OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

การประชุมวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ 2021 | มิวเซียมสายตายาว มองการณ์ไกลเพื่อสังคมสูงวัย

594
16 - 18 กันยายน 2564 | เวลา: 9.00 น. – 17.00 น.
การประชุมวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ 2021 | มิวเซียมสายตายาว มองการณ์ไกลเพื่อสังคมสูงวัย

การประชุมวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ 2021
มิวเซียมสายตายาว มองการณ์ไกลเพื่อสังคมสูงวัย
Farsighted Museum: Sighting forward to Aging Society

ลงทะเบียนฟรี ที่ https://bit.ly/3zyvdjk
พิเศษ !!!
สำหรับผู้ลงทะเบียน 200 ท่านแรกรับของที่ระลึกการประชุม (จัดส่งทางไปรษณีย์)
สามารถเลือกฟังการประชุมได้ 2 ภาษาทั้งภาษาไทยและอังกฤษ

1. ความเป็นมา
สังคมผู้สูงวัย
ใน 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมาโครงสร้างประชากรของโลกเปลี่ยนแปลงไปมากและอย่างรวดเร็ว “ดัชนีการสูงวัย” หรือ Aging Index เป็นตัวเลขที่บ่งชี้ถึงสภาวะสังคม ตามจำนวนประชากรเปรียบเทียบระหว่างจำนวนประชากรผู้สูงอายุ (60 ปี) และจำนวนประชากรวัยเด็ก (ต่ำกว่า 15 ปี)
ค่าดัชนีการสูงวัยจำแนกสังคมออกเป็น 4 กลุ่มดังต่อไปนี้

     1) สังคมเยาว์วัย หมายถึง สังคมที่มีค่าดัชนีต่ำกว่า 50

     2) สังคมสูงวัย (aging society) หมายถึง สังคมที่มีค่าดัชนีระหว่าง 50-119.9 เป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด

     3) สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (aged society) หมายถึงสังคมที่มีค่าดัชนีระหว่าง 120-199.9 เป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด หรือเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด

     4) สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super aged society) หมายถึงสังคมที่ค่าดัชนีตั้งแต่ 200 ขึ้นไป เป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด หรือเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด 

ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2547-2548 (ค.ศ.2004-2005) คาดว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในช่วงปี พ.ศ.2567-2568 (ค.ศ. 2024-2025) และจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ในปี พ.ศ.2575 (ค.ศ.2032)

ปัจจุบันนี้มีประเทศราว 50 ประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศ หลายประเทศได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างทั้งในระบบบริหาร ระบบสุขภาพ การศึกษา การจ้างงาน การพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับความต้องการพื้นฐานและการพัฒนาประชากรกลุ่มใหม่นี้ ประเทศหลายประเทศไม่ได้พัฒนาเพียงแค่การรองรับความต้องการทางกายภาพของประชากรสูงวัย แต่รองรับความต้องการทางสังคม จิตใจ และการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้สูงวัยสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างต่อเนื่อง มีความเคารพและพึ่งพาตนเองได้ ไม่เป็นภาระของสังคมจนส่งผลให้กลายเป็นผู้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

เมื่อมองการทำงานกับผู้สูงอายุเพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัยจากมุมมองของพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์เป็นองค์กรด้านการศึกษาที่สำคัญในการสร้างสรรค์การเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนทุกช่วงวัย หากก็น่าสนใจว่าเมื่อเปรียบเทียบแล้ว ผู้สูงวัยไม่ค่อยถูกรวมเข้ามา หรือเป็นศูนย์กลางการออกแบบการเรียนรู้ในลักษณะเดียวกับประชากรวัยเยาว์ เมื่อแนวโน้มประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่าพิพิธภัณฑ์จะต้องรับมือกับประชากรกลุ่มนี้ซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่ขยายตัวในสัดส่วนที่ไล่ตามประชากรกลุ่มเดิมของพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์สมควรที่จะพัฒนาเพื่อรองรับผู้ชมที่เป็นผู้สูงวัย ด้วยการสำรวจและทำความเข้าใจอย่างจริงจังในเรื่องชีวภาพ กายภาพ จิตวิทยา พัฒนาการทางสังคมของประชากรกลุ่มสูงวัย พิพิธภัณฑ์ควรจะค้นหาและตระหนักในความต้องการที่แท้จริงของผู้สูงวัย เพื่อจะหาข้อบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ และอุปสรรคที่ขัดขวางการเรียนรู้ หรือกันผู้สูงวัยออกจากการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ ในขณะเดียวกันพิพิธภัณฑ์ควรค้นหาวิธีที่จะกระตุ้นให้ผู้สูงวัยเข้าพิพิธภัณฑ์ เรียนรู้จากนิทรรศการและมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ

