OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

ออมเงินเพื่ออนาคต

5457 | 29 พฤศจิกายน 2561
ออมเงินเพื่ออนาคต

OKMD เร่งหนุนคนไทย  “ออมเงินเพื่ออนาคต” แนะ!! ควรเริ่มทันทีเมื่อมีรายได้ มีวินัย ไม่ควรมีบุ๊คแบงค์เล่มเดียว 

              สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD  เร่งหนุนประชาชนไทยทุกวัยออมเงินเพื่ออนาคต มีเงินใช้จ่ายพอเพียงถึงบั้นปลายชีวิตวัยหลังเกษียณ ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนการเงินชี้พฤติกรรมคนไทยมักไม่ค่อยบริหารการใช้เงินที่ตอบความสุขชีวิตตัวเอง  แนะเทคนิคการออม ควรเริ่มทันทีเมื่อมีรายได้  ต้องมีวินัยเก็บออมต่อเนื่อง และให้แยกสมุดธนาคารตามแผนเป้าหมาย อย่ารวมเล่มเดียว จะประสบผลสำเร็จในการออมได้ง่ายขึ้นและมีความสุข

              จากงาน Knowledge in the park : เปิดพื้นที่เรียนรู้ใจกลางกรุง  ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดโดย OKMD Tkpark และกรุงเทพมหานคร ในช่วงวันที่ 10-11 พฤศจิกายน  2561 เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยได้เข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ เรียนรู้และพัฒนาทักษะที่จำเป็นในยุคใหม่ รวมทั้งร่วมกิจกรรมน่าสนใจมากมายที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และต่อยอดทางธุรกิจได้อย่างสร้างสรรค์ ยังมีเรื่องที่น่าสนใจอีกมากมาย โดยเฉพาะประเด็นสำคัญจากการจัดเสวนาบนเวที “ออมก่อนไม่มีอด”  เป็นการกระตุ้นและเชิญชวนให้คนไทยเริ่มออมเงินเพื่อใช้ในอนาคต เพื่อให้มีเงินใช้จ่ายหลังวัยเกษียณอย่างเพียงพอไปจนถึงบั้นปลายชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งประเทศไทยขณะนี้ได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมของผู้สูงวัย สำนักสถิติแห่งชาติรายงานข้อมูลในปี 2560 ว่ามีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 11.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.7 ของจำนวนประชากรที่มีทั้งหมด 67.6 ล้านคน เพิ่มจากปี 2550 ที่มีจำนวนผู้สูงอายุร้อยละ 10.7 ของประชากรทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อม โดยประชาชนทุกคนควรต้องมีความเข้าใจเรื่องนี้ พร้อมเริ้มต้นลงมือปฏิบัติการออมเงินตั้งแต่ตอนนี้
  
              ดร.อภิชาติ ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักโครงการและจัดการความรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กล่าวว่า เรื่องการออมมีความสำคัญมาก เป็นทั้งความรู้และทักษะที่คนสมัยใหม่ต้องเข้าใจ ปัจจุบันคนไทยอายุโดยเฉลี่ยประมาณ 80 ปี นั่นหมายความว่า เมื่อเราเกษียณอายุที่ 60 ปี เราจะมีเวลาอีก 20 ปี ซึ่งบางคนอาจไม่ได้ทำงานต่อ อาจดำเนินชีวิตอยู่ด้วยเงินที่สะสมเก็บออมเอาไว้ในช่วงที่ทำงานอยู่ การออมเงินจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงเป็นที่มาของจัดการเสวนาครั้งนี้ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนทุกวัย ทั้งวัยที่กำลังมีรายได้ วัยใกล้เกษียณ และวัยที่เกษียณแล้วซึ่งมีเงินจำกัด ได้มีแนวทางบริหารจัดการเงินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สามารดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตดีไปจนถึงบั้นปลายของชีวิต

