OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

Green City เมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

13052 | 27 กันยายน 2564
Green City เมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบัน เทรนด์เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นกระแสที่ใครๆ ก็ให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน ข้าวของเครื่องใช้ บ้านเรือนที่อยู่อาศัย รถรายานพาหนะ ต่างก็ต้องใส่ใจและพยายามจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา ซึ่งนอกจากที่ผู้บริโภคจะตระหนักและตื่นตัวต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นแล้ว แนวทางหรือนโยบายการพัฒนาเมืองก็มีการพูดถึงถึงเรื่องความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน

ในหลายๆ เมืองทั่วโลกได้ดำเนินแนวทางการพัฒนาและขับเคลื่อนความเป็นเมืองให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือ Green city มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศสิงคโปร์ ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองที่มีอากาศบริสุทธิ์ น้ำสะอาด และให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ด้วยการมุ่งพัฒนาให้เป็นเมืองแห่งสวนและเพื่อเพิ่มคุณภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่สีเขียว
 
กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก็ได้พัฒนาและเพิ่มพื้นที่สีเขียวในสวนสาธารณะและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน เช่นเดียวกับ เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ที่ส่งเสริมและใช้พลังงานหมุนเวียนจากน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ในเมืองอีกด้วย นอกจากนี้ ประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และหลายประเทศในสหภาพยุโรป ต่างก็แสดงเจตจำนงเพื่อร่วมมือกันแก้ไขและบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกด้วยเช่นกัน 

รู้จัก Green City
Green City หรือ เมืองสีเขียว หรือ เมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หมายถึงเมืองที่ออกแบบโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีประชากรที่ตระหนักและมีจิตสำนึกร่วมกันถึงระบบนิเวศและดำเนินชีวิตบนแนวคิดของความยั่งยืน เพื่อลดการพึ่งพาการใช้ทรัพยากร ทั้งพลังงาน อาหารและน้ำ รวมไปถึงลดการปลดปล่อยของเสียในระบบนิเวศ ทั้งในรูปของความร้อนและมลพิษต่างๆ ซึ่งจะทำให้เป็นเมืองที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเองและไม่จำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรจากพื้นที่ภายนอก สามารถสร้างพลังงานได้เองจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ มุ่งเน้นการสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นในพื้นที่เมือง
 
โดยมีหลักการสำคัญในการลดขนาดรอยเท้านิเวศ (หรือ Ecological footprint หมายถึงผลกระทบของกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์) และลดการปล่อยมลพิษให้อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ วางแผนการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ เลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติ ลดปริมาณของเสียด้วยกระบวนการรีไซเคิลหรือแปลงของเสียเป็นพลังงาน และลดการเป็นสาเหตุของการสร้างสภาวะโลกร้อนในภาพรวม ทั้งนี้ เพื่อให้ประชากรที่อยู่อาศัยในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี

องค์ประกอบของ Green city 
กรุงเทพมหานครและศูนย์บริการวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันศึกษาเกณฑ์การชี้วัดความเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของทุกทวีปทั่วโลก พบว่า ในทวีปเอเชียจะพิจารณาองค์ประกอบของการเป็นเมืองสีเขียว ออกเป็นด้านต่างๆ จะสามารถนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาและใช้ในการนำร่องพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็น Green city ได้ ดังนี้
  1. ด้านการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยจะมีการคำนวนปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อคน และปริมาณการใช้พลังงานต่อหน่วยผลิตภัณฑ์รวมของประเทศ
  2. ด้านการใช้ที่ดินและอาคาร จะคำนวนสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากร (ตารางเมตรต่อคน) ความหนาแน่นของประชากร (คนต่อตารางเมตร) รวมถึงนโยบายด้านการใช้ประโยชนที่ดินและอาคารเขียว
  3. ด้านการขนส่งและจราจร จะพิจารณาจากนโยบายการให้บริการรถขนล่งสาธารณะ เครือข่ายการให้บริการรถขนล่งสาธารณะ และนโยบายการลดปัญหาจราจรติดขัด
  4. ด้านของเสีย จะคำนวณอัตราการเกิดขยะมูลฝอยต่อประชากร (กิโลกรัมต่อคน) สัดส่วนของขยะมูลฝอยที่สามารถเก็บขนได้และได้รับการกำจัดอย่างถูกหลักสุขาภิบาล นโยบายการลดของเสียใช้ซ้ำและการนำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงนโยบายการเก็บขนและการกำจัดของเสียของเมือง
  5. ด้านน้ำ จะคำนวณอัตราการใช้น้ำต่อคน (ลิตรต่อคน) สัดส่วนปริมาณน้ำสูญเสียของระบบจ่ายน้ำประปา นโยบายด้านคุณภาพน้ำผิวดินและน้ำดื่ม และนโยบายด้านการจัดการแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน
  6. ด้านการสุขาภิบาล จะคำนวนสัดส่วนของประชาชนที่เข้าถึงระบบสุขาภิบาล เช่น มีระบบจัดการน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลที่ถูกสุขลักษณะ สัดส่วนปริมาณน้ำเสียที่สามารถรวบรวมและบำบัดได้ และนโยบายด้านการสุขาภิบาลของเมือง
  7. ด้านคุณภาพอากาศ จะคำนวณระดับความเข้มข้นของก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ออกไซด์ อนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM10) ในอากาศ รวมถึงนโยบายการรักษาคุณภาพอากาศ
  8. ด้านธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม พิจารณาจากนโยบายและแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อม แนวทางการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการสิ่งแวดล้อม
โดยองค์ประกอบที่ใช้พิจารณาการเป็นเมืองสีเขียวนี้ สอดคล้องกับตัวชี้วัดสำหรับมาตรฐานของการเป็นเมืองสีเขียว หรือ European Green City Index ที่กลุ่มประเทศสมาชิกแห่งยุโรป ได้ร่วมกันกำหนดการออกแบบและวางผังให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองให้มีความร่มรื่นและรื่นรมย์ และนำไปสู่การเป็นเมืองสีเขียว ที่ประกอบด้วยการกำหนดระดับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ระดับการใช้พลังงาน (Energy) จำนวนอาคารที่ออกแบบโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม (Buildings) ปริมาณของระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Transport) ระบบการจัดการขยะและของเสีย (Waste and land-use) ปริมาณการใช้น้ำและระบบบำบัดน้ำเสีย (Water) ปริมาณไนโตรเจนในอากาศ ซึ่งแสดงถึงคุณภาพของอากาศ (Air quality) และระบบการจัดการบริหารเมือง (Environmental governance)

จะเห็นได้ว่า ในการจะพัฒนาเมืองไปสู่การเป็นเมืองสีเขียวอย่างสมบูรณ์แบบที่จะมีครบองค์ประกอบทั้ง 8 ข้อที่กล่าวมาในข้างต้นนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยากและมีข้อจำกัดอยู่ค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ตาม หากหลายคนหลายฝ่ายร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเอง ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ พัฒนากันตามกำลังความสามารถ ก็จะสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีร่วมกัน และจะเป็นเมืองสีเขียวที่ประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพได้
โลกจะเขียวได้ด้วยมือของพวกเราที่ช่วยกัน!! 





ที่มาของข้อมูล:
https://zhort.link/gHs 
https://www.community.or.th/blog/2020/03/14/green-city/
https://umapupphachai.medium.com/green-cities-10ad6ab581eb
http://thailandsmartcities.blogspot.com/2016/10/green-city.html
https://www.naewna.com/lady/columnist/45050 
https://www.prachachat.net/columns/news-250364
https://zhort.link/gHt 
https://zhort.link/gHu
https://zhort.link/gHv 

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)