การดำเนินงานของ สพร.
สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ในฐานะองค์กรที่ถูกจัดตั้งมาเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เห็นความจำเป็นที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการทำงานกับผู้ชมกลุ่มสูงวัย จึงได้ดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัยมาโดยต่อเนื่อง อาทิ จัดการบรรยายในหัวข้อผู้สูงวัย จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ จัดทำนิทรรศการโดยมีผู้สูงวัยเป็นภัณฑารักษ์ร่วม ทั้งนี้ก็เพื่อค้นหาเครื่องมือใหม่ ๆ ในการเรียนรู้และทำงานเพื่อรองรับสังคมสูงวัย และในปีพ.ศ. 2564 นี้ สพร.ดำเนินโครงการด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัย “Farsighted Museum” ใน 3 ระยะ กล่าวคือ

ระยะแรก เพื่อขยายแนวคิดเรื่องพิพิธภัณฑ์กับผู้สูงวัยออกไปให้กว้างขึ้น สพร.ได้สนับสนุนการวิจัยเชิงปฏิบัติการในประเด็นพิพิธภัณฑ์และผู้สูงวัย ให้กับพิพิธภัณฑ์และนักวิจัยที่สนใจประเด็นดังกล่าว จำนวน 10 โครงการ เพื่อกระตุ้นให้วงการพิพิธภัณฑ์ตื่นตัวกับเรื่องการทำงานเพื่อสนองกลุ่มคนที่ตามปกติแล้วไม่ได้อยู่ในใจกลางความสนใจของพิพิธภัณฑ์ รวมถึงเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานในโครงการที่จะเป็นต้นแบบในการพัฒนางานเพื่อผู้สูงวัยต่อไปในอนาคต ในกระบวนการคัดเลือก สพร.ได้จัดให้มีการอบรมออนไลน์เพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจให้กับผู้เสนอโครงการ ทั้งนี้มีผู้สนใจส่งข้อเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนโครงการถึง 31 โครงการ ข้อเสนอมีความหลากหลายและมาจากพิพิธภัณฑ์หลายประเภท ซึ่งสะท้อนถึงความสนใจขององค์กรพิพิธภัณฑ์ที่มีต่อประเด็นผู้สูงวัย ว่ามีค่อนข้างมากและหลากหลาย ซึ่งล้วนควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้ดำเนินการในฐานะที่พิพิธภัณฑ์เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ระยะที่สอง จัดประชุมวิชาการในประเด็นพิพิธภัณฑ์และผู้สูงวัย ในวันที่ 10-12 สิงหาคม 2564 เพื่อสำรวจพรมแดนความรู้ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านผู้สูงวัยในพิพิธภัณฑ์ เรียนรู้จากประสบการณ์ของภาคประชาชนที่ทำงานด้านการศึกษาและจัดกิจกรรมร่วมกับกลุ่มผู้สูงอายุ ในขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงความรู้และข้อเสนอที่ได้จากโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการที่ สพร.ให้ทุนสนับสนุนทั้ง 10 โครงการเข้าสู่เวทีการประชุม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนนำความรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติการมาต่อยอดในการดำเนินงานเพื่อรองรับสังคมสูงวัยต่อไป

ระยะที่สาม เป็นการเผยแพร่ความรู้ที่ได้จากการประชุมวิชาการและโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ โดยการจัดพิมพ์หนังสือและเผยแพร่คลิปการบรรยายผ่านสื่อออนไลน์

2. พิพิธภัณฑ์สายตายาว (Farsighted Museum) : แนวคิด และประเด็นการประชุม
“สายตายาว” เป็นภาวะทางร่างกายที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่ก้าวเข้าสู่สภาวะสูงวัย การประชุมวิชาการในครั้งนี้ หยิบยกคำว่าสายตายาวมาใช้ เพื่อบ่งชี้ว่าเมื่อสังคมกำลังเข้าสู่สภาวะที่ประชากรมีหรือกำลังจะมีภาวะสายตายาว ซึ่งตามดัชนีสูงวัยแล้วก็เปรียบเสมือนการกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ และสังคมสูงวัยระดับสุดยอดตามลำดับ พิพิธภัณฑ์ก็ควรปรับสายตาของตนเองให้มองการณ์ไกลขึ้น เพื่อรองรับผู้สูงวัยซึ่งจะมีจำนวนมากขึ้นถึง 20% ของจำนวนประชากร

เพื่อทำความเข้าใจการทำงานของพิพิธภัณฑ์บนพื้นฐานของความแตกต่างของภาวะสูงวัย ซึ่งมีตั้งแต่ผู้สูงวัยที่ร่างกายแข็งแรง มีความแอคทีฟทางสังคม ผู้สูงวัยที่มีภูมิหลังทางสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ผู้สูงวัยที่เข้าสู่ช่วงปลายของชีวิต ที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนที่ หรือผู้สูงวัยที่อยู่ในระยะท้ายของชีวิต การประชุมมิวเซียมสายตายาวจึงเน้นการเปิดพื้นที่ให้นักวิชาการและนักปฏิบัติการทางพิพิธภัณฑ์ได้สามารถสื่อให้สังคมเห็นถึงความหลากหลาย ทั้งในแง่สภาวะสูงวัย การทำงานบนพื้นที่ที่หลากหลายและวิธีการทำงานที่หลากหลายแนวทางของพิพิธภัณฑ์โดยงานประชุมมีประเด็นที่ต้องการสำรวจดังต่อไปนี้

     1) ความเข้าใจต่างวัฒนธรรมหรือต่างกระบวนทัศน์ /Cross-Cultural Understanding

     2) ความเข้าใจข้ามรุ่น /Cross-Generation Understanding

     3) การสร้างสรรค์และนวัตกรรม /Creativity and Innovation

     4) ดิจิทัลและเทคโนโลยี / Digital and Technology

     5) อารยสถาปัตยกรรม / Universal Design

     6) การพัฒนาศักยภาพสมองและความมั่นคงทางจิตใจ / Brain Potentials and Mental Development

     7) การสร้างความสุขสูงวัยอย่างยั่งยืน / Sustainable Aging Happiness Conceiving

     8) การถ่ายทอดศักยภาพสู่ผู้อื่น / Potentiality Transferring

     9) ความประสงค์ของชีวิต / The Last Breathing

อนึ่ง การประชุมให้ความสนใจกับคำสำคัญที่เป็นหัวใจของความยั่งยืนทางสังคม (social sustainability) นั่นคือ Intergeneration approach ทั้งนี้ ก็ด้วยความตระหนักว่าผู้สูงวัยในฐานะที่เป็นผู้ที่มาก่อน และอยู่ในบริบททางสังคมที่หลากหลาย ย่อมต้องมีประสบการณ์ มีความรู้ มีบทเรียน มีความหวังต่อสังคม ที่สามารถส่งต่อความรู้ ประสบการณ์ แรงบันดาลใจไปยังคนรุ่นหลังเพื่อสร้างความต่อเนื่องของความรู้ ให้สังคมไม่ตัดขาดจากกัน เช่นเดียวกัน คนรุ่นหลังก็มีประสบการณ์ที่แตกต่างที่คนรุ่นก่อนอาจจะไม่ชำนาญเท่า เช่น ทักษะการใช้เครื่องมือดิจิทัล ทักษะการผลิตสื่อที่หลากหลาย หรือความรู้ที่แตกต่างออกไป อันเป็นผลจากการเข้าถึงพื้นที่ข้อมูลที่ต่างจากคนรุ่นก่อน ความแตกต่างทั้งหลายเหล่านี้ หากถูกนำมาใช้อย่างสร้างสรรค์ก็จะเกิดการถ่ายทอดและเกิดการเรียนรู้ใหม่ของคนในวัยต่าง ๆ ทำให้สังคมมีพลวัตและมีความยั่งยืน 

3. วัตถุประสงค์

     1) เพื่อรวบรวมองค์ความรู้และปฏิบัติการด้านพิพิธภัณฑ์เพื่อผู้สูงวัย

     2) เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างผู้ปฏิบัติงานด้านผู้สูงวัยพิพิธภัณฑ์ นักปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์ นักการศึกษาพิพิธภัณฑ์ และผู้บริหารพิพิธภัณฑ์

     3) เพื่อสร้างการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานพิพิธภัณฑ์เพื่อผู้สูงวัยในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ

     4) เพื่อจุดประเด็นเรื่องบทบาทของพิพิธภัณฑ์ในสังคมผู้สูงวัยให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง

4. กลุ่มเป้าหมาย

     1) นักปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์ นักการศึกษา และภัณฑารักษ์

     2) นักออกแบบ สถาปนิกด้านอารยสถาปัตยกรรม

     3) นักวิจัย ด้านผู้สูงอายุ

     4) สาธารณชน

5. ผู้จัดงาน

     ฝ่ายพัฒนาองค์ความรู้พิพิธภัณฑ์ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ

6. วัน เวลา

     16-18 กันยายน 2564 9.00 น. – 17.00 น.

7. ช่องทาง

     Facebook Live : Museum Siam

     ZOOM

8. องค์กรร่วมจัด

     สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย

     คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

     คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

     คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

     สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

     หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

     หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

     พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ฟิลิปปินส์

9. องค์ปาฐกและวิทยากร

     องค์ปาฐก จาก 4 ประเทศที่ล้วนเข้าสู่ประเทศสังคมสูงวัย ได้แก่

     1) Dr.Huang, Sing-Da (Head of Education Department of National Taiwan Museum) ปัจจุบันไต้หวันกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super-Aged Society) และได้มีการเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดอย่างเป็นระบบ มีการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่มุ่งสร้าง co-learning มีการจัดเตรียมโปรแกรมการเรียนรู้สำหรับผู้สูงวัย พิพิธภัณฑ์มีส่วนร่วมด้วยการทำงานกับศูนย์สุขภาวะและไปเยี่ยมผู้สูงอายุที่มีปัญหาความจำ ตลอดจนทำงานกับผู้ดูแลผู้สูงอายุ นอกจากนี้ มีการสร้างเครือข่ายพิพิธภัณฑ์สร้างสรรค์ในการให้บริการผู้สูงวัยด้วย

     2) Thomas Kuan ผู้ขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับกลุ่มผู้สูงอายุ ด้วยแนวคิดและเครือข่ายมหาวิทยาลัยวัยที่สาม (University of the Thirs Age หรือ U3A) ประเทศสิงคโปร์  ในบรรดาประเทศอาเซียนนั้น สิงคโปร์และไทยเป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยก่อนประเทศอื่น ๆ โดยสิงคโปร์เข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นอันดับแรกในอาเซียน สิงคโปร์มีการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ และด้านการเรียนรู้ที่เอื้อต่อผู้สูงวัย ซึ่งมหาวิทยาลัยวัยที่สามเป็นเครือข่ายที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้แก่ผู้สูงวัยที่สำคัญเครือข่ายหนึ่ง

     3) Pia Hovi-Assad ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์ศิลปะปอรี ประเทศฟินแลนด์ ฟินแลนด์เป็นประเทศที่อัตราเร่งของประชากรผู้สูงวัยสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ในปี 2000 ฟินแลนด์มีประชากรอายุ 65 ราว 15% ของจำนวนประชากร แต่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 22 เปอร์เซ็นต์ในปี 2019 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 28% ในปี 2050 พิพิธภัณฑ์ศิลปะปอรีได้ดำเนินงานที่สำคัญหลายอย่างเพื่อผู้สูงวัย โดยเน้นการสร้างสรรค์ ศิลปะ การสัมพันธ์กับชุมชน และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม

     4) คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ บริษัทชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ผู้ขับเคลื่อนพินัยกรรมชีวิตสิทธิการตาย

     วิทยากร ประกอบด้วย

     1) ตัวแทนโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการที่ได้รับการสนับสนุนจากสพร.จำนวน 10 โครงการ

     2) ผู้สนใจที่เสนอบทคัดย่อและผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการตัดสินให้เข้าร่วมการนำเสนอ จำนวน 8 ราย

     3) ผู้ปฏิบัติงานพิพิธภัณฑ์จาก 6 ประเทศในเอเชีย

10. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

     1) ได้องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงานระหว่างพิพิธภัณฑ์และผู้สูงวัย

     2) เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างผู้ปฏิบัติงานพิพิธภัณฑ์และผู้สูงวัย

     3) เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษาในพิพิธภัณฑ์ไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

     4) กระตุ้นให้พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยให้ความสำคัญกับการปฏิบัติงานที่รองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและผู้สูงวัย

     5) กระตุ้นให้สังคมวงกว้างมองเห็นบทบาทของพิพิธภัณฑ์ในสังคมสูงวัย

11. กำหนดการสำคัญ





12. สอบถามเพิ่มเติม

     ฝ่ายพัฒนาองค์ความรู้พิพิธภัณฑ์

     สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.)

     www.museumsiam.org/museumforum2021

     อีเมล farsightedmuseum@gmail.com โทร 091-787-3124

ลงทะเบียนฟรี ที่ https://bit.ly/3zyvdjk
พิเศษ !!!
สำหรับผู้ลงทะเบียน 200 ท่านแรกรับของที่ระลึกการประชุม (จัดส่งทางไปรษณีย์)
สามารถเลือกฟังการประชุมได้ 2 ภาษาทั้งภาษาไทยและอังกฤษ

กิจกรรมที่น่าสนใจประจำเดือนนี้
กิจกรรมที่น่าสนใจประจำเดือนนี้