OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

มากินดอกไม้กันเถอะ!

2104 | 23 เมษายน 2564
มากินดอกไม้กันเถอะ!
เรารู้จักการนำดอกไม้มาใช้ประโยชน์ในฐานะสมุนไพรและเครื่องหอมเพื่อรักษาบำบัดอาการต่างๆ มาหลายร้อยปีแล้ว

แต่ในปัจจุบัน เกิดเทรนด์ใหม่ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นคือการนำดอกไม้มาปรุงเป็นอาหาร

ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะผู้บริโภคไม่ได้ต้องการแค่อาหารที่เกิดประโยชน์ต่อร่างกายเท่านั้น แต่ยังต้องการความสวยงามมาเพิ่มอรรถรสในการกินอีกด้วย

เราเห็นซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่นำดอกไม้กินได้มาวางจำหน่าย รวมทั้งร้านอาหารและเชฟสายสร้างสรรค์ที่ดึงดูดลูกค้าด้วยการนำดอกไม้มาปรุงหรือประดับตกแต่งอาหารให้มีสีสัน มีเรื่องราวน่าสนใจ และได้รับคุณประโยชน์เพิ่มขึ้นจากเมนูปกติ กระแส ‘สวยกินได้’ จึงเป็นโอกาสของเกษตรกรที่ทำฟาร์มออร์แกนิกจะสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ใหม่จากสวนหรือฟาร์มของตนเอง อย่างที่เรียกกันว่า Creative Farming หรือการทำธุรกิจดอกไม้กินได้

ที่จริงแล้ว “ดอกไม้กินได้” เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างรายได้จากสินค้าเกษตร เหตุผลที่สำคัญอย่างแรกก็คือ ตลาดมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แถมเวลาที่ใช้ในการผลิตก็ยังสั้นกว่า เมื่อเทียบกับการขายผลหรือฝัก แต่ที่สำคัญที่สุดคือสร้างมูลค่าได้มากกว่า
 
ตัวอย่างเช่น ดอกพริกใช้เวลาเพียง 45 วันก็สามารถนำไปจำหน่ายในราคาดอกละ 5 บาทได้แล้ว แต่ถ้าต้องการขายผลพริก ต้องใช้เวลาถึง 65 วันจึงจะสามารถเก็บพริกเพื่อนำไปจำหน่ายในราคาเพียงขีดละ 10 บาทเท่านั้นเอง

มาลองดูกันไหมว่า - ธุรกิจดอกไม้กินได้เป็นอย่างไรบ้าง

ดอกไม้ส่วนใหญ่ที่ปลูกเพื่อนำดอกไปจำหน่ายแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 4 กลุ่ม ดังนี้
  1. ดอกไม้จากต้นผัก กลุ่มนี้ไม่ค่อยเห็นทั่วไปในท้องตลาด เนื่องจากเกษตรกรต้องการปลูกเพื่อขายต้น ผล หรือเมล็ด ไม่ใช่ขายดอก เช่น พริก มะเขือ มะเขือเทศ พืชตระกูลฟัก และพืชตระกูลแตง
  2. ดอกไม้จากต้นผลไม้ จะเป็นดอกไม้ที่มีรสชาติ สามารถนำไปปรุงอาหารได้โดยตรง หรือจะนำไปตกแต่งอาหารก็สวยงาม เช่น ดอกมะขาม ชมพู่มะเหมี่ยว มะเฟือง และเสาวรส
  3. ดอกไม้จากสมุนไพร นอกจากจากจะให้กลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังมีคุณสมบัติทางยาอีกด้วย เช่น กะเพราโหระพา ขิง ข่า โรสแมรี่ มินท์
  4. ดอกไม้จากดอกไม้ กลุ่มนี้เน้นสีสันและอาจมีกลิ่นหอมร่วมด้วย เช่นดอกมะนาว กุหลาบ ดาวกระจาย บัว อัญชัน เข็ม พวงชมพู ไวโอลา เป็นกลุ่มดอกไม้ที่สวยงาม ข้อห้ามสำหรับการเลือกดอกไม้กลุ่มนี้คือดอกหรือยางต้องไม่มีกลิ่นไซยาไนต์รุนแรง หรือมองด้วยตาเปล่าต้องไม่มียาง เพราะยางอาจเป็นพิษและทำให้เกิดการแพ้ได้



แน่นอน การปลูกดอกไม้นั้นต้องขึ้นอยู่กับฤดูกาลและสภาพภูมิอากาศ สิ่งนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณของดอกไม้เลย  แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้เกิดปัญหาในการปลูกดอกไม้เพื่อจำหน่าย ดังนั้น จึงควรต้องมีการบริหารจัดการที่ดีตั้งแต่กระบวนการปลูก การเก็บ การบรรจุหีบห่อ และการขนส่งเพื่อรักษาคุณภาพของดอกไม้ทั้งหมดที่จะต้องส่งมอบไปยังลูกค้า เพราะดอกไม้เกือบทั้งหมดจะถูกนำไปใช้แบบดอกสด จึงต้องคงสีสัน รูปร่าง กลิ่น และรสชาติทั้งเดิมไว้