              ดร.อภิชาติ กล่าวต่อไปว่า การออมเป็นพฤติกรรม เป็นระเบียบวินัยของชีวิต  อย่างในต่างประเทศก็ให้ความสำคัญและมีการฝึกเด็กให้ออมเงินตั้งแต่ยังเล็ก สำหรับในประเทศไทยนั้นยิ่งมีตัวอย่างที่ประชาชนชาวไทยได้รับทราบกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ สมเด็จย่าทรงให้ออมเงินใส่กระปุกออมสิน เมื่อทรงอยากได้อะไรที่พิเศษ ก็ต้องมาดูว่าเหลือเงินเท่าใด เหมาะหรือไม่ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดที่ต้องพอประมาณ มี เหตุผล และคำนึงถึงภายภาคหน้าของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งปัจจุบันนับว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก เนื่องจากมีเครื่องมือทางการเงิน และการตลาดที่กระตุ้นให้เราใช้เงินในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเงินผ่อนปลอดดอกเบี้ย หรืการเปลี่ยนสินทรัพย์เป็นเงิน ดังนั้น ระเบียบวินัยทางการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก  

              “ในส่วนของ OKMD เรามองเรื่องการเพิ่มเงินออมออกเป็น 2 เรื่อง คือการลดรายจ่าย และการเพิ่มรายได้ พยายามจัดการความรู้เพื่อสนองกับวิถีชีวิตในปัจจุบันและในอนาคต  โดยส่งเสริมให้ประชาชนทุกวัยมีความรู้และทักษะใหม่ๆ ทั้งในด้านการพัฒนาตนเอง และพัฒนาอาชีพ ให้สามารถนำไปปรับใช้ เพื่อสร้างรายได้ และเพิ่มการออม โดยจะจัดกิจกรรมบริการความรู้สาธารณะ ในรูปแบบของเวิร์คชอปเสริมให้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายทุกเดือน ณ สวนลุมพินี เดือนละ 2 ครั้ง”  ดร.อภิชาติ กล่าว

                 ทางด้าน นายกริช เศรษฐนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนการเงิน ให้คำปรึกษาการวางแผนการเงินส่วนบุคคล กล่าวว่า การออมเป็นเรื่องใกล้ตัวคนเรา ปัจจัยการออมเงินมี 3 ปัจจัย ได้แก่ 1. เงินต้น 2.  ผลตอบแทน 3. เวลา  โดยปัจจัยด้านเงินต้น และปัจจัยด้านผลตอบแทนสามารถหาเพิ่มได้  แต่ปัจจัยด้านเวลา ไม่สามารถเพิ่มได้ เพราะภายในหนึ่งวันที่ผ่านไป คือการใกล้วันตายไปอีก 1 วัน เพราะฉะนั้นการออมเร็ว คือสิ่งที่ได้เปรียบที่สุด เราจึงควรเริ่มออมทันทีเมื่อมีรายได้ แม้ว่าเงินได้ก้อนแรกจะมีจำนวนไม่มากก็ตาม

                  หลักการคิดในการออมเงินมีความแตกต่างกัน โดยที่ใช้กันมาแต่ดั้งเดิม คือการหักเงินรายได้เพื่อออมไว้ก่อนนำไปใช้จ่ายเรื่องอื่นๆ  ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี  ในขณะที่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าการมีเงินรายได้เหลืออยู่ในบัญชีธนาคาร ก็เป็นการออมในเบื้องต้นแล้ว แปลว่าเริ่มเงินออมแล้ว ลักษณะของการออมที่ดีจะต้องมีความสมดุลย์กับความสุขทุกช่วงชีวิต โดยใช้วิธีการวางแผนทางการเงินเข้ามาช่วย เพราะหากการออมเพื่ออนาคต แต่ต้องใช้ชีวิตอย่างติดขัด ยากลำบาก ไม่มีความสุข จะมีโอกาสท้อใจ และทำให้การออมไม่บรรลุผลสำเร็จ 

