OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

E-Waste ปัญหาขยะที่เป็นภาระสิ่งแวดล้อม

29695 | 5 สิงหาคม 2564
E-Waste ปัญหาขยะที่เป็นภาระสิ่งแวดล้อม
คุณเคยลองนับดูหรือไม่ ว่าในบ้านของคุณมีเครื่องใช้ไฟฟ้ากี่ชิ้น? หรือในกระเป๋าของคุณมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กี่อย่าง? 

นี่อาจจะเป็นคำถามที่ต้องใช้เวลาคิดคำตอบอยู่นานพอสมควร เพราะปัจจุบันนี้ เราอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว เราลองมาคิดง่ายๆ กันว่า ถ้าเรามีโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง อุปกรณ์ที่พ่วงมาด้วย จะมีสายชาร์จแบตเตอรี่ หูฟัง พาวเวอร์แบงค์ ซึ่งจะทำให้เรามีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว อย่างน้อย 4 ชิ้น และโดยเฉลี่ยโทรศัพท์มือถือจะมีอายุการใช้งานประมาณ 2 ปี นั่นหมายความว่า เมื่อเราซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ ก็จะได้อุปกรณ์เสริมเพิ่มมาเป็นเท่าตัว 

แล้วโทรศัพท์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าเครื่องเก่าของเราไปไหน? บางคนอาจจะขายเพื่อแลกซื้อเครื่องใหม่ บางคนอาจจะเก็บไว้เป็นที่ระลึกจนเก่าและเสื่อมสภาพรอวันทิ้ง หรือบางคนก็จะทิ้งรวมไปกับขยะอื่นๆ ในบ้านเลย

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกทิ้งเหล่านี้ ก็จะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ หากทิ้งไม่ถูกที่และกำจัดไม่ถูกวิธี จะกลายเป็นขยะที่อันตรายและเป็นภัยต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม จากรายงาน UN’s Global E-Waste Monitor 2020 พบว่า ในปี 2019 ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกสูงถึง 53.6 ล้านเมตริกตัน เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 21 ในเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น อีกทั้ง จากขยะอิเล็กทรอนิกส์หลายล้านเมตริกตันที่เกิดขึ้น มีขยะเพียงร้อยละ 17.4 เท่านั้นที่ถูกรวมรวม เพื่อส่งต่อไปยังสถานีรีไซเคิลอย่างเหมาะสม ทำให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันมีปริมาณเกือบเทียบเท่าบรรจุภัณฑ์พลาสติก 

ในขณะที่ประเทศไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์จากชุมชนกว่า 380,000 ตันต่อปี แต่ขยะเหล่านี้กลับถูกรวบรวม เพื่อส่งต่อไปสถานีรีไซเคิลอย่างถูกวิธีเพียงร้อยละ 7.1 ขณะที่ส่วนที่เหลือถูกนำไปกองรวมกับขยะมูลฝอยอื่นๆ รอการฝังกลบ หรือมีบางส่วนถูกกระจายไปยังร้านรับซื้อของเก่า เพื่อนำไปคัดแยกและรวบรวมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่า 

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ คืออะไร
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste (Electronic Waste) คือ ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ชนิดต่างๆ ที่หมดอายุการใช้งาน ล้าสมัย หรือที่ผู้บริโภคไม่ต้องการใช้งานแล้ว และถูกทิ้งเป็นขยะ ซึ่งชิ้นส่วนหลายชิ้นที่ไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ และมีสารประกอบที่เป็นพิษ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างรวดเร็ว ทำให้มีเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ระยะเวลาในการใช้งานของผู้บริโภคจึงใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ แล้วเปลี่ยนเครื่องใหม่ ซึ่งทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกทิ้งมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นทุกปีๆ 

