OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

รู้จักกับสารแห่งความสุข: โดปามีน

47649 | 3 พฤษภาคม 2564
รู้จักกับสารแห่งความสุข: โดปามีน
ภาพที่เห็นอยู่นี้จำลองมาจากฉากในซีรีส์ของจีนเรื่องหนึ่ง เป็นตอนที่คุณหมอพระเอกของเรื่องเขียนสัญลักษณ์ทางเคมีของสารโดปามีน (Dopamine) ลงในกระดาษโพสต์-อิทติดไว้หน้าประตูห้องของนางเอกในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่เขาย้ายเข้ามาเป็นเพื่อนบ้านของเธอ

ต่อมาเมื่อเธอถามเขาถึงความหมายของสัญลักษณ์นั้น เขาก็เพียงแค่อมยิ้ม ตาเป็นประกายแฝงแววขี้เล่น และตอบสั้นๆ ว่านั่นคือสัญลักษณ์ของสารแห่งความสุข แสดงถึงความยินดีที่ได้พบกัน นางเอกได้แต่พยักหน้ารับเสมือนว่าเข้าใจและไม่ติดใจอะไรกับคำตอบ แล้วภาพก็ตัดไป ทิ้งให้ผู้ชมสาวๆ กรีดร้องเบาๆ สองมือจิกหมอนขาดกระจุย บิดตัวไปมาด้วยความฟินระดับหลายริกเตอร์ เพราะความหล่อเหลาน่ารักของพระเอก แล้วก็นั่งประชิดติดหน้าจอ จดจ่อรอว่าเมื่อไรพระเอกจะออกมาโชว์ความหวานใส่นางเอกในฉากต่อไป 

ว่าแต่ว่า - แล้ว “โดปามีน” คืออะไรกันแน่?

ในชีวิตจริงของคนดูซีรีส์ แทบจะไม่มีใครสนใจว่า “โดปามีน” คืออะไรและมีบทบาทสำคัญอย่างไรกับฉากรักในละครตอนนี้ 

ที่จริงแล้ว โดปามีนเป็นตัวหลักในการเดินเรื่องเลยทีเดียว ถ้ายึดตามที่คุณหมอพระเอกซีรีส์ให้นิยามไว้ ก็พอจะจับความได้ว่า โดปามีน คือสารที่ร่างกายสร้างขึ้นและหลั่งออกมาเมื่อรู้สึกพึงพอใจหรือมีความสุข 

ส่วนคำอธิบายที่ลึกลงไปกว่านั้นในเชิงวิทยาศาสตร์ โดปามีน (สูตรทางเคมี คือ C8H11NO2 โครงสร้างตามภาพประกอบ) เป็นทั้งฮอร์โมน (Hormone) และสารสื่อประสาท (Neurotransmitter) ชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อเป็นสื่อส่งผ่านข้อมูลระหว่างเซลประสาท ทำให้ร่างกายสามารถรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้อย่างเหมาะสม 

โดยโดปามีนจะเกี่ยวข้องกับความพึงพอใจ ความชื่นชอบ และความปีติยินดี เมื่อทำสิ่งใดแล้วรู้สึกมีความสุข ร่างกายจะหลั่งโดปามีนออกมา โดปามีนที่หลั่งออกมานี้จะกระตุ้นให้ต้องการทำสิ่งนั้นหรือพฤติกรรมนั้นมากยิ่งขึ้น ด้วยความมั่นใจ กระตือรือร้น และท้าทายให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ 

เคยมีการทดลองในหนู เมื่อหนูกดคันโยกเปิดช่องให้อาหารไหลลงมา พบว่าระดับโดปามีนเพิ่มสูงขึ้น ทุกครั้งที่กดคันโยกแล้วมีอาหารไหลลงมา ระดับของโดปามีนจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ ความพึงพอใจจากรางวัล (อาหาร) ที่ได้รับเป็นแรงกระตุ้น ทำให้หนูมีพฤติกรรมกดคันโยกซ้ำๆ โดปามีนจะถูกหลั่งออกมาอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นวงจรที่เรียกว่า ระบบรางวัล (Reward circuit) 

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่มีผลการศึกษาวิจัยพบว่าโดปามีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเสพติด เพราะเมื่อกระทำสิ่งใดแล้วได้รับรางวัลที่พึงพอใจ เช่น อาหาร เซ็กส์ เกม การพนัน ฯลฯ ร่างกายและจิตใจจะยิ่งเรียกร้องโหยหาต้องการสิ่งนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากถูกขัดขวาง หรือไม่ได้รับรางวัลที่เคยได้รับ จะส่งผลให้ความสุขลดลง ระดับโดปามีนก็ลดลงตามไปด้วย นำไปสู่ภาวะเซื่องซึม หดหู่ ขาดความกระตือรือร้น ไม่ตื่นตัว หมดความสนใจที่จะกระทำสิ่งใดๆ 