               วิธีการวางแผนทางการเงินเพื่อการออมให้มีความสุขทุกช่วงชีวิต ทำได้โดยให้วิเคราะห์รายจ่ายจำเป็นจริง อันดับแรก เช่น เรื่องปัจจัย 4  คือ อาหาร  การผ่อนที่พักอาศัย  เครื่องนุ่งห่มเสื้อผ้า ยารักษาโรค และปัจจัยที่ 5 ซึ่งเป็นความจำเป็นที่ขาดไม่ได้ ซึ่งแต่ละคนมีต่างกัน เช่น ในกลุ่มผู้หญิงอาจจะเป็นเครื่องสำอาง เพิ่มสร้างความมั่นใจการใช้ชีวิต  หรือผู้ชายอาจต้องใช้อินเตอร์เน็ต เป็นต้น เมื่อนำเงินรายจ่าย 2 ส่วนนี้มาหักลบกับรายรับแล้ว ก็จะเหลือเงินส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนที่เราต้องมาวางแผนเพื่อการออม และออมแบบตอบโจทย์ความสุขชีวิตทุกช่วงด้วย  ซึ่งลักษณะอย่างหนึ่งของประชาชนโดยทั่วไปแล้ว เวลาบริหารการใช้เงินจะบริหารแต่เรื่องจำเป็น เช่น เงินผ่อนค่ารถ ค่าบ้าน แต่จะไม่ค่อยบริหารเงินตอบโจทย์ชีวิตที่ตนเองต้องการ ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนการใช้เงินส่วนนี้

               วิธีการวางแผนที่ดีและมีประสิทธิภาพที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำคือ ต้องมีเป้าหมายการออมอย่างชัดเจนว่า จะออมไว้ทำอะไรบ้างในอนาคต และควรแยกบัญชีเงินที่จะออมออกเป็นเล่มๆ  ไม่ควรรวมเงินออมอยู่ในสมุดบัญชีเล่มเดียวกับบัญชีรายรับหรือบัญชีเงินเดือน เพราะเราจะไม่สามารถรู้เป้าหมายแต่ละเป้าหมายว่าใกล้จะถึงแล้วหรือยัง   การแยกบัญชีจะช่วยทำให้เราสามารถควบคุมและมองเห็นเส้นทางเงินออมในแต่ละเรื่องให้บรรลุผลได้ตามที่ต้องการ   

                รูปแบบของการออมเงินในปัจจุบันนี้มีหลากหลาย มีทั้งระยะสิ้น ระยะกลาง ระยะยาว  เช่น อาจออมในรูปของการฝากธนาคาร การซื้อหุ้น พันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน สลากออมทรัพย์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร การซื้อประกันชีวิต สามารถเลือกได้ตามความต้องการและเหมาะกับตนเอง โดยอาจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางอินเตอร์เน็ต หรือในงาน Money Expo ซึ่งมีจัดทั่วประเทศ  

                เคล็ดลับ สำหรับผู้ที่มีรายได้ แต่ออมเงินไม่อยู่ ออมไม่ได้  หรือไม่รู้ว่าจะออมจำนวนเท่าไหร่  จะเริ่มออมตอนไหนดี  มีเทคนิค  แนะนำแนวทางการเริ่มต้นเก็บออม และทำให้การออมประสบผลสำเร็จก็คือ การมีวินัย  ต้องมิวินัยในการทำกิจกรรม อาทิ การมีวินัยกับตัวเองว่า ทุกเที่ยงวัน ให้หยิบแบงค์ที่ใหญ่ที่สุดในกระเป๋าสตางค์ ออกไปเพื่อเก็บออม หรืออาจใช้เทคนิคการจำลองหรือการสมมุติ  เช่น คนโสด ก็จำลองว่ามีลูกแล้ว  หรือคนที่มีลูกแล้ว1 คน ก็ให้เสมือนว่ามีลูก 2 คน  ซึ่งการเลี้ยงเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเรียนจบและมีงานทำ จะใช้เงินประมาณคนละ 5 ล้านบาท  เงินที่จ่ายในส่วนของการจำลองนี้ ก็คือเงินออมนั่นเอง

ดาวน์โหลดเอกสาร (pdf ขนาด 258.32 KB)

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)