OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

ยุคสมัยของคอมพิวเตอร์กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

75797 | 15 กรกฎาคม 2564
ยุคสมัยของคอมพิวเตอร์กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
Photo by Glenn Carstens-Peters on Unsplash

เครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราใช้กันทุกวันนี้ ไม่ว่าจะใช้เล่นอินเทอร์เน็ต ดูหนัง ฟังเพลง ช่วยในการทำงานสารพัดอย่าง มันได้ผ่านการพัฒนามาหลายยุคหลายสมัยตามเทคโนโลยีที่ใช้สร้างมันขึ้นมา ผ่านพัฒนาการมาหลายสิบปี มีการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้มันมีขนาดที่เล็กลงมากและมีความเร็วในการประมวลผลที่เร็วขึ้นอย่างเหลือเชื่อ อย่างเช่น เจ้าไอแพดที่เราใช้ๆ กันปัจจุบันนี้ มันก็มีความสามารถมากมายหลายล้านเท่าเมื่อเทียบกับคอมพิวเตอร์ในยุคเริ่มแรกที่เป็นบรรพบุรุษของมัน 

ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ได้แบ่งยุคสมัยของการพัฒนาของเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยพิจารณาจากเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างมันขึ้นมา แบ่งคร่าวๆ ได้เป็น 5 ยุค ดังนี้

1. คอมพิวเตอร์ยุคที่ 1 (1946 - 1959) เครื่องคอมพิวเตอร์ยุคนี้ใช้หลอดสูญญากาศเป็นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หลอดสูญญากาศนี้มีหน้าตาคล้ายๆ หลอดไฟใสๆ ทำหน้าที่เหมือนสวิทช์เปิด ปิด วงจรไฟฟ้าต่างๆ ให้เชื่อมต่อกัน ซึ่งมีข้อเสียหลายอย่าง คือ ต้องใช้หลอดสูญญากาศจำนวนมาก ทำให้เครื่องมีขนาดใหญ่มาก ประมาณว่าเป็นห้องๆ เลยทีเดียว และการทำงานต้องใช้กระแสไฟฟ้าจำนวนมาก ทำให้เครื่องเกิดความร้อนสูงและมักเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย และหลอดสูญญากาศยังมีอายุการใช้งานต่ำ เก็บข้อมูลด้วย  Magnetic Drum ที่เก็บได้น้อยนิดมาก และการป้อนคำสั่งให้เครื่องทำงาน ก็ใช้แบบเป็นกระดาษแข็งเจาะเป็นรูๆ  หน้าจอก็ไม่มีนะ ประมวลผลเสร็จก็เก็บผลไว้ในแถบแม่เหล็กต้องมาส่องกันเอาเอง  ตัวอย่างคอมพิวเตอร์ในยุคนี้ เช่น มาร์ค วัน (MARK 1), อีนิแอค (ENIAC), ยูนิแวค (UNIVAC) เป็นต้น

2. คอมพิวเตอร์ยุคที่ 2 (1959 - 1965) คอมพิวเตอร์ยุคนี้เริ่มใช้ทรานซิสเตอร์ เป็นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ แทนหลอดสูญญากาศ ทำให้เครื่องมีขนาดเล็กลง ความเร็วในการทำงานสูง ใช้กระแสไฟฟ้าน้อยลง ต้นทุนที่ใช้ในการผลิตลดลง ได้ข้อมูลที่ถูกต้องมากกว่า ยุคนี้ใช้วงแหวนแม่เหล็กเป็นหน่วยความจำหลักและตอนปลายยุคใช้จานแม่เหล็กเป็นหน่วยความจำสำรอง เริ่มใช้ชุดคำสั่งภาษาระดับสูง เช่น COBOL, FORTRAN, ALGOL ตัวอย่างคอมพิวเตอร์ในยุคนี้ได้แก่ IBM 1620 เป็นต้น

3. คอมพิวเตอร์ยุคที่ 3 (1965 - 1972) คอมพิวเตอร์ในยุคนี้ใช้วงจรไอซี (Integrated Circuit)  ซึ่งเป็นแผ่นซิลิคอนที่สามารถบรรจุทรานซิสเตอร์ไว้จำนวนเป็นพันๆ ตัว เรียกว่า "ชิป" (Chip) ซึ่งมีขนาดเล็กมาก จึงทำให้เครื่องในยุคนี้มีขนาดเล็กลง ป้อนชุดคำสั่งด้วยภาษาระดับสูง อาทิ COBOL, FORTRAN-II to FORTRAN-IV, PASCAL, ALGOL-68 ทำให้สามารถเขียนโปรแกรมเพื่อใช้แก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้มากขึ้น และเริ่มมีโปรแกรมสำเร็จรูปใช้งาน ตัวอย่างเครื่องในยุคนี้ ได้แก่ IBM360

4. คอมพิวเตอร์ยุคที่ 4 (1972 - 1980) คอมพิวเตอร์ในยุคนี้จนถึงปัจจุบัน ใช้วงจร LSI (Large-Scale Integrated Circuit) คือ การใช้เทคโนโลยีรวมวงจรไอซีจำนวนมากลงในแผ่นซิลิคอนชิป 1 แผ่น ซึ่งทำให้คอมพิวเตอร์มีขนาดเล็กลงไปอีกมาก และพัฒนากลายเป็นวงจร VLSI (Very Large -Scale Integrated Circuit) ซึ่งสามารถบรรจุทรานซิสเตอร์ได้มากกว่า 1 ล้านตัว และด้วยเทคโนโลยีใหม่นี้ทำให้เกิดแนวคิดในการบรรจุวงจรที่สำคัญสำหรับการทำงานพื้นฐานของคอมพิวเตอร์ลงในชิปตัวเดียว นั่นคือส่วนของ CPU (Central  Processing Unit) อยู่บนชิปตัวเดียวเรียกว่า "ไมโครโปรเซสเซอร์" ตัวอย่างเครื่องในยุคนี้ ได้แก่ IBM 370 ซึ่งเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ และไมโครคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลก คือ Altair 8800 , a\Apple II เป็นต้น ภาษาที่ใช้ในยุคนี้ได้แก่ C, C++, and Dbase  และเริ่มมีโปรแกรม word processing, spreadsheet, โปรแกรมช่วยวาดรูปต่างๆ และยังเริ่มเข้าสู่ยุค CD-ROM และยุคการเชื่อมต่อกันของคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่อง (Computer Networking)
   
5. คอมพิวเตอร์ยุคที่ 5 (1982 - ปัจจุบัน) ยุคของวงจร VLSI เป็นช่วงที่กำลังพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า "ไมโครโปรเซสเซอร์" ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งทางด้านเทคโนโลยี ทางสถาปัตยกรรมโครงสร้าง ทำให้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์มีขนาดที่เล็กลงมากๆ มีหน่วยความจำขนาดใหญ่มาก เราจึงเห็น Laptop, Notebook ขนาดเล็กที่พกพาได้สะดวก หรือ Super Computer ที่ทำงานได้เร็วมากๆ ส่วนด้านซอฟต์แวร์ เราก็ระบบปฏิบัติการ MS Windows, Linux  และการพัฒนาภาษาที่ใช้ใหม่ๆ เช่น C++, JAVA  และมีโปรแกรมสำเร็จรูปให้ใช้กันมากมาย ที่สำคัญในยุคนี้ยังเป็นยุคของอินเตอร์เน็ตที่คอมพิวเตอร์ทั้งโลกสามารถเชื่อมต่อกันได้ด้วยนะ

สำหรับคอมพิวเตอร์ในยุคที่ 5 นี้ได้พัฒนามาไกลจนถึงจุดที่ความเร็วในการประมวลผลจะไม่ได้เร็วขึ้นแบบก้าวกระโดดอีกแล้ว เนื่องจากเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตไมโครโปรเซสเซอร์ไม่สามารถทำให้เจ้าทรานซิสเตอร์เล็กจิ๋วไปกว่านี้ได้อีก ปัจจุบันทรานซิสเตอร์ก็มีขนาดเล็กแค่ไม่กี่นาโนเมตรแล้ว ทำให้เล็กกว่านี้ได้ยาก  ดังนั้น คอมพิวเตอร์ในยุคต่อไปนั้นนักวิทยาศาสตร์กำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า ควอนตัม คอมพิวติ้ง เป็นเทคโนโลยีที่นำคุณสมบัติทางควอนตัมฟิสิกส์ระดับอะตอมมาออกแบบสร้างหน่วยประมวลผลที่จะทำงานได้เร็วกว่าคอมพิวเตอร์ยุคปัจจุบันเป็นหมื่นเป็นล้านเท่าเลยนะ แต่มันก็อยู่ในช่วงกำลังพัฒนา มีปัญหาอีกหลายอย่างเช่น มันยังไม่ค่อยเสถียรหรือต้องทำงานในห้องที่อุณหภูมิเย็นจัด ซึ่งคาดว่าคงต้องใช้เวลาอีกสัก 10-20 ปี กว่าจะเริ่มมีการนำมาใช้ได้จริงจัง  เมื่อถึงเวลานั้นเราคงจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ มากมาย เช่น ระบบ AI ที่ฉลาดล้ำเกินกว่ามนุษย์ก็เป็นได้
 
ไม่น่าเชื่อว่า สุดท้ายเราอาจจะได้อยู่ในยุคที่ AI ครองเมือง คงไม่ไกลเกินจริง





ข้อมูลประกอบการเขียน
https://th.wikipedia.org/
https://www.nectec.or.th/
https://www.informationq.com/generations-of-computers-and-future-computer/

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)