OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

Shared Kitchen ธุรกิจในยุคเศรษฐกิจแบ่งปัน

1996 | 9 กรกฎาคม 2564
Shared Kitchen ธุรกิจในยุคเศรษฐกิจแบ่งปัน
ถ้าพูดถึง Sharing Economy หรือแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปัน หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักหรือไม่คุ้นเคย แต่ถ้าพูดถึง Airbnb ที่เป็นธุรกิจแบ่งปันที่พัก หรือธุรกิจบริการด้านการเดินทางอย่างเช่น Uber หรือ Grab หลายคนคงจะพอเคยได้ยินและใช้บริการกันบ้างแล้ว เพราะเป็นธุรกิจที่มีชื่อเสียงและมีการใช้งานกันในหลายประเทศทั่วโลก

Sharing Economy คืออะไร?
Sharing Economy หรือ เศรษฐกิจแบ่งปัน คือระบบเศรษฐกิจที่มีการแบ่งปันสินทรัพย์หรือบริการระหว่างบุคคล โดยมีแพลตฟอร์มหลักในการเชื่อมโยงธุรกรรมผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากรหรือสิ่งของที่ไม่ได้ใช้ / ยังใช้งานได้ไม่เต็มที่ระหว่างผู้ให้บริการกับผู้บริโภค ให้สามารถเข้าถึงได้โดยที่ไม่ต้องซื้อสินค้ามาเป็นของตัวเอง สามารถเช่าหรือยืมใช้งานได้เท่าที่จำเป็น ตามแนวความคิดของการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจ Home Sharing หรือธุรกิจแบ่งปันที่พักที่เปิดบ้าน/ห้องให้นักเดินทางเช่าพักรายวัน ธุรกิจ Car Sharing บริการด้านการเดินทางและขนส่ง ธุรกิจ Co-Working Space ที่เป็นบริการให้เช่าพื้นที่ทำงานหรือสำนักงานในระยะสั้น ธุรกิจ Luxury Product Sharing บริการให้เช่าสินค้าหรูหราหรือสินค้าแบรนด์เนม ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า นาฬิกา ไปจนถึงรถซุปเปอร์คาร์ เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นธุรกิจที่ได้นำแนวคิด Sharing Economy มาใช้ในการประกอบกิจการทั้งสิ้น ทั้งนี้ จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า Sharing Economy เป็นเทรนด์ด้านธุรกิจที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ที่ส่งผลให้ให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเราเปลี่ยนไป

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจหนึ่งที่ใช้แนวคิด Sharing Economy และกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน คือ Shared Kitchen หรือ ครัวกลาง 

Shared Kitchen ตัวอย่างธุรกิจในยุคเศรษฐกิจแบ่งปัน
Shared Kitchen หรือ ครัวกลาง คือการให้บริการเช่าพื้นที่ครัวและอุปกรณ์ทำครัวแบบอุตสาหกรรมเพื่อค้าขายอาหาร โดยอาจจะมีบริการเพื่อให้ครอบคลุมการทำร้านอาหาร เช่น ซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจอาหาร บริการทำแบรนด์ดิ้งหรือสร้างแบรนด์ ออกแบบฉลากอาหารและฉลากโภชนาการ บริการพนักงานทำอาหาร บริการบรรจุอาหาร บริการจัดซื้อวัตถุดิบ บริการวิเคราะห์ข้อมูล บริการจัดส่งอาหาร ช่องทางการจำหน่าย เป็นต้น

ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องของพื้นที่จำหน่ายให้กับผู้ที่อยากขายอาหารแต่ไม่มีหน้าร้านเป็นของตนเอง ผู้ที่ต้องการทดลองทำอาหารออกมาเพื่อทดสอบตลาด ผู้ขายอาหารแบบจัดส่งถึงบ้าน ผู้ที่ต้องใช้พื้นที่ในเตรียมอาหารและเก็บวัตถุดิบ และผู้ที่ต้องการขยายขนาดครัว เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต และยังเป็นการลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการรายใหม่ เพราะไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างร้านและไม่ต้องมีครัวเป็นของตัวเอง นอกจากนี้ Shared Kitchen เป็นรูปแบบธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีจำนวนสาขามาก เพราะสามารถช่วยขยายธุรกิจไปยังพื้นที่ใหม่ๆ และเข้าถึงฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ได้อย่างรวดเร็ว 

