OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

แค่กินหมด..ก็ลดโลกร้อน

7701 | 23 มิถุนายน 2564
แค่กินหมด..ก็ลดโลกร้อน
รู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยเพียงประเทศเดียว สร้างขยะมากถึง 27.4 ล้านตันต่อปี ซึ่ง 17.6 ล้านตัน เป็นขยะอาหาร คิดเป็น 64% ของขยะที่สร้างขึ้น ถ้าหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ก็เท่ากับเครื่องบิน Airbus A380 ถึง 63,000 ลำ หรือเทียบเท่าสนามราชมังคลากีฬาสถาน 8 สนามครึ่ง นอกจากนี้ เฉลี่ยแล้วคนไทย 1 คน สร้างขยะอาหารถึง 254 กิโลกรัมต่อปี

ขยะอาหาร คืออะไร? 
ขยะอาหาร หรือ Food Waste คือ อาหารที่เหลือทิ้งจากมื้ออาหารในแต่ละวันจากครัวเรือน โรงอาหาร ร้านอาหาร ภัตตาคาร งานเลี้ยงต่างๆ หรือถูกกำจัดออกจากกระบวนการเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการผลิต การขนส่งและการกระจายผลิตภัณฑ์อาหารสู่ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ก่อนถึงมือผู้บริโภค 

“ขยะอาหาร” มักจะถูกนำไปรวมกับ “อาหารส่วนเกิน” ที่หมายถึง อาหารที่ผลิตหรือซื้อมาเกินความต้องการจนทิ้ง ทั้งที่ยังไม่ได้กิน หรือยังเก็บไว้กินได้ ถ้าเป็นผู้บริโภค เช่น ของสดที่กินไม่ทัน อาหารแห้ง อาหารกระป๋องที่เลยวัน best before แล้วทิ้ง เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเลยวันหมดอายุ หรือ expiry date ร้านค้าปลีกเป็นอาหารที่เหลือจำหน่าย ซื้อมาสต๊อกไว้เกินความจำเป็น ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม เช่น อาหารบุฟเฟต์ที่ยังกินได้ และแหล่งผลิตอาหารทางการเกษตร เช่น อาหารที่ช้ำ จากการบรรจุหีบห่อ และการขนส่งที่ไม่ได้คุณภาพ ในท้ายที่สุดแล้ว ทั้งขยะอาหารและอาหารส่วนเกินก็จะถูกกองรวมกันในฐานะขยะอินทรีย์

หลายคนอาจสงสัยว่า ขยะอาหารหรือขยะอินทรีย์เป็นขยะที่มีระยะเวลาในการย่อยสลายสั้น เมื่อทิ้งไปแล้วจะถูกหมักบ่มย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย และใช้ในการบำรุงดินบำรุงพันธุ์พืชต่างๆ ให้เติบโตต่อไปได้ นั่นเป็นความคิดที่ไม่ผิดแต่อย่างใด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ขยะอาหารที่มีมากถึง 17.6 ล้านตันต่อปี เป็นปริมาณที่มากจนทำให้ต้องใช้เวลาในการย่อยสลายค่อนข้างนาน และขยะอาหารบางส่วนไม่ได้มีการคัดแยกที่เหมาะสม ถูกทิ้งรวมไปกับขยะประเภทอื่นๆ ทำให้ต้องเพิ่มขั้นตอนการคัดแยกขยะก่อนจะนำไปกำจัด

ซึ่งวิธีการจัดการปัญหาขยะของประเทศไทย จะจัดการด้วยการเผาในเตาเผาหรือนำไปผลิตเป็นปุ๋ย และอีกส่วนหนึ่งถูกนำไปฝังกลบหรือถมกลางแจ้ง เมื่อกองขยะเหล่านั้นถูกสะสมมากขึ้นๆ ก็จะกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะเชื้อโรคและเป็นแหล่งอาหารของสัตว์พาหะนำโรค เช่น หนู แมลงสาบ แมลงวัน ที่เป็นตัวกระจายและนำเชื้อโรคจากกองขยะไปสู่แหล่งน้ำดื่ม แหล่งการเกษตร และแหล่งที่อยู่อาศัย อีกทั้งยังส่งกลิ่นเหม็นที่กลายเป็นมลพิษทางอากาศอีกด้วย

