OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

ความฉลาดทางอารมณ์ : ทักษะการทำงานแห่งศตวรรษใหม่

16700 | 26 เมษายน 2564
ความฉลาดทางอารมณ์ : ทักษะการทำงานแห่งศตวรรษใหม่
“ใช้เหตุผลสิ อย่าใช้อารมณ์” เราคงคุ้นชินกับประโยคห้ามปรามเวลาที่คนมีปากเสียงหรือขัดแย้งกัน ทำให้วลี “ใช้อารมณ์” ดูจะมีความหมายในเชิงลบเมื่อเทียบกับการใช้เหตุผล 

แต่แท้ที่จริงแล้ว การใช้อารมณ์มีทั้งในเชิงลบและเชิงบวก และการใช้อารมณ์ในเชิงบวกก็คือการใช้อารมณ์อย่างชาญฉลาดที่ก่อให้เกิดผลดีต่อด้านต่างๆ ในการดำเนินชีวิต เราเรียกคุณสมบัติการใช้อารมณ์แบบนี้ว่า ความฉลาดทางอารมณ์

ความฉลาดทางอารมณ์คืออะไร และสำคัญอย่างไรต่อการทำงาน
ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient ; EQ) หมายถึง ความสามารถทางอารมณ์ที่ช่วยให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และมีความสุข ดร.แดเนียล โกลแมน (Daniel Goleman) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ Working with Emotional Intelligence ” ได้จำแนกองค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์ไว้ 5 ประการดังนี้
  1. การตระหนักรู้อารมณ์ตนเอง (Self-Awareness) หมายถึงความสามารถที่จะรับรู้และเข้าใจความรู้สึก อารมณ์ และความต้องการของตนเอง ตลอดจนผลที่เกิดขึ้นกับบุคคลอื่นอันเนื่องมาจากความรู้สึก อารมณ์ และความต้องการเหล่านั้นของตน

  2. การควบคุมอารมณ์ของตนเอง (Self-Regulation) หมายถึงความสามารถในการควบคุมหรือจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ คิดก่อนลงมือปฏิบัติ รวมไปสามารถปรับตัว และพร้อมเปิดรับการเปลี่ยนแปลง

  3. การสร้างแรงจูงใจให้แก่ตนเอง (Self-Motivation) หมายถึงความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยใช้ความพยายามอย่างไม่ลดละและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค

  4. การเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น (Recognizing Emotions in Others) หมายถึง ความสามารถในการเข้าใจธรรมชาติทางอารมณ์ของผู้อื่น มีความไวต่อการรับรู้ความรู้สึก มีความเห็นอกเห็นใจ และมีทักษะที่จะปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม

  5. ทักษะทางสังคม (Social Skill) หมายถึงความสามารถในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น มีการสื่อสารที่ดี เข้าใจง่าย สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น ตลอดจนสามารถที่จะค้นพบสิ่งที่เป็นพื้นฐานร่วมกันของบุคคล บริหารความขัดแย้งได้ดี และทำให้เกิดความสามัคคีปรองดองกัน
ในการดำเนินชีวิตแต่ละวัน เราต้องใช้ทั้งเหตุผลและอารมณ์ควบคู่กันไป เพราะมนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาให้อยู่คนเดียว แต่ต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคม เราจึงต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น และเพื่อรักษาความสัมพันธ์นี้เอง ความฉลาดทางอารมณ์จึงมีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิตของเรา และในการทำงานก็เช่นเดียวกัน ที่ที่คนประชันกันด้วยความรู้และสติปัญญา แต่คนที่เข้าถึงจิตใจและความรู้สึกของคนอื่นมากกว่า กลับจะมีแต้มต่อในเกมความสัมพันธ์

10 เทคนิคการทำงานโดยใช้ความฉลาดทางอารมณ์
  1. ออกกำลังกาย ครั้งละ 20 – 30 นาที ไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 5 วัน เพราะอารมณ์ดีมาจากร่างกายที่แข็งแรง การออกกำลังกายนอกจากจะทำให้สมองปลอดโปร่งแล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุข หรือ เอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) ออกมาช่วยจัดการกับความเครียดจากการทำงาน และ เซโรโทนิน (Serotonin) ที่ช่วยควบคุมอารมณ์ให้สงบ มั่นคงอีกด้วย
       
  2. สร้างความไว้วางใจ เป็นผู้ฟังที่ดี รับฟังทั้งความคิดเห็นและความรู้สึกจากเพื่อนร่วมงาน ไม่ตัดสิน ไม่นินทา และไว้วางใจได้ สร้างความรู้สึกปลอดภัยให้คนอื่นกล้าแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา

  3. สร้างขอบเขตทางอารมณ์ อย่าปล่อยให้ความสนิทสนมในฐานะเจ้านาย ลูกน้อง และเพื่อนร่วมงาน ทำให้เกิดความลำเอียง สูญเสียความเป็นมืออาชีพ หรือความเป็นกลาง เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำลายความไว้วางใจในที่ทำงาน และทำให้บรรยากาศของความร่วมมือเกิดขึ้นได้ยาก

  4. ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึก อย่าตัดสินใจโดยอาศัยข้อมูลเพียงอย่างเดียว ให้ใช้สัญชาตญาณร่วมด้วย ฟังเสียงความรู้สึก และสำรวจให้ลึกว่าทำไมจึงรู้สึกเช่นนั้น มีสิ่งใดขัดแย้ง หรือขาดหายไปหรือไม่ หากจำเป็นให้หาข้อมูลเพิ่มเติมจนมั่นใจก่อนตัดสินใจขั้นสุดท้าย

  5. รู้จักยืดหยุ่น เตรียมพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการที่จะบรรลุเป้าหมาย การยืนกรานอย่างแข็งกร้าวที่จะพุ่งชนทั้งที่เห็นอุปสรรคชัดเจนอยู่ตรงหน้าอาจจะทำให้เจ็บตัวมากกว่าประสบความสำเร็จ

  6. มีใจกว้าง ยอมจำนนต่อความเห็นและการตัดสินใจในเรื่องที่มีความสำคัญต่อผู้อื่นมากกว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องชนะทุกเรื่อง การยอมให้คนอื่นเหนือกว่าในบางเรื่องจะทำให้เราได้รับความขอบคุณและการสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงาน

  7. ชื่นชมก่อนวิจารณ์ (ตรงข้ามกับตบหัวแล้วลูบหลัง) เป็นการให้กำลังใจเพื่อนร่วมงาน แล้ววิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาพร้อมให้ข้อเสนอแนะ แสดงถึงความจริงใจที่ต้องการจะร่วมมือแก้ไขและพัฒนาให้ผลงานดีขึ้น

  8. พูดในจังหวะที่ควรพูด หากรู้สึกว่ามีสิ่งสำคัญที่ต้องพูด ให้พูดออกมาทันทีที่สบโอกาส อย่านิ่งเงียบ อย่ารอให้คนอื่นถาม หรือรอให้คนอื่นพูดแทน หากปัญหาหรือข้อขัดแย้งนั้นรบกวนจิตใจเรา การรอนานเกินไป อาจจะทำให้อารมณ์ของเราต่อเรื่องนั้นเปลี่ยนไป และหากไม่ได้รับการจัดการแก้ไข หรือคำอธิบายที่ชัดเจน จากปัญหาเล็กๆ อาจจะกลายเป็นปมปัญหาใหญ่ในจิตใจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรม การวางตัว การแสดงออก และผลงานของเรา
     
  9. เป็นผู้ฟังที่ดี เมื่อมีคนมาปรึกษาหารือ หรือเล่าเรื่องราวของเขาให้เราฟัง ให้ฟังด้วยท่าทีเห็นอกเห็นใจ และฟังอย่างตั้งใจ ใส่ใจในสิ่งที่เขาพูดและทำความเข้าใจ อย่ามัวแต่คิดว่าตัวเองจะพูดอะไรในขณะที่อีกฝ่ายกำลังตั้งใจพูด เพราะเมื่อเขาพูดจบแล้วเราตอบสิ่งที่เราวางแผนจะพูดไว้ออกไป เขาจะรู้ทันทีว่าเราไม่ได้ใส่ใจในสิ่งที่เขาพูดเลย

  10. คนเก่งไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ เราสามารถขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นในสิ่งที่เราไม่เชี่ยวชาญ และยอมรับผิดพร้อมกล่าวคำขอโทษในข้อบกพร่องของเรา แล้วก้าวต่อไป แสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่พร้อมเปิดรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และพัฒนาต่อยอดต่อไปในอนาคตของเส้นทางการทำงาน
การนำความฉลาดทางอารมณ์มาบริหารความสัมพันธ์ในที่ทำงานไม่ใช่แค่ทฤษฎีที่จับต้องไม่ได้ แต่ต้องได้ลงมือปฏิบัติ หากเราตระหนักรู้และควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ อีกทั้งยังสามารถรับรู้และเข้าใจอารมณ์ของเพื่อนร่วมงาน แล้วเรียนรู้ที่จะบริหารความสัมพันธ์ด้วยเทคนิคการสื่อสาร อัธยาศัย และความตั้งใจที่ดีแล้ว ผลงานสร้างสรรค์กับชีวิตสร้างสุขก็คงไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อม

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)