ปัจจุบัน Shared Kitchen ได้รับความนิยมและแพร่หลายอย่างมากในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา มีบริการให้เช่าพื้นที่ครัวแบบมืออาชีพพร้อมอุปกรณ์ครบครันให้กับร้านอาหารเพื่อเตรียมอาหารแบบเดลิเวอรี่ และมีบริการเสริมอื่นๆ เพิ่มเติมสำหรับธุรกิจร้านอาหาร เช่น ซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจอาหาร บริการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคทั้งเรื่องรายได้และรสนิยมลูกค้า เพื่อช่วยรวบรวมข้อมูลทางการตลาดแบบเจาะลึก เป็นต้น นอกจากนี้ ในหลายประเทศแถบยุโรป ก็มีบริการให้เช่าห้องครัวและอุปกรณ์ครัว รวมถึงมีบริการผลิตอาหารแทนให้กับแบรนด์ร้านอาหารเพื่อส่งเดลิเวอรี่อีกด้วย 

ข้อดีของการใช้ครัวกลางหรือ Shared Kitchen 
  • ประหยัดค่าใช้จ่ายภายในร้าน เช่น ค่าเช่า/ซื้อหน้าร้าน ค่าแรงพนักงานเสิร์ฟ ค่าน้ำค่าไฟ เป็นต้น
  • ใช้พื้นที่น้อย มีเพียงพื้นที่ทำครัว และไม่ต้องมีพื้นที่บริการลูกค้า
  • ใช้พนักงานน้อย มีเพียงคนทำอาหารก็สามารถเปิดธุรกิจได้ 
  • ต้นทุนร้านค้าถูกลงและสามารถตั้งธุรกิจได้รวดเร็ว เนื่องจากเป็นการเช่าพื้นที่ จึงไม่ต้องลงทุนกับค่าตกแต่งร้าน และอุปกรณ์ต่างๆ
  • เป็นครัวที่ได้รับมาตรฐาน เนื่องจากผู้บริการให้เช่าจะเป็นผู้จัดการพื้นที่ครัวและอุปกรณ์ทำครัวแบบอุตสาหกรรมสำหรับค้าขายอาหารโดยเฉพาะ
นับได้ว่า Shared Kitchen เป็นตัวอย่างหนึ่งของระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน ที่เป็นการเชื่อมโยงแบ่งปันสินทรัพย์และบริการระหว่างธุรกิจ เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ลดการสิ้นเปลือง อีกทั้งยังสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายและต้นทุนได้ ซึ่งเป็นโอกาสและทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอาหารเลยทีเดียว หากลองมาปรับใช้กับเมืองไทยบ้างในอนาคต ก็เป็นไอเดียที่ไม่เกินความเป็นจริงได้เหมือนกันนะ ว่าไหม!! 





ที่มาของข้อมูล
https://www.allaroundplastics.com/article/sustainability/1898
https://www.allaroundplastics.com/article/business-tips/3064
https://www.greenpeace.org/thailand/story/17209/plastic-slowing-the-circular-economy/
https://www.scbeic.com/th/detail/product/2831
https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/sharing-economy-provide-income
https://www.powersmethai.com/sme-article/sharing-economy-business-trend/
https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/EconomicConditions/AAA/SharingEconomy_V8.pdf
http://www.etatjournal.com/mobile/index.php/menu-read-tat/menu-2015/menu-22015/245-22015-sharing
https://web.tcdc.or.th/th/Articles/Detail/CloudKitchen
https://cheechongruay.smartsme.co.th/content/25263
https://www.scg.com/sustainability/circular-economy/interesting/shared-kitchen/
https://www.salika.co/2019/11/15/sharing-economy-thailand-economic-future/
https://www.disruptignite.com/blog/shared-kitchen-and-delivery
https://www.brandbuffet.in.th/2019/05/ghost-restaurant-shared-kitchen-rising-star-in-food-delivery-b...
https://brandinside.asia/cloud-kitchen-keatz/
https://amarinacademy.com/7146/management/ghostkitchen/

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)