ตามระเบียบว่าด้วยการจัดการเศษซากเหลือทิ้งจากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ WEEE (Waste from Electronic and Electronic Equipment) ที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ได้จำแนกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ออกเป็น 10 ประเภท ดังนี้ 
  1. เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ภายในครัวเรือน เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า เครื่องล้างจาน
  2. เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กภายในครัวเรือน เช่น เครื่องดูดฝุ่น เตารีด เครื่องปิ้งขนมปัง เครื่องเป่าผม มีดโกนไฟฟ้า
  3. อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก เครื่องสแกนเอกสาร โทรสาร โทรศัพท์ โทรศัพท์มือถือ
  4. เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคภายในบ้าน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ กล้องถ่ายภาพ เครื่องเล่นดนตรีไฟฟ้า
  5. อุปกรณ์ให้แสงสว่าง เช่น หลอดไฟประเภทต่าง ๆ
  6. เครื่องมือไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สว่านไฟฟ้า เลื่อยไฟฟ้า จักรเย็บผ้าไฟฟ้า
  7. ของเล่นหรืออุปกรณ์กีฬาที่ใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องเล่นเกมส์ ลู่วิ่งไฟฟ้า
  8. อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ 
  9. เครื่องมือตรวจวัดและควบคุมสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น เครื่องตรวจจับควัน เครื่องควบคุมอุณหภูมิ แผงควบคุมต่างๆ
  10. เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เช่น ตู้ ATM เครื่องจำหน่ายเครื่องดื่ม
ในประเทศไทย ขยะอิเล็กทรอนิกส์มาจาก 3 แหล่ง คือ 
  • ขยะอิเล็กทรอนิกส์จากครัวเรือน ที่เกิดจากการใช้งานในชีวิตประจำวัน รวมถึงขยะจากบริษัทและห้างร้านต่างๆ ซึ่งเป็นขยะที่เกิดจากการใช้งานผลิตภัณฑ์จนหมดอายุ ถูกทิ้งเพราะล้าสมัย หรือชำรุดเสียหายจนไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก 
  • ขยะอิเล็กทรอนิกส์จากภาคอุตสาหกรรม ที่เกิดจากกระบวนการผลิตภายในโรงงาน ทั้งส่วนที่มีองค์ประกอบของสารเคมี และเศษซากเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน และ 
  • ขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ ที่ได้รับการนำเข้ามาจากจากต่างประเทศ ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 
หากขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ถูกทิ้งโดยไม่แยกก่อนทิ้งและไม่ได้นำมาจัดการอย่างถูกวิธี จะทำให้ส่วนประกอบทางเคมีและโลหะหนักที่อยู่ในเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น สารตะกั่วในแบตเตอรี่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือแผงวงจรต่างๆ สารปรอทในหลอดไฟและจอภาพ แคดเมียมที่พบในจอภาพและแผงพิมพ์วงจรต่างๆ ปนเปื้อนออกมาสู่สิ่งแวดล้อมและตกค้างอยู่ในดินและน้ำแล้วแทรกซึมเข้าไประบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร กลับมาก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพของมนุษย์

จากผลกระทบต่างๆ ทำให้ทั่วโลกให้ความสำคัญและหาวิธีการในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสม รวมถึงประเทศไทยด้วย ที่หลายหน่วยงานหลายบริษัทห้างร้านออกมาหาวิธีการจัดการ โดยตั้งจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามจุดต่างๆ ในชุมชน รวมถึงบริการฝากทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ของไปรษณีย์ไทยที่ให้บริการรับฝากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้แล้วโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อส่งต่อไปยังสถานที่จัดการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเหมาะสมปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม โดยวิธีการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ในเบื้องต้นจะนำไปแยกส่วนประกอบและวัตถุที่มีค่าภายใน เช่น โลหะ เงิน ทองคำขาว และทองแดง ออกมา แล้วนำไปรีไซเคิล อีกทั้งยังแยกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ต้องการแต่ยังสามารถใช้งานได้กลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง โดยจะนำมาซ่อมแซม และบริจาคให้กับผู้ที่ขาดแคลนต่อไป นับได้ว่าเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

จะเห็นได้ว่า หากเราแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกจากขยะประเภทอื่นๆ และส่งต่อไปยังหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะแล้ว จะทำให้ลดอันตรายจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งต่อตัวเราเอง และไม่เป็นภาระสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

มารักษ์โลกของเราแบบง่ายๆ ด้วยการแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามประเภท กันเถอะ เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่เราทุกคนต่างต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือจริงๆ นะ.... เพราะโลกจะสวยด้วยมือเรานี่ล่ะ 






ที่มาของข้อมูล:
https://ewastethailand.com/
https://ngthai.com/science/33111/e-waste/
https://www.greenery.org/articles/e-waste-ais/
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/925749
https://www.it24hrs.com/2021/how-to-take-care-of-e-waste/
https://www.marketingoops.com/digital-life/ais-e-waste/
https://erdi.cmu.ac.th/?p=3599
https://droidsans.com/where-to-dump-e-waste-thailand/
https://www.checkraka.com/mobilephone/article/111855/
https://bit.ly/3ftZCr6
https://bit.ly/3AfyuE2

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)