OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

วัสดุศาสตร์กับศิลปะแห่งเรือนเวลา

4862 | 13 กันยายน 2564
วัสดุศาสตร์กับศิลปะแห่งเรือนเวลา
นาฬิกาหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญมีหน้าที่ในการบ่งบอกเวลา นอกจากจะทำให้เราตระหนักได้ว่า เวลาที่ผ่านไปแต่ละนาทีนั้นมีคุณค่า

เมื่อเทคโนโลยีเจริญรุดหน้าไปอย่างมาก ทั้งกลไกและวัสดุศาสตร์ของนาฬิกาทวีความซับซ้อนมากขึ้น นาฬิกาไม่ได้เพียงเป็นเครื่องบอกเวลาเท่านั้น แต่มันยังสะท้อนตัวตนของผู้สวมใส่ ตลอดจนทำหน้าที่เป็นงานศิลปะชั้นดีที่อยู่ข้อมือ (Art piece)

นอกจากกลไกของนาฬิกาที่ถูกพัฒนาขึ้นมากมายหลายแบบเพื่อตอบสนองสุนทรียะของผู้สวมใส่แล้ว วัสดุที่นำมาทำนาฬิกา ก็เป็นผลพวงจากนวัตกรรมด้านวัสดุศาสตร์แทบทั้งสิ้น

วัสดุศาสตร์ จึงถือเป็นหนึ่งในตัวชูโรงที่ทำให้นาฬิกามีความน่าสนใจ ดึงดูดผู้ใช้และเหล่านักสะสม ตลอดจนทำให้นาฬิกามีคุณสมบัติ รูปลักษณ์ ผิวสัมผัส ที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวของวัสดุนั้น

สารพัดวัสดุ
วัสดุที่นำมาทำนาฬิกา ตั้งแต่ ตัวเรือน สาย เม็ดมะยม ฯลฯ ในแต่ละเรือนนั้นมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่โดดเด่น แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชอบและความพึงพอใจของผู้สวมใส่ ส่วนนาฬิกาจะทำจากวัสดุใดบ้าง วัสดุเหล่านั้นมีคุณสมบัติอย่างไร ลองไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัสดุศาสตร์ของนาฬิกากัน

สแตนเลสสตีล (Stainless steel) ถือเป็นวัสดุยอดนิยม เนื่องจากทนต่อการกัดกร่อนและมีความทนทานสูง ซึ่ง สแตนเลสสตีลที่ถูกนำมาใช้มี 2 ชนิดด้วยกัน
  • เกรด 904L โดย Rolex เป็นเจ้าแรกๆ ที่หยิบเอาวัสดุตัวนี้มีใช้ในการทำตัวเรือนและส่วนประกอบของนาฬิกา โดยใช้ชื่อของเจ้า 904L ว่า “Oystersteel” โดยมีส่วนผสมของโครเมียม (19-23%) โมลิบดีนัม (5%) และนิกเกิล (23-28%) จุดเด่นตรงที่มีส่วนผสมของนิกเกิลสูงกว่า 316L ทำให้มีคุณสมบัติทนทานต่อการสึกกร่อนสูงและให้ความเงางามเป็นพิเศษเมื่อขัด แต่อาจจะไม่เหมาะผู้ที่แพ้นิกเกิล นาฬิกาสแตนเลสสตีลของ Rolex ในปัจจุบันใช้เกรด 904L ทั้งหมด



  • เกรด 316L มีส่วนผสมของนิกเกิลน้อยกว่า 904L นิยมใช้ในการทำเครื่องมือทางการแพทย์ จนถูกเรียกว่า “เกรดมีดผ่าตัด” สแตนเลสสตีลเกรดนี้ได้รับความนิยมจากหลายแบรนด์ เช่น Omega, Panerai, IWC , JLC หรือแบรนด์หรูหราอย่าง Patek Philippe, Audemars Piguet ก็เลือกใช้ 316L ซึ่งถือว่าเป็นเกรด “มาตรฐาน” ของนาฬิกา
นอกจากนั้นในแบรนด์ Chopard มีการคิดค้นสแตนเลสสตีลสูตรลับเฉพาะของแบรนด์ ภายใต้ชื่อว่า “Lucent steel A223” ซึ่งโลหะชนิดใหม่นี้ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ แข็งกว่าเหล็กกล้าทั่วไป และเมื่อขัดแต่งแล้วให้ความเงางามเป็นพิเศษ

