OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

ครูปฐมวัย “สอนออนไลน์ แบบไหนที่ใช่ และเด็กชอบ”

18612 | 5 กรกฎาคม 2564
ครูปฐมวัย “สอนออนไลน์ แบบไหนที่ใช่ และเด็กชอบ”
ในยุคที่เกิดสถานการณ์โรคระบาด การเรียนรู้ที่บ้าน หรือที่เราเรียกว่า Learn From home ถือเป็นมาตรการหนึ่งเพื่อหยุดการแพร่กระจายของโรคระบาดไวรัสโคโรนา 19 สำหรับเด็กปฐมวัย ช่วงอายุ 3-5 ปี ก็ใช้เป็นแนวปฏิบัติในการไปโรงเรียนเช่นกัน จากเดิม เด็กเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียน แต่ในช่วงเวลานี้ เพื่อนเรียนที่ดีที่สุดก็คือ “พ่อแม่” ยิ่งถ้าพ่อแม่ต้อง WFH ด้วย ถือว่าเป็นโอกาสดีที่พ่อแม่จะได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับลูก
 
ด้วยบทเรียนที่ครูออกแบบมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ  ดังนั้น เมื่อช่องทางการเข้าถึงการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงไป บทบาทของพ่อแม่เมื่ออยู่ที่บ้านก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปด้วย  จากการเป็นผู้ปกครองเฉยๆ ก็กลายเป็นผู้ปกครองที่ต้องช่วยเหลือให้เด็กได้เรียนรู้กิจกรรมต่างๆ เพื่อการพัฒนาทักษะร่วมกับคุณครูผ่านการสอนออนไลน์ไปด้วย ทั้งช่วยจัดเตรียมสื่อ อุปกรณ์ของเล่น  พื้นที่สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ รวมถึงการออกแบบการจัดกิจกรรมภายในบ้านให้สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของครอบครัว เช่น จัดตารางกิจกรรมให้เด็กได้มีโอกาสออกกำลังกาย ทำงานบ้าน การเล่นอิสระ และการพักผ่อนอย่างสมดุลในแต่ละวัน
 
เมื่อเด็กเล็กต้องเรียนรู้ที่บ้าน จึงทำให้พ่อแม่มีส่วนร่วมในการเรียนรู้กับลูกมากขึ้น แน่นอนว่าบทบาทของครูก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน  จากเดิมที่ต้องสอนหรือทำกิจกรรมกับเด็กๆ ในห้องเรียนปกติ ก็ต้องผันตัวเองมาเป็นครูสอนผ่านออนไลน์ บางคนอาจจะเป็นมือใหม่ที่ต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเด็ก โดยเฉพาะครูปฐมวัย ที่ต้องดูแลเด็กช่วงอายุ 3-5 ปี ซึ่งตามธรรมชาติของเด็กวัยนี้ความสนใจ จดจ่ออาจจะมีน้อยกว่าเด็กโต การเรียนรู้ส่วนใหญ่มาจากการเล่นให้สนุก สาระเนื้อหา และกระบวนการเป็นแบบบูรณาการ ไม่ได้เฉพาะเจาะจงเป็นรายวิชา  ถือว่าเป็นสิ่งท้าทายครั้งใหญ่ที่ครูปฐมวัยต้องเพิ่มบทบาทตนเองให้เป็น “นักออกแบบการจัดการเรียนรู้และกิจกรรมผ่านหน้าจอ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  

ที่ผ่านมา การใช้เทคโนโลยีกับเด็กปฐมวัยอาจไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นเท่ากับการเรียนรู้จากการลงมือทำจากประสบการณ์ที่หลากหลาย แต่ด้วยสถานการณ์แบบนี้ ครูปฐมวัยและพ่อแม่จำเป็นที่จะต้องจับมือกัน สร้างทีมเวิร์คที่เหนียวแน่น เพื่อสนับสนุนส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะนำพาเด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน  มีความยืดหยุ่น และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้  