โดปามีนมีผลต่อการตกหลุมรักอย่างมากด้วย จากการศึกษาการทำงานของสมองคนที่เริ่มมีความรัก โดยให้ดูภาพคนรักขณะทำ MRI (Magnetic Resonance Imaging) พบว่าภาพถ่ายสแกนสมองของคนที่อยู่ในช่วงตกหลุมรักขณะที่ได้เห็นภาพคนรักจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับสมองของคนที่ติดสารเสพติด คือสมองส่วนสำคัญในระบบรางวัลได้รับการกระตุ้น ทำให้เกิดพฤติกรรมโหยหา ต้องการไขว่คว้าและเติมเต็มสิ่งที่หิวกระหาย 

เมื่อได้รับรางวัลที่ต้องการ เช่น การได้พบหน้าคนรัก ได้สนทนา และได้สัมผัสใกล้ชิด ก็ก่อให้เกิดความสุข ส่งผลให้ร่างกายหลั่งโดปามีนมากระตุ้นระบบรางวัลให้ทำงานอย่างต่อเนื่อง 

นี่จึงเป็นเหตุผลอธิบายว่า ทำไมคนที่กำลังตกอยู่ในห้วงรักจึงมักจะแสดงอาการคิดถึงคนรักอยู่ตลอดเวลา อยากอยู่ใกล้ๆ สบตา มองหน้า พูดคุย และสัมผัสคนที่ตนเองหลงรัก เพราะทุกการกระทำที่กล่าวมาล้วนเป็นรางวัลที่สร้างความสุข คุ้มค่าท้าทายให้บุกต่อ จนทำให้คนบางคนกลายเป็นคนที่มีพฤติกรรม “ติดแฟน” หรือที่คอซีรี่ส์เรียกกันว่า “คลั่งรัก” นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ โดปามีนจึงมีชื่อเล่นอีกชื่อหนึ่งว่า สารเคมีแห่งรัก 

เมื่อย้อนกลับมามองคุณหมอพระเอกซีรีส์ผู้คลั่งรัก เหตุผลที่เขาเลือกสื่อรักด้วยโดปามีนจึงดูมีความหมายลึกซึ้งกว่าการเป็นแค่สารแห่งความสุข แต่เป็นการบอกใบ้กลายๆ ว่า ระบบรางวัลในสมองของเขาเริ่มทำงานแล้ว และเขาพร้อมจะเดินหน้าต่อ 

เพราะเมื่อสารเคมีแห่งรักออกฤทธิ์ ก็ยากที่หยุดตัวเองไว้ได้ ความสุขชั่วครู่ชั่วคราวที่ได้รับจากการตกหลุมรักเพียงครั้งเดียวนั้นไม่เพียงพอ เขาขอตกหลุมรักกับเธอคนเดิมซ้ำๆ ทุกๆ วัน จนกว่าความปรารถนานั้นจะได้รับการเติมเต็ม รอวันพัฒนาเป็นความรักความผูกพันที่ยั่งยืนตามแบบฉบับของสุขนาฏกรรม

การดูซีรีส์แล้วรู้สึก “ฟิน” ก็เช่นเดียวกัน มันเกิดขึ้นเพราะโดปามีนของผู้ชมหลั่งออกมา ทำให้เรารู้สึกอิ่มเอิบใจ และอยากดูต่อเนื่องซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ นั่นเป็นอีกเหตุผลหนึ่งด้วยเช่นกัน ที่เมื่อซีรีส์จบแล้วเราจะรู้สึกเศร้า 

แต่เมื่อมีซีรีส์ใหม่ในแนวทางที่ชื่นชอบและนักแสดงคนโปรดแวะเวียนมาสร้างความสุขบนหน้าจออย่างต่อเนื่อง แฟนตัวยงก็พร้อมจะติดตามต่อไปอย่างไม่ลดละ เพราะความสุขที่ได้จากการเสพซีรี่ส์ (หรือจริงๆ คือเสพโดปามีน) นั้นยากเกินต้านทานจริงๆ 

แต่ถึงจะรักแค่ไหน สนุกแค่ไหน ก็ควรคำนึงถึงสุขภาพ เสพแต่พอเหมาะ สุขแต่พอควร อย่าหักโหมดูกันอย่างต่อเนื่องจนร่างกายทรุดโทรม แค่สร้างสีสันสดใส สร้างแรงบันดาลใจ และความกระชุ่มกระชวยให้กับชีวิตก็เพียงพอแล้ว โดปามีนที่หลั่งออกมาจึงจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง 

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)