ไทแทนเนียม (Titanium) เป็นวัสดุที่ถูกใช้ในอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย รวมทั้งยังนิยมในการนำมาทำตัวเรือนและสายนาฬิกา เนื่องจากมีน้ำหนักเบา ทนต่อการกัดกร่อนสูง ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และไม่เป็นสื่อแม่เหล็ก

ปัจจุบันไทแทนเนียมในท้องตลาดถูกแบ่งเป็น 5 เกรด คือ 1 2 3 4 และ 5 ยิ่งเกรดต่ำจะแสดงถึงความบริสุทธิ์ของไทแทนเนียมค่อนข้างมาก ในขณะที่เกรดสูงขึ้นจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าไทแทนเนียมจะถูกผสมด้วยโลหะชนิดอื่น เพื่อคุณสมบัติที่ทนทานมากขึ้นของไทแทนเนียม โดยไทแทนเนียมเกรด 2 และเกรด 5 ถูกใช้บ่อยที่สุดสำหรับการทำนาฬิกา

กลุ่มโลหะมีค่า ปัจจุบันมีให้เลือกมากมายหลายชนิด แต่ละแบรนด์ก็ล้วนพัฒนาวัสดุขึ้นในแบบฉบับของตัวเอง
  • ทองคำ (Gold) ทองคำที่ใช้ในการทำตัวเรือนและสายนาฬิกา ปัจจุบันนิยมใช้ทองคำ 18 กะรัต เนื่องจากทองคำ 99.9% หรือ ทองคำ 24 กะรัต มีความแข็งของเนื้อวัสดุไม่พอที่จะทำตัวเรือนหรือสายนาฬิกา จึงต้องมีส่วนผสมของโลหะชนิดอื่นเข้าไปเพื่อเพิ่มความแข็ง



    ส่วนผสมพื้นฐานของทองคำจะประกอบด้วย ทองคำ 75% + เงิน 16% + ทองแดง 9% ซึ่งทองคำของแต่ละแบรนด์นาฬิกาล้วนมีสูตรลับเฉพาะของส่วนผสมโลหะ ทำให้สีของทองคำ ความคงทน ผิวสัมผัส มีลักษณะเฉพาะตัว อย่างกรณีของ Hublot ที่มีทองคำ “Magic Gold” ถือเป็นสิทธิบัตรเฉพาะ ถูกพัฒนาให้ทองคำกันรอยขีดข่วนได้ มีเพียงเพชรเท่านั้นที่ทำให้เกิดรอยขีดข่วนบนเนื้อทองคำ

  • โรสโกลด์ หรือพิงค์โกลด์ (Pink gold หรือ Rose gold) เป็นทองคำ 18 กะรัต มีส่วนผสมพื้นฐานจะประกอบด้วย ทองคำ 75% + เงิน 9 % + ทองแดง 16 % เนื่องจากมีส่วนผสมของทองแดงค่อนข้างมาก ทำให้มีสีเนื้อวัสดุอมชมพู ปัจจุบันทองคำชนิดนี้ถูกนำไปใช้ในการทำตัวเรือนและสายนาฬิกา รวมถึงเครื่องประดับต่างๆ มากมาย เนื่องจากมีสีสันที่สวยงามกว่าทองคำปกติ สามารถเข้ากับสีผิวได้ทุกสี

    โรสโกลด์ หรือพิงค์โกลด์ ก็มีสูตรลับเฉพาะของส่วนผสมอีกเช่นกัน ในกรณีของแบรนด์ Rolex มีชื่อเรียกว่า “เอเวอร์โรสโกลด์” (Everose gold) ซึ่งเป็นพิงค์โกลด์อัลลอยด์พิเศษ สูตรเฉพาะของ Rolex มีความทนทานสูง และขัดขึ้นเงาได้เป็นประกายงดงาม

  • ทองขาว (White gold) ทองขาว 18 กะรัต ที่มีส่วนผสมพื้นฐานคือ ทองคำ 75% + เงิน 5%+ พาลาเดียม 20%  ซึ่งส่วนผสมอีก 25% นอกจากทองคำนั้น จะทำให้เนื้อมีสีขาว มีความแข็งแรง สามารถขึ้นตัวเรือนได้ โดยปกติเนื้อของทองขาวจะมีสีขาวนวลๆ เนื่องจากมีส่วนผสมของทองคำ หากจะทำให้เนื้อของทองขาวมีสีขาวบริสุทธิ์ อาจจะต้องผ่านการชุบตัวเรือน หรือมีส่วนผสมที่เป็นสูตรลับของแต่ละแบรนด์ เพื่อให้เนื้อทองขาวใส ขัดแล้วเงางามตลอดอายุการใช้งาน