เทคนิค “สอนออนไลน์ แบบไหนที่ใช่ และเด็กชอบ”
  1. ใช้เด็กนำทางไปสู่เรื่องที่เด็กสนใจ โดยทั่วไปครูปฐมวัยมักจะเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก การที่ครูสังเกตว่าเด็กมีความสนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษ แล้วนำเอาความสนใจนั้นมาออกแบบกระบวนการเรียนรู้และกิจกรรม จะทำให้การเรียนรู้นั้นดูสนุก น่าตื่นเต้น เช่น ถ้าเด็กสนใจเรื่องรถไฟ ครูอาจเริ่มต้นการสอนด้วยการร้องเพลง “รถไฟ” พร้อมกับการทำกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อเป็นการเปิดสมอง เปิดอารมณ์เด็กให้เบิกบานพร้อมที่จะเรียนรู้ ตามด้วยกิจกรรมการเล่านิทาน เพื่อเชื่อมโยงไปสู่สาระเนื้อหาที่ต้องการสอดแทรก หรือกิจกรรมสร้างสรรค์โดยให้เด็กนำบล็อกไม้ สื่อของเล่น หรือเศษวัสดุต่างๆที่มีอยู่ที่บ้านนำมาประดิษฐ์เป็นรถไฟ หรือยานพาหนะต่างๆ ตามที่เด็กสนใจ ก็ยิ่งทำให้การเรียนรู้ออนไลน์นั้นดึงดูดใจได้มากขึ้น 
  2. ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ต้องมีความยืดหยุ่น หมายความว่าในขณะที่ครูกำลังสอนเนื้อหาสาระออนไลน์อยู่นั้นอาจจะสอดแทรกกิจกรรมที่เป็นออฟไลน์บ้างอย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กๆได้รู้จักการคิดออกแบบ วางแผน และลงมือทำด้วยตนเอง หรืออาจจะเป็นโจทย์ที่ให้เด็กทำกิจกรรมร่วมกับพ่อแม่ เช่น ประดิษฐ์รถไฟจากเศษวัสดุ เมื่อประดิษฐ์แล้ว อาจจะให้เด็กนำรถไฟทีประดิษฐ์ไปสำรวจรอบๆบริเวณบ้าน แล้วให้พ่อแม่ถ่ายทำเป็นคลิปวิดีโอ หรือถ่ายเป็นรูปภาพ เพื่อนำมาเล่าให้เพื่อนและครูฟัง
  3. มีความสมดุลระหว่างการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย เน้นความสนุกสนาน ควบคู่ไปกับการทำแบบทดสอบอย่างสร้างสรรค์  เช่น การเล่นเกมส์  ปริศนาคำทาย  คำคล้องจอง  การฟังนิทาน ร้องเพลง ฯลฯ ไม่เน้นการทดสอบวัดประเมินผลเด็กอย่างเข้มข้น หรือให้เด็กทำแบบฝึกหัดกองโตจนทำให้เด็กรู้สึกว่าการเรียนออนไลน์เป็นเรื่องที่น่าเบื่อ 
  4. จัดเตรียม สื่อ วัสดุอุปกรณ์ หรือพร๊อพรูปสัตว์ต่างๆ เช่น หมี เสือ สุนัข กระต่าย แมว ฯลฯ มาใช้เป็นตัวละครหรือเล่นบทบาทสมมุติ สร้างสถานการณ์จำลองต่างๆ สร้างสรรค์จินตนาการ ช่วยกระตุ้น ดึงดูดความสนใจในการเรียนรู้ และถ้าสามารถให้เด็กนำสื่อของเล่นที่มีอยู่แล้วในบ้านมาเป็นตัวช่วยในการหยิบจับ สัมผัสไปด้วย เช่น เอาบล็อกไม้มานับเลข เอาดินสอมาเรียงลำดับ เอาของเล่นมาจัดหมวดหมู่ จะทำให้เด็กยิ่งสนุกสนานมากขึ้น
  5. ดนตรีคือสิ่งมหัศจรรย์สำหรับเด็ก การนำดนตรีมาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบกิจกรรม จะทำให้สมองเกิดการตื่นตัว การให้เด็กๆได้เคลื่อนไหวอย่างอิสระ หรืออาจจะเคลื่อนไหวร่างกายไปพร้อมกับพ่อแม่ จะทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย ปลดปล่อย ช่วยลดความเครียดทั้งเด็กและพ่อแม่ได้ 
  6. หากูรูด้านเทคโนโลยีไว้คอยให้คำปรึกษา บางครั้งจำเป็นต้องใช้ลูกเล่นของสื่อดิจิทัล หรือเครื่องมือสอนออนไลน์ต่างๆมาใช้บ้าง เพื่อทำให้การสอนออนไลน์นั้นมีสีสัน เช่น เทคนิคการตัดต่อภาพ ใส่เพลง เพิ่มเอฟเฟ็กต์ฟรุ้งฟริ้ง น่ารักๆ ด้วยแอปพลิเคชั่นต่างๆ ก็จะทำให้การสอนออนไลน์นั้นดