมให้ผลิตภัณฑ์น่าใช้ เช่น สี กลิ่น สารให้ความเย็น ซึ่งสารเหล่านี้จะต้องสอดคล้องกับประกาศฯ เกี่ยวกับสารด้านเครื่องสำอาง โดยกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้ผ้าอนามัยเป็นเครื่องสำอางที่กำหนดคุณภาพมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณะสุข ฉบับที่ 22 (2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2517 เพื่อควบคุมคุณภาพให้ปลอดภัยต่อผู้ใช้ 

ผ้าอนามัย แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
  1. ผ้าอนามัยใช้ภายนอก หมายถึง ผ้าอนามัยที่ใช้รองรับดูดซึมเลือดประจำเดือน ซึ่งมิได้สอดใส่เข้าไปในช่องคลอด และต้องผลิตให้ถูกสุขลักษณะ แบ่งออกเป็น 3 แบบ ได้แก่ แบบห่วง แบบแถบปลาย แบบแถบกาว

  2. ผ้าอนามัยชนิดสอด หมายถึง ผ้าอนามัยที่ใช้สอดใส่เข้าในช่องคลอดเพื่อดูดซึมเลือดประจำเดือนและต้องผลิตโดยวิธีการปลอดเชื้อ
ขยะจากผ้าอนามัย
ผ้าอนามัยที่ใช้แล้ว นับเป็นขยะที่ย่อยสลายยาก เนื่องจากในผ้าอนามัยแต่ละแผ่นมีส่วนผสมของพลาสติกอยู่ประมาณ 3.4 กรัม ซึ่งในแต่ละปีมีขยะจากผ้าอนามัยมากกว่า 12,000 ล้านชิ้น เท่ากับว่ามีปริมาณขยะพลาสติกมากถึง 40 ล้านตัน และในผ้าอนามัยยังมีส่วนผสมของวัสดุอื่นๆ เช่น เยื่อกระดาษ เจลซึมซับของเหลว และสารอินทรีย์ที่แทรกตัวอยู่ภายใน ทำให้ไม่สามารถแยกออกและนำไปรีไซเคิลได้ นอกจากนี้ ผ้าอนามัยที่เราใช้กันมักจะมีบรรจุภัณฑ์ห่อหุ้มปิดผนึกสำหรับแต่ละแผ่นและรวมแพ็คของผลิตภัณฑ์ เพื่อสุขอนามัยส่วนบุคคล และป้องกันฝุ่น สิ่งแปลกปลอม แมลงต่างๆ ที่ส่วนใหญ่มักทำจากพลาสติก ซึ่งเท่ากับว่า ในแต่ละเดือนของผู้หญิงทั่วโลกจะสร้างปริมาณขยะพลาสติกจำนวนมากมายมหาศาล

เลือกผ้าอนามัยอย่างไรให้ไม่เป็นภาระสิ่งแวดล้อม?
ในปัจจุบันได้มีผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัยและผลิตภัณฑ์ทางเลือกสำหรับประจำเดือนที่หลากหลาย ผลิตมาเพื่อลดปัญหาขยะและคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่จะตามมา นับได้ว่าเป็นทางเลือกให้กับสาวๆ สายรักสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น

ผ้าอนามัยซักได้
ผ้าอนามัยแบบซักได้ ได้รับความนิยมใช้กันในประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น โดยการใช้งานผ้าอนามัยและรูปทรงจะไม่แตกต่างกันแบบผ้าอนามัยแบบที่มีขายอยู่ในท้องตลาด และมีกระดุมเพื่อใช้ยึดติดกับกางเกงชั้นใน มักจะผลิตจากผ้าฝ้ายหรือเส้นใยธรรมชาติอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติในการซึมซับน้ำและระบายอากาศได้ดี ทำให้ไม่เกิดการหมักหมมและมีกลิ่นอับ อีกทั้งยังลดการระคายเคืองจากสารเคมีในผ้าอนามัย เมื่อใช้แล้วสามารถซักทำความสะอาดได้ ด้วยการแช่น้ำเย็นผสมเบกกิ้งโซดา เพื่อช่วยให้คราบเลือดหลุดง่ายขึ้น และซักด้วยสบู่หรือน้ำยาซักผ้าเด็ก จากนั้นจึงนำไปตากแดดหรือตากในที่อากาศถ่ายเทให้แห้งสนิท ซึ่งผ้าอนามัยแบบซักได้ 1 ผืน จะมีอายุการใช้งานประมาณ 5 ปี ทำให้ช่วยลดจำนวนขยะและประหยัดค่าใช้จ่ายได้ในระยะยาว



กางเกงในอนามัยซักได้
กางเกงในอนามัยซักได้ สามารถสวมใส่แบบกางเกงชั้นในทั่วไปแทนผ้าอนามัยได้เลย แต่หากวันไหนมามาก ให้ใส่ควบคู่กับผ้าอนามัย ถ้วยอนามัย หรือผลิตภัณฑ์ทางเลือกสำหรับประจำเดือนอื่นๆ ทำมาจากผ้าฝ้ายและเส้นใยที่มีคุณสมบัติซึมซับ ที่ใช้เทคโนโลยีและวัสดุพิเศษที่มีคุณสมบัติป้องกันการซึมเปื้อน กักเก็บของเหลวได้ และระบายอากาศได้ดี โดยวิธีการซักทำความสะอาดก็สามารถทำเช่นเดียวกับผ้าอนามัยซักได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารฟอกขาว น้ำยาปรับผ้านุ่ม ห้ามนำเข้าเครื่องอบผ้าและรีดด้วยความร้อน เพื่อรักษาคุณสมบัติของกางเกงในอนามัย ซึ่งกางเกงในอนามัยซักได้จะมีอายุการใช้งานประมาณ  2 ปี

ถ้วยอนามัย
ถ้วยอนามัย เป็นอุปกรณ์กักเก็บประจำเดือนสำหรับผู้หญิง มีลักษณะเป็นทรงกรวยคล้ายถ้วย โดยขนาดมาตรฐานมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เซนติเมตร บริเวณก้นถ้วยด้านนอกจะมีก้านเล็กๆ ส่วนใหญ่มักทำมาจากยางหรือซิลิโคนทางการแพทย์ จึงมีความยืดหยุ่นและพับได้ ทั้งนี้ ในการใช้ถ้วยอนามัยครั้งแรกควรนำไปต้มในน้ำร้อน ประมาณ 5-10 นาที และพักให้อุณหภูมิลดลง จากนั้นนำไปล้างอีกครั้งด้วยสบู่อ่อนและน้ำเปล่า โดยให้เลือกใช้สบู่ที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำมัน เพราะอาจทำให้ยางหรือซิลิโคนเสื่อมสภาพและเกิดปัญหาในการใช้งานได้ จากนั้นจึงใช้ผ้าสะอาดซับให้แห้ง


 
และในการใช้งานถ้วยอนามัยในแต่ละครั้ง ไม่ควรใช้นานเกิน 12 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรค และเมื่อใช้เสร็จในแต่ละครั้ง ควรล้างทำความสะอาดถ้วยอนามัยด้วยน้ำอุ่นและใช้สบู่สูตรอ่อนโยนที่ปราศจากไขมัน ทั้งนี้ เมื่อหมดประจำเดือน ควรล้างทำความสะอาดและต้มในน้ำร้อนเพื่อฆ่าเชื้อโรค และเก็บใส่ถุงผ้าที่ไม่อับชื้นและระบายอากาศได้ โดยทั่วไปแล้วถ้วยอนามัยสามารถใช้งานได้ยาวนานประมาณ 10 ปี

ผ้าอนามัยย่อยสลายได้
ผ้าอนามัยย่อยสลายได้หรือผ้าอนามัยออร์แกนิก เป็นผ้าอนามัยที่ปราศจากอันตรายจากสารเคมีและการใช้สีในกระบวนการผลิต มีลักษณะและรูปทรงเช่นเดียวกับผ้าอนามัยแบบที่มีขายอยู่ทั่วไป เหมาะสำหรับผู้หญิงที่มีอาการแพ้หรือระคายเคืองจากสารเคมีในผ้าอนามัย เพราะผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น ฝ้าย เยื่อไม้ไผ่ ใยกล้วย ข้าวโพด เยื่อไม้ และพลาสติกชีวภาพ และสามารถย่อยสลายในสภาพแวดล้อมปกติได้ภายในระยะเวลาประมาณ 6-12 เดือน 

จะเห็นได้ว่า ผ้าอนามัยและผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมีรูปแบบหลากหลายและมีให้เลือกใช้ให้เหมาะกับสุขอนามัยส่วนตัวมากขึ้น นับได้ว่าเป็นทางเลือกสำหรับวันนั้นของเดือนให้เลือกใช้ได้ตามความสะดวกและเหมาะสมของแต่ละคน แถมยังเป็นการลดปัญหาขยะจากผ้าอนามัยได้อีกด้วย




ที่มาของข้อมูล:
https://www.silpa-mag.com/history/article_42842
https://zhort.link/hN4 
https://www.sanita.co.th/tips-th/sanitary-pads-03/
https://greendigitallibrary.deqp.go.th/news/detail/712
https://datacenter.deqp.go.th/knowledge/environmentdoc/7/
https://www.punpro.com/p/menstrual-cloth-pads
https://www.pynpy.com/th/how-it-works-th/ 
https://zhort.link/hWP 
https://m.facebook.com/3WheelsUncle/posts/606963703385739?comment_id=606977816717661 
https://m.facebook.com/brandthink.me/photos/a.1767934240198787/2886301268362073/?type=3&source=48
https://www.greenery.org/articles/alternative-sanitary-pad/
https://www.shopat24.com/blog/health/get-to-know-the-different-types-of-sanitary-napkins-how-are-eac...
https://www.wongnai.com/articles/sanitary-napkin-for-woman
https://www.brandthink.me/content/sanitary_napkin_zero_waste
https://www.greenpeace.org/thailand/story/2471/how-to-reduce-waste/
https://adaymagazine.com/ira-concept

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)