  • แพลตทินัม (Platinum) หรือทองคำขาว จริงๆแล้วแพลตทินัมไม่ส่วนประกอบ หรือความเกี่ยวข้องใดๆ กับทองคำเลย บางคนอาจเข้าใจผิดและสับสนว่าแพลตทินัมกับทองขาว เป็นวัสดุชนิดเดียวกัน โดยมีส่วนผสมพื้นฐานคือ แพลตทินัม 95% + รูทีเนียม หรือ อิริเดียม 5%

    แพลตทินัมเป็นแร่ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีสัญลักษณ์ในตารางธาตุคือ “Pt” ถือเป็นแร่ที่มีสีเงินเทาโดยไม่ต้องผสมส่วนประกอบอื่นเหมือนทองขาว ซึ่งแพลตทินัมจะถูกนำไปใช้ในนาฬิการุ่น Top ของแบรนด์ เนื่องจากเป็นโลหะที่หายากและมีราคาสูง ต้องผ่านกรรมวิธีที่ซับซ้อนในการทำตัวเรือนและสายนาฬิกา และมักจะมีการปั๊ม Hallmark เป็นตัวเลข 950 ซึ่งถือเป็นตรารับรองมาตรฐานของเครื่องประดับโลหะมีค่า

    แพลตทินัมมีความแข็งมากกว่าทองคำหรือเหล็ก มีน้ำหนักมากกว่าทองคำเมื่อนำมาขึ้นตัวเรือนและสายนาฬิกา ทนต่อการกัดกร่อนมาก เหมาะที่สุดสำหรับผิวที่แพ้ง่าย แพลตทินัม โดยทั่วๆไป จะมีความบริสุทธิ์ประมาณ 95% สีจะไม่ซีดจาง และจะคงความเงางามไปตลอดอายุการใช้งาน

  • เงิน (Silver) สำหรับโลหะมีค่าชนิดนี้ ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกๆ ในแบรนด์ Tudor ซึ่งนำแร่เงินที่มีส่วนประกอบถึง 92.5% โดยวัสดุประเภทนี้จะถูกเรียกว่า “Sterling Silver”มาเป็นวัสดุหลักในการทำตัวเรือนนาฬิกา โดยทางแบรนด์นั้นบอกว่า ตัวเรือนเงินแท้นั้นจะคงสภาพสวยงามตลอดอายุการใช้งานของนาฬิกา โดยไม่เกิดการสึกกร่อน หรือเกิดปฏิกิริยากับอากาศเหมือนเครื่องประดับที่ทำด้วยเงินทั่วไป แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมด้านวัสดุศาสตร์ของแบรนด์ที่พยายามฉีกกรอบกการใช้วัสดุแบบดั้งเดิมของนาฬิกา นอกจากนั้นยังทำให้วัสดุดังกล่าวมีคุณสมบัติเพิ่มขึ้นทั้งความคงทน และความสวยงาม อันเป็นผลมากจากส่วนผสมที่เป็นสูตรลับเฉพาะที่ทางแบรนด์ไม่อาจเปิดเผยได้

  • สัมฤทธิ์ (Bronze) เป็นโลหะผสมระหว่างทองแดง ดีบุก และสังกะสี  มีนาฬิกาหลากหลายแบรนด์ที่เลือกใช้วัสดุนี้ในการทำตัวเรือนและสายนาฬิกา เนื่องจากเมื่อใช้งานไประยะเวลานึง จะเกิดวัสดุชนิดนี้จะทำปฏิกิริยากับอากาศ และเหงื่อ หรือจะเรียกว่าเกิด “Patina” ทำให้พื้นผิวของตัวเรือนและสายนาฬิกา มีรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามอุปนิสัยและการใช้งานของผู้ส่วมใส่ จนได้รับการขนานนามว่า “โลหะมีชีวิต” เกิดความโดดเด่นและงดงามไม่ซ้ำใคร

