OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

Universal Design ชีวิตดีที่เท่าเทียม

4254 | 27 พฤษภาคม 2564
Universal Design ชีวิตดีที่เท่าเทียม
เคยสงสัยไหม?

ทำไมอ่างล้างมือในห้างสรรพสินค้าต้องมีสองระดับ ทั้งอ่างล้างมือที่สูงเป็นปกติ กับอ่างล้างมือที่ต่ำลงไปอีก 1 ระดับ ทำไว้ให้ใครใช้กันแน่ 

แล้วทำไมห้องน้ำในห้างสรรพสินค้า ต้องมีห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการด้วย

ทำไมหน้าร้านสะดวกซื้อต้องมีทางลาดตรงทางเข้าร้าน 

ทำไมโทรศัพท์สาธารณะในห้างสรรพสินค้าต้องมีความสูงสองระดับ 

เวลาไปใช้บริการที่รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดินหรือสนามบินนั่นอีก ทำไมต้องมีลิฟท์โดยสารแยกออกไปแถมมีปุ่มกดลิฟท์ก็ที่มีปุ่มแปลกๆ คล้ายสัญลักษณ์ของอักษรเบรลล์ตรงที่กดด้วย 

และทำไมสถานที่ไหนๆ ก็ต้องมีที่จอดรถกว้างๆ สำหรับสตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้พิการใกล้ๆ ทางเข้า

เรื่องนี้มีคำตอบ... เพราะทั้งหมดเป็นเรื่องของ Universal Design หรือการออกแบบที่ครอบคลุมทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม การออกแบบนี้ทำให้คนทุกคนเสมอภาคและเท่าเทียมในการใช้งานพื้นที่สาธารณะเหล่านั้น

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงบางตัวอย่างของ Universal Design ที่ทุกคนเห็นได้ทั่วไปจนเป็นเรื่องปกติกันแล้วในตอนนี้ แต่คุณทราบหรือไม่ว่า Universal Design คืออะไร ทำไมเราถึงต้องให้ความสำคัญ 

Universal Design คืออะไร ทำไมจึงสำคัญ
พูดให้เข้าใจง่ายๆ Universal Design (UD) หรือ อารยสถาปัตย์ คือ การออกแบบสภาพแวดล้อมการบริการต่างๆ ให้กับคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนปกติ เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้พิการ เพื่อลดอุปสรรคในการใช้งาน สร้างขึ้นเพื่อความเสมอภาคในการเข้าถึงพื้นที่การให้บริการ ออกแบบมาเพื่อเป็นสังคมที่มีคุณภาพเพื่อให้ทุกคนใช้บริการกันได้อย่างเท่าเทียมนั่นเอง หลักการสำคัญก็คือ “เข้าถึงง่าย สะดวก ปลอดภัย ทั่วถึง และเท่าเทียม” 
 
ประโยชน์ของ Universal Design มีมากมาย อาทิ ทำให้การดำเนินชีวิตของคนทุกกลุ่มมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น มีความปลอดภัยในการใช้บริการและลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุ โดยคนทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และใช้บริการได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียม โดยไม่มีการแบ่งแยก เป็นต้น

หลัก 7 ประการของ Universal Design
Universal Design เป็นแนวความคิดสากลที่องค์การสหประชาชาติได้พยายามเผยแพร่และส่งเสริมตลอดมา จากแนวความคิดเดิมเพื่อให้ผู้พิการได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตในอาคารและสิ่งแวดล้อมนั่นเอง ซึ่งในที่สุดก็เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในหลักการของ Universal Design ซึ่งประกอบด้วยหลัก 7 ประการ ได้แก่

1. ใช้งานได้อย่างเท่าเทียมกัน (Fairness)
ออกแบบมาเพื่อการใช้งานได้กับทุกคนทุกกลุ่ม เช่น อ่างล้างมือสองระดับในห้างสรรพสินค้าเพื่อให้บริการได้ทั้ง ผู้ใหญ่ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ เป็นต้น
2. ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ (Flexibility)
ออกแบบให้เกิดความยืดหยุ่นในการใช้งานได้ คือ ความสามารถในการปรับระดับสูง-ต่ำ ซ้าย-ขวาได้ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ถนัดซ้ายและถนัดขวาได้ตามความต้องการ เช่น ก๊อกน้ำที่สามารถปรับหัวก๊อกไปในทิศทางที่ถนัดได้ เป็นต้น
3. ใช้งานได้อย่างเรียบง่าย (Simplicity)
ออกแบบโดยเน้นให้เข้าใจง่าย อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ได้ง่าย เช่น สวิตซ์ไฟที่ง่ายต่อการเปิด-ปิด มองเห็นได้ง่ายและชัดเจน เป็นต้น

