OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

ครีมกันแดดแบบไหน ไม่ทำร้ายปะการัง

1827 | 16 กันยายน 2564
ครีมกันแดดแบบไหน ไม่ทำร้ายปะการัง
ในการเดินทางท่องเที่ยวสำหรับคนชอบเที่ยวคงมีสิ่งของจำเป็นที่ต้องใช้ต้องเตรียมมากมาย แต่ถ้าหากไปเที่ยวทะเล ไอเทมที่ขาดไม่ได้เลยก็คือครีมกันแดด เพื่อใช้ในการปกป้องผิวจากรังสียูวีที่รุนแรง ซึ่งคำแนะนำจาก กูรูด้านความงามต่างๆ มักจะแนะนำว่าต้องเป็นครีมกันแดดชนิดกันน้ำได้ และควรทาบ่อยๆ เพื่อการป้องกันครีมชะล้างระหว่างอยู่ในน้ำและละลายหลุดระหว่างวัน 

แต่รู้หรือไม่ ว่าครีมกันแดดที่เราใช้ปกป้องผิวนั้น กลับส่งผลร้ายต่อปะการังและธรรมชาติ เพราะเมื่อเล่นน้ำ ว่ายน้ำ หรือดำน้ำ สารเคมีในครีมกันแดดจะถูกชะล้างออกไปและปนเปื้อนตกค้างอยู่ในน้ำทะเล โดยเฉพาะ สารเคมีที่มักพบในครีมกันแดด อย่างเช่น สาร Oxybenzone ที่มีคุณสมบัติช่วยดูดซับรังสียูวีให้มีความเข้มข้นน้อยลง ไม่ไปทำร้ายชั้นผิวและช่วยเพิ่มความเสถียรในการปกป้องผิวจากแสงแดด สาร Octinoxate ที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องผิวจากรังสียูวีบี สาร 4-Methylbenzylid ที่จะช่วยปกป้องผิวจากแสงแดดด้วยการดูดซับรังสียูวีและเป็นตัวช่วยร่วมกับสารเคมีตัวอื่นๆ เพื่อเพิ่มความเสถียรในการปกป้องผิวจากแสงแดด และสาร Butylparaben หรือพาราเบน เป็นสารกันเสียที่ช่วยยืดอายุการใช้งานของกันแดดให้ใช้ได้นานขึ้น มีหน้าที่ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียไม่ให้เจริญเติบโต 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสารเคมีแต่ละตัวในครีมกันแดดจะมีคุณสมบัติที่ดีและสามารถปกป้องผิวจากแสงแดดได้ แต่ก็มีผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อมและปะการัง ที่จะสร้างความเสียหายกับดีเอ็นเอของปะการังที่โตเต็มที่ ขัดขวางระบบสืบพันธุ์ ทำลายโครงสร้างภายในของตัวอ่อนปะการัง ทำให้ปะการังฟอกขาว สูญเสียสีตามธรรมชาติ และตายได้ รวมถึงเป็นอันตรายต่อระบบการสืบพันธุ์ของสัตว์น้ำอีกด้วย

จากรายงานการวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Archives of Environmental Contamination and Toxicology ระบุว่า ในแต่ละปีจะมีปริมาณครีมกันแดดที่ปนเปื้อนในน้ำทะเลทั่วโลก มากถึง 14,000 ตัน ทั้งจากการถูกชะล้างขณะที่ลงเล่นน้ำและปนเปื้อนออกมากับน้ำที่ใช้ชำระล้างร่างกายผ่านท่อระบายน้ำเสีย 

ซึ่งหลายประเทศได้ตระหนักและออกมาตรการแบนผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่เป็นภัยต่อระบบนิเวศใต้ท้องทะเลและทำลายปะการัง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศปาเลา ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นประเทศแรกของโลกที่ออกกฎหมายห้ามนำเข้าและไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้หรือจำหน่ายในประเทศสำหรับครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารเคมี 10 ชนิด ที่เป็นอันตรายต่อแนวปะการังและสิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น oxybenzone, octinoxate, Ethyl paraben, Butyl paraben เป็นต้น 

รัฐฮาวาย ในสหรัฐอเมริกา ก็มีมาตรการสั่งแบนผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีส่วนผสมของ Oxybenzone และ Octinoxate อย่างเด็ดขาด โดยมีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 และ eco–parks ในประเทศเม็กซิโก ได้มีกฎระเบียบไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวใช้ครีมกันแดดที่มีสาร oxybenzone สำหรับแหล่งท่องเที่ยวบางแห่ง

นอกจากนี้ ประเทศไทยเองก็ได้ออกข้อออกประกาศห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมี 4 ชนิดที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งหากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ ไม่เกิน 100,000 บาท โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา

ดังนั้น เมื่อจะไปเที่ยวทะเลควรเลือกใช้ครีมกันแดดที่ไม่ทำลายปะการัง โดยอ่านส่วนประกอบของสารเคมีที่ใช้ในครีมกันแดด และมองหาคำว่า reef-safe ปลอดภัยต่อปะการัง หรือ Ocean Friendly เป็นมิตรกับมหาสมุทร/ทะเล หรือมองหาครีมกันแดดที่มีตราสัญลักษณ์ “Protect Land & Sea” นอกจากนี้ ยังควรใช้ครีมกันแดดแบบกันน้ำเพราะจะเกิดการชะล้างระหว่างอยู่ในน้ำน้อยกว่า และหลีกเลี่ยงการใช้ครีมกันแดดแบบสเปรย์ เพราะจะฟุ้งในอากาศและเคลือบลงบนพื้นทรายและไหลลงสู่ทะเล รวมถึงใช้หมวก เสื้อแขนยาว และร่ม เพื่อช่วยป้องกันแสงแดด

ไปเที่ยวทะเลคราวหน้า นอกจากจะดูแลปกป้องผิวแล้ว อย่าลืมช่วยกันดูแลธรรมชาติดูแลสิ่งแวดล้อมให้อยู่กับเราไปนานๆ ด้วยนะ





ที่มาของข้อมูล:
https://news.thaipbs.or.th/content/306657
https://news.thaipbs.or.th/content/287550 
https://datacenter.deqp.go.th/knowledge/environmentdoc/02en/ 
https://www.dailynews.co.th/news/123465/ 
https://1th.me/cVKSI 
https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/31/iid/36396 
https://www.thairath.co.th/women/beauty/1302677
https://www.dmcr.go.th/detailAll/52322/nws/
https://1th.me/uK0ER 
https://www.sdj-inter.co.th/post/subscreen-for-coral-reef 

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)