แซฟไฟร์ (Sapphire) สำหรับวัสดุชนิดมักจะถูกทำเป็นกระจกหน้าปัดและฝาหลังของนาฬิกา แต่ไม่นานมานี้ก็มีหลายแบรนด์ที่ทดลองนำวัสดุชนิดนี้ มาสร้างสรรค์เป็นตัวเรือน ทำให้สามารถมองเห็นนาฬิกาได้ทะลุปรุโปร่งถึงกลไกกันเลยทีเดียว ด้วยคุณสมบัติที่มีความแข็งระดับ 9 รองจากเพชร ทนทานต่อรอยขีดข่วน และคงความสวยงามตลอดอายุการใช้งาน ถึงแม้จะแข็งแต่ก็มีความเปราะ 

สำหรับแซฟไฟร์ที่ใช้ทำนาฬิกา ผลิตจากแร่คอรันดัม หรืออะลูมิเนียมออกไซด์นั้น เกิดจากการเพาะเลี้ยงจากห้องแล็บ เมื่อได้ความใส สีและขนาดที่ต้องการ นำมาผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนและใช้เวลามาก จนได้ตัวเรือนนาฬิกาที่ไร้ที่ติ 

การนำแซฟไฟร์มาสร้างสรรค์เป็นตัวเรือนมีความซับซ้อนมากกว่าปกติ จึงต้องใช้ฝีมือ ต้นทุน และเวลา ทำให้นาฬิกาที่ใช้วัสดุชนิดนี้มีราคาสูง เจ้าแห่งวัสดุอย่างแบรนด์ Hublot ก็มีนาฬิการุ่น Big Bang Integral Tourbillon Full Sapphire ที่ตัวเรือนและสายนาฬิกาทำจากแซฟไฟร์ เรียกได้ว่า นี่คือความโปร่งใสและ “See through” อย่างแท้จริง

เซรามิก (Ceramic) เซรามิกมักถูกใช้กับอุปกรณ์บนโต๊ะอาหาร อุปกรณ์การแพทย์ และในอุตสาหกรรม แต่ยังมีแบรนด์นาฬิกาที่เลือกเซรามิกมาเป็นวัสดุหลักในการทำนาฬิกาอย่าง Rado ถือเป็นแบรนด์แรกๆ เป็นผู้พัฒนาวัสดุเซรามิกาที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัว หัวเรือใหญ่ของชาวแฟชั่นอย่าง Chanel ก็มีนาฬิการุ่นไอคอนนิคอย่าง J12 ที่เลือกใช้เซรามิกเป็นวัสดุหลักในการทำตัวเรือนนาฬิกา และสายนาฬิกา

เซรามิกยังถูกนำไปประกอบกับวัสดุอื่นในการทำนาฬิกา เพื่อสร้างผิวสัมผัสที่แตกต่าง หรือเพิ่มคุณสมบัติของชิ้นส่วนนั้นให้มีความคงทนมากกว่าเดิม เช่น กรณีของนาฬิการุ่นไอคอนนิคอย่าง Rolex Submariner ที่เลือกใช้เซรามิกบริเวณของขอบหน้าปัด (Bezel) เพื่อป้องกันรอยขีดข่วนได้เป็นอย่างดี



เซรามิกที่ใช้ทำตัวเรือนและสายนาฬิกานั้นผ่านความร้อนกว่า 1,300 °C มีคุณสมบัติที่ทนทานกว่าเหล็กกล้าถึงเจ็ดเท่า ป้องกันรอยขีดขวดต่างๆ จากการใช้งานเกือบ 100% ทำให้นาฬิกานั้นดูใหม่ สีสันคงเดิม ไม่ซีดจางตลอดอายุการใช้งาน แม้กระนั้นยังมีข้อเสียที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ นั่นก็คือเมื่อมีความแข็งมาก ความเปราะก็ตามมา การถูกกระแทกอย่างแรง อาจทำให้ตัวเรือนนาฬิกา หรือสายนาฬิกาแตกได้นั่นเอง

การเคลือบ PVD (Physical Vapor Deposition) เป็นการสร้างแผ่นฟิล์มบางๆ ที่มีความแข็งสูง ลดแรงเสียดทานบนพื้นผิว ทนต่อแรงขูดขีดและกัดกร่อน ป้องกันการเกิดออกซิเดชันบนตัวเรือนนาฬิกา 