ถ้าใครมีแนวคิดอยากจะปลูกดอกไม้กินได้ขาย เรามีแนวคิดและการบริหารจัดการเบื้องต้นที่อาจเป็นแนวทางสำหรับผู้สนใจทำธุรกิจดอกไม้กินได้ ได้แก่
  1. “ต้องซื่อสัตย์ ไม่หลอกลวงลูกค้า” ก่อนที่จะตกลงสั่งซื้อดอกไม้ ลูกค้ามักจะมาสำรวจที่ฟาร์มเพื่อประเมินการบริหารจัดการพร้อมทั้งคัดเลือกชนิดของดอกไม้ที่ต้องการ ดังนั้น เมื่อต้องส่งมอบสินค้า ทางฟาร์มต้องรักษามาตรฐานและคุณภาพเพื่อให้เป็นไปตามที่ตกลงไว้กับลูกค้า โดยจะไม่นำสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือคุณภาพไม่ดีส่งให้ลูกค้า รวมถึงจะไม่นำสินค้าจากแหล่งอื่นมาปนกับสินค้าของฟาร์ม
  2. “พูดคุยทำความเข้าใจ” ฟาร์มต้องทำความตกลงกับลูกค้าเกี่ยวกับชนิดและปริมาณของดอกไม้ที่ต้องการ รวมทั้งระยะเวลาที่จะต้องส่งมอบซึ่งควรจะจัดสรรให้มีเวลาว่างที่ไม่ต้องเก็บดอกไม้จำหน่ายเพื่อทำการสำรวจแปลง กำจัดแมลง ตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ย และบำรุงดิน
  3. “ควรรับคำสั่งซื้อล่วงหน้า เพื่อการบริหารจัดการที่เหมาะสม” ควรแจ้งให้ลูกค้าทราบว่าควรสั่งจองหรือสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าเพื่อนำไปวางแผนการเก็บผลผลิตโดยในแต่ละวันเวลาที่เหมาะสมคือตอนเช้าเท่านั้นเพราะจะได้ดอกไม้คุณภาพดีเนื่องจากแสงแดดยังไม่ทำลายความชื้นและกลิ่นที่ดอกไม้สะสมไว้ในกลีบดอก
  4. “วางแผนให้ดี ไม่มีปัญหา” ต้นไม้แต่ละชนิดมีระยะให้ดอก และมีคุณภาพที่แตกต่างไปในแต่ละฤดูกาล ดังนั้นฟาร์มจึงต้องมีการทำปฏิทินดอกไม้ว่าช่วงไหนเหมาะกับการโภคดอกไม้ชนิดใด และจัดกลุ่มดอกไม้ที่คุณสมบัติหรือคุณลักษณะที่คล้ายคลึงกันไว้เป็นหมวดหมู่เพื่อนำมาใช้ทดแทนในกรณีที่ดอกไม้ชนิดที่ต้องการมีปริมาณไม่เพียงพอหรือคุณภาพไม่ได้ตามที่กำหนด และเนื่องจากพืชส่วนใหญ่ที่ปลูกเป็นพืชอายุสั้น จึงต้องมีการคำนวณระยะเวลาและจำนวนของพืชที่จะปลูกแต่ละรุ่นที่จะมาทดแทนเพื่อให้มีดอกไม้เก็บขายได้ตลอดปี
  5. “ลูกค้าใหม่ ต้นไม้ใหม่” หากมีลูกค้าใหม่ที่มีออร์เดอร์ยาวนานต่อเนื่อง ฟาร์มควรปลูกต้นไม้เพิ่มเพื่อป้องกันปัญหาผลผลิตไม่เพียงพอต่อการส่งมอบ เนื่องจากต้นเดิมที่มีอยู่คือต้นที่ปลูกเพื่อเก็บผลผลิตส่งให้ลูกค้ารายเดิม
  6. “พัฒนาร่วมกัน” ฟาร์มและลูกค้าควรร่วมหารือเพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาคุณภาพหรือเตรียมการเพื่อนำดอกไม้ใหม่ๆ มาปรุงและตกแต่งอาหารที่สามารถสร้างความพึงพอใจให้ทั้งผู้ปรุงอาหาร และผู้บริโภค
การทำความเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าแล้วนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์โดยใช้จุดเด่นหรือความสามารถในการแข่งขันที่มีมากกว่าคู่แข่งเป็นแนวทางหนึ่งในการลดความเสี่ยงของเกษตรกรและผู้ประกอบการซึ่งเมื่อนำมาบวกรวมกับทักษะในการบริหารจัดการที่ดีจะสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจและประสบความสำเร็จได้ไม่ยากนัก

     โดยเฉพาะธุรกิจใหม่อย่าง “ดอกไม้กินได้”

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)