OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

กินแบบมินิมอล

1301 | 8 กันยายน 2564
กินแบบมินิมอล
ถ้าพูดคำว่า “มินิมอล” หลายคนคงนึกถึงเรื่องการออกแบบ งานศิลปะ งานสถาปัตยกรรม การตกแต่งบ้าน ที่เน้นความน้อย เรียบง่าย และไม่ซับซ้อน ซึ่งตรงกับวลีที่ว่า Less is More หรือ น้อยแต่มาก ของสถาปนิกลูกครึ่งเยอรมัน-อเมริกัน Ludwig Mies van der Rohe ที่เป็นกระแสสังคมที่หลายคนรับเข้ามาใช้ในการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ 

รู้จัก กระแสมินิมอล
มินิมอล (Minimal) หรือ มินิมอลลิสม์ (Minimalism) เป็นกระแสหนึ่งของกลุ่มศิลปินในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 ที่เกิดจากความเบื่อหน่ายกับกระแสงานศิลป์แบบ Abstract Expressionism ที่เป็นการสะบัดสีสันลงในงาน เพื่อแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งเจริญรุ่งเรืองและมีอิทธิพลมากในอเมริกายุคนั้น แต่ศิลปะแบบมินิมอลลิสต์ เป็นการถ่ายทอดสิ่งที่เรียบง่ายที่สุดและตัดทอนสิ่งอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น โดยลดทอนสีสัน รูปทรง ให้ดูเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แสดงออกถึงการมีอยู่ตามความที่เป็นจริงแบบตรงไปตรงมา 

กระแสมินิมอล ได้ถูกนำไปใช้ในงานศิลปะด้านอื่นๆ ด้วย เช่น งานสถาปัตยกรรม งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ งานออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงแนวทางในการดำเนินชีวิต เช่น การเลือกใช้ข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย การกินอยู่ เป็นต้น 

การดำเนินชีวิตแบบมินิมอล หรือการใช้ชีวิตแบบน้อยแต่มาก จะมุ่งเน้นความประหยัด ลดทอนหรือละทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป มีของเฉพาะที่จำเป็นต้องใช้และมีจำนวนที่ต้องใช้งานจริงเท่านั้น ฉะนั้น การจัดลำดับความสำคัญจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำสำหรับชาวมินิมอลลิสต์ ที่สะท้อนออกมาในรูปแบบของสไตล์การตกแต่งบ้าน ข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้าต่างๆ ที่มีเพียงสิ่งของที่จำเป็น เลือกซื้อของใช้ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ปรับเปลี่ยนหน้าที่การทำงานได้ และเลือกใช้วิธีการแลกเปลี่ยนหรือให้ยืมสิ่งของเพื่อลดการสะสม

นอกจากนี้ การดำเนินชีวิตแบบมินิมอลยังครอบคลุมไปถึงเรื่องการกินอยู่ ที่จะลดการซื้ออาหารที่มากเกินความจำเป็น และยังเป็นการลดขยะจากบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารอีกด้วย โดยวิธีที่จะสามารถควบคุมปริมาณขยะได้ ก็คือการทำอาหารรับประทานเอง เพราะยังจะสามารถเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และคุ้มค่ามากที่สุด

กินแบบมินิมอล
การกินแบบมินิมอล เป็นการกินที่เน้นความเรียบง่ายของมื้ออาหาร  โดยวางแผนการเลือกซื้อวัตถุดิบ เครื่องปรุงรส วิธีการปรุง ไปจนถึงคุณค่าทางโภชนาการที่ได้รับในอาหารแต่ละมื้อ ที่ต้องมีสมดุลระหว่างความคุณค่าของสารอาหารที่ร่างการควรได้รับ ความสะดวกในการเตรียมการ และการปรับส่วนผสมให้มีน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม อาหารที่เรียบง่ายของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความชอบ ความต้องการ และข้อกำหนด/ข้อจำกัดของแต่ละคน เช่น ไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่กินอาหารรสจัด 

จะต้องรู้ก่อนว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร และวางแผนว่าในแต่ละมื้ออาหารต้องการรับประทานอะไรและปริมาณเท่าไหร่ เพื่อจะได้วางแผนและคำนวณวัตถุดิบที่ต้องใช้ให้พอดี ไม่มากเกินไปจนเหลือทิ้ง และควรสังเกตวันหมดอายุของอาหารด้วยเพื่อจะได้ไม่ซื้อมามากเกินไป 

นอกจากนี้ ยังสามารถนำหลักการทางศิลปะมาประยุกต์ได้ เช่น 
  • ทำให้น้อยแต่มีประสิทธิภาพ หมายถึง การเลือกใช้วัตถุดิบเครื่องปรุงรสที่จำเป็น เน้นคุณค่าทางโภชนาการ ลดความซับซ้อนในขั้นตอนการลงมือทำ เน้นความเรียบง่ายในการปรุง
  • เรียบง่ายแต่ดูดี คือการเลือกใช้วัตถุดิบน้อยแต่เน้นที่มีประโยชน์ มีคุณค่าทางอาหาร และให้พลังงานสูง 
  • ไม่ต้องน้อยก็ได้ ความเป็นมินิมอลไม่ได้จำกัดว่าต้องน้อยชิ้นหรือปริมาณน้อยเท่านั้น แต่ความมาก-น้อยขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคน และควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่
ซึ่งข้อดีของการใช้ชีวิตแบบมินิมอลนี้ จะช่วยเราสามาระประหยัดค่าใช้จ่ายได้ เพราะเมื่อเราจะซื้อของแต่ละอย่าง เราจะต้องคิดแล้วว่าของชิ้นนั้น มีความจำเป็นที่ต้องใช้ และได้วางแผนการจับจ่ายใช้สอยก่อนจะซื้อแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะใช้ชีวิตมินิมอล แต่ในเรื่องของอาหารการกินก็ควรเลือกอาหารที่มีประโยชน์และดีต่อสุขภาพที่เป็นสำคัญ





ที่มาของข้อมูล
https://themomentum.co/minimalism-art/ 
https://bit.ly/3kYojOm
https://bit.ly/3tlzK6C
https://readthecloud.co/scoop-minimalist/ 
https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/894172/ 
https://faithandbacon.com/minimalist/ 
https://bit.ly/3BOlvu0
https://www.gourmetandcuisine.com/stories/detail/953
https://bit.ly/3C5CU1B

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)