การเคลือบ PVD สามารถทำได้บนหลากหลายพื้นผิวรวมไปถึงสแตนเลสสตีลและไทเทเนียมซึ่งเป็นวัสดุตัวเรือนที่แบรนด์นาฬิกาส่วนใหญ่เลือกใช้ ซึ่งนาฬิกาที่ผ่านการเคลือบ PVD เมื่อใช้ไปสักพักจะเกิดรอยขูดขีดตามการใช้งาน และอาจเกิดการจางของสารเคลือบ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของ PVD ริ้วรอยที่เกิดขึ้นบ่งบอกถึงเรื่องราวของผู้ส่วมใส่นาฬิกาได้เป็นอย่างดี

การเคลือบ DLC (Diamond-Like Carbon) นอกจากการเคลือบ PVD อีกกระบวนการเคลือบผิวที่นิยมเป็นอย่างมากสำหรับนาฬิกาในระยะหลังคือการเคลือบผิวแบบ DLC เป็นการเคลือบผิวด้วยฟิล์มคาร์บอน เกิดจากการสร้างพันธะร่วมกันระหว่างเพชร (Diamond) และกราไฟต์ (Carbon) มีคุณสมบัติความแข็งใกล้เคียงกับเพชร ทำให้ได้ชั้นฟิล์มมีความแข็งสูง ทนต่อการขีดข่วนมากกว่าการเคลือบแบบ PVD แทบจะไม่เกิดรอยขีดข่วนบนพื้นผิว ไม่มีการหลุดร่อนหรือซีดจางของชั้นฟิล์ม ยกเว้นกรณีถูกกระแทกอาจเกิดการกะเทาะของชั้นฟิล์มได้ โดยกระบวนการเคลือบแบบ DLC มีค่าใช้จ่ายสูง และใช้ระยะเวลาในการเคลือบนานกว่าแบบ PVD

วัสดุศาสตร์ซึ่งเป็นผลจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นอกจากจะทำให้นาฬิกามีวัสดุให้เลือกมากขึ้น คงทนขึ้น ยังเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงสุนทรียภาพของเรือนเวลา นอกเหนือจากรูปลักษณ์ การออกแบบ ความสลับซับซ้อนของกลไก 

นาฬิกาจึงเป็นมากกว่าเครื่องบอกเวลา แต่มันกลายเป็นผลงานศิลปะที่คุณสามารถดื่มด่ำได้เพียงข้อมือของคุณ

ได้รู้จักนาฬิกาดีขึ้นกว่าเดิมกันแล้ว 

คุณล่ะ มีนาฬิกาเรือนโปรดอยู่กี่เรือน!! 





ข้อมูลประกอบการเขียน
https://www.vogue.co.th/fashion/article/opalwatchesoct19om
https://www.rolex.com/th/watches/submariner/m124060-0001.html
https://www.rolex.com/th/about-rolex-watches/materials.html
https://watchessiam.com/2019/08/18/steel-expensive-than-gold/
https://watchessiam.com/2019/06/24/precious-metal-watches/
https://bit.ly/3iYCB0u
https://iamwatch.net/2017-11-27-00-43-23/2017-11-30-03-41-31/1126-pvd-vs-dlc
https://www.smri.asia/th/cnk/products/1380/
https://www.rado.com/int_th/about/materials/plasma-high-tech-ceramic
https://www.chanel.com/th/watches/j12-savoir-faire/#chapter1
https://anantajewelry.com/whitegold-vs-platinum/
https://bit.ly/3tunCQI
https://www.gcap.co.th/gcapgold/knowledge_detail.php?gcapnews_id=607
https://dekgenius.com/dictionary/englishtothai/hallmark-28948.htm
https://bit.ly/3EbCc4I
https://www.chopard.com/uk/alpine-eagle-design
https://watchessiam.com/2021/04/09/tudor-black-bay-fifty-eight-925-and-fifty-eight-18k/
https://www.gqthailand.com/toys/article/tudor-black-bay-fifty-eight-925-and-chrono
https://www.ana-digi.com/tudor-black-bay-fifty-eight-925/
https://www.ana-digi.com/tudor-black-bay-fifty-eight-bronze/
http://www.casio-presale.com/show_news.php?news_id=16
https://www.ablogtowatch.com/titanium-watch-guide/
https://lofficielthailand.com/2020/04/sapphire-crystal-case/
https://lofficielthailand.com/2021/08/watches-sapphire-case/
https://www.hublot.com/en-ch/watches/big-bang/big-bang-integral-tourbillon-full-sapphire-43-mm

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)