และที่สำคัญ ขยะอาหารยังเป็นต้นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของภาวะโลกร้อนด้วย เพราะสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจก มากถึง 8% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นก๊าซมีเทนที่รุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถึง 14 เท่า และยังปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงกว่า 3.3 พันล้านตัน ที่เกิดจากขยะอาหารในแต่ละปีทั่วโลก (ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ) จะเห็นได้ว่าการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกจากขยะอาหารในแต่ละปี มีปริมาณเท่ากับแก๊สเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากการคมนาคมเลยทีเดียว

เมื่อปัญหาขยะอาหาร เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อโลกของเรา หลายคนจึงเริ่มตระหนักและพยายามหาวิธีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ทำให้เกิดเทรนด์ Zero Food Waste หรือการทำให้เศษอาหารที่เหลือทิ้งมีปริมาณเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นเทรนด์การบริโภคของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และเกิดกระแสการเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคม โดยหลักการของ Zero Food Waste คือ ลดปริมาณของเสียจากอาหารที่ให้เหลือทิ้งน้อยที่สุด บริโภคให้แต่พอดี รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการก่อขยะอาหาร

ซึ่งวิธีการลดปริมาณของเสียจากอาหารได้ดีที่สุด คือการบริโภคอาหารให้หมด โดยเริ่มตั้งแต่ควบคุมปริมาณอาหารแต่ละจานไม่ให้มากจนเกินพอดี รวมถึงลดการใช้ผักตกแต่งจาน เพราะมักจะเป็นส่วนที่เหลือทิ้งอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังสามารถจัดการปริมาณอาหารเหลือทิ้งตั้งแต่กระบวนการปรุงอาหาร หรือที่เรียกว่า Zero-waste Cooking ที่สามารถทำได้ง่ายๆ โดยเริ่มวางแผนซื้อวัตถุดิบ จัดเก็บวัตถุดิบให้ถูกวิธีและทำความเข้าใจกับวันหมดอายุ รวมถึงใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่าโดยตัด หั่น ตกแต่งให้เหลือทิ้งน้อยที่สุด 

ส่วนเศษอาหารที่เหลือจากการปรุงหรือการรับประทาน ควรมีการจัดการอย่างถูกวิธี เริ่มจากการคัดแยกขยะอาหารออกจากขยะประเภทอื่นก่อน จากนั้นจึงใช้วิธีการจัดการที่เหมาะสม เช่น เลือกอาหารหรือวัตถุดิบที่ยังรับประทานได้ไปบริจาคหรือเป็นอาหารสัตว์ ทำปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพจากเศษอาหาร และการนำน้ำมันจากการใช้แล้วไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นต้น

เพียงแค่เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ อย่างการรับประทานอาหารให้หมดจาน ตักอาหารแต่พอดี และแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะชนิดอื่นๆ ก็สามารถช่วยโลกช่วยสิ่งแวดล้อมได้แล้ว





ที่มาของข้อมูล: 
https://makrohorecaacademy.com/food-waste-overflowing-the-world-food-waste-statistics-national-and-g...
https://www.deqp.go.th/new/food-waste-%E0%B8%82%E0%B8%A2%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B...
https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/543/%E0%B8%82%E0%B8%A2%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%B...
http://www.chulazerowaste.chula.ac.th/how-does-food-waste-contribute-to-global-warming/
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/865610
https://www.greenpeace.org/thailand/story/17905/food-agriculture-food-waste
https://www.officemate.co.th/blog/zero-waste-cooking/
http://certify.dld.go.th/certify/images/article/2564/640312/2FoodWaste_U.pdf
https://resourcecenter.thaihealth.or.th/files/66/thaihealth%20watch_%E0%B8%82%E0%B8%A2%E0%B8%B0%E0%B...
https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2019/09/final_food_waste_management.pdf

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)