4. ใช้งานด้วยความเข้าใจ (Understanding) 
ออกแบบโดยให้มีการสื่อสารที่เข้าใจได้ง่าย ลดช่องว่างในด้านภาษา เช่น สัญลักษณ์ของห้องน้ำในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
5. ใช้งานได้อย่างปลอดภัย (Safety)
การใช้งานที่ผิดพลาดสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้น การออกแบบจึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นด้วย เช่น การสร้างราวจับกันลื่น หรือการออกแบบอุปกรณ์เครื่องใช้ให้มีความโค้งมน เพื่อป้องการอันตรายและการถูกขีดข่วน เป็นต้น
6. ใช้งานได้แม้ออกแรงน้อย (Energy Conservation)
ออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถทุ่นแรงให้แก่ผู้ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกได้ง่าย เช่น บานเลื่อนอัตโนมัติ หรือที่จับแบบก้านโยก ซึ่งถูกออกแบบมาให้ผู้ใช้ออกแรงน้อยกว่าลูกบิด เป็นต้น

7. ใช้งานได้ในขนาดและพื้นที่ที่เหมาะสม (Size and space)
พื้นที่อันจำกัดสามารถทำให้เกิดปัญหาได้กับผู้ใช้ที่มีข้อจำกัด เช่น เป็นผู้สูงอายุ หรือผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ ดังนั้น การออกแบบจึงควรคำนึงถึงพื้นที่สำหรับการขึ้น-ลง การหมุนตัว หรือกลับรถได้ด้วย เช่น ห้องน้ำที่มีขนาดใหญ่พิเศษเพื่อให้รถเข็นเข้า-ออกได้อย่างสะดวก หรือ ที่จอดรถสำหรับผู้สูงอายุ หรือผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ โดยมีพื้นที่กว้างกว่าพื้นที่จอดรถของคนปกติทั่วไป เป็นต้น

ในปัจจุบันนี้ ด้วยความแตกต่างและหลากหลายของคนและเทคโนยี การออกแบบควรคำนึงถึงหลักของ Universal Design มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาคาร สถานที่ หรือแม้กระทั่งเครื่องใช้ภายในบ้านที่ทุกคนในบ้านมีส่วนใช้งานร่วมกัน 

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังจะสร้างอาคาร หรือ เปิดร้านใหม่ คุณสามารถนำหลักการนี้ไปปรับใช้เพื่อประโยชน์ในการให้บริการให้กับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้นได้ด้วย เช่น สร้างราวจับกันลื่น และทางลาดสำหรับรถเข็นหรือวีลแชร์หน้าร้านหรืออาคาร หรือ ห้องน้ำที่มีขนาดกว้างเพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุที่นั่งวีลแชร์ เป็นต้น

ลองคิดดูว่า สังคมของ Universal Design นอกจากจะมีความเป็นสากลแล้ว ยังเต็มไปด้วยความเอื้อเฟื้อ เห็นอกเห็นใจ แบ่งปัน เท่าเทียมและยั่งยืนอีกด้วย เป็นสังคมที่นอกจากคนไทยทุกคนจะมีคุณภาพที่ดีเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นสังคมที่น่าอยู่ ที่คนทุกคนสามารถเข้าถึง หรือใช้บริการได้ง่าย และปลอดภัย 

จะดีแค่ไหนถ้าสังคมไทยเต็มไปด้วยการเสริมสร้างและรณรงค์ให้ทุกๆ คน มีความภาคภูมิใจในตัวของตัวเองในแบบที่ตัวเองเป็น ไม่มีใครต้องรู้สึกว่าด้อยค่าไปกว่าใคร เป็นสังคมที่รู้จักแบ่งปันและเท่าเทียมอย่างแท้จริง 

คุณล่ะ ต้องการ Universal Design ชีวิตดีที่เท่าเทียม แบบนี้ด้วยไหม 





ข้อมูลประกอบการเขียน
https://avl.co.th/blogs/universal-design/
https://bit.ly/3tuPJxH
https://bit.ly/3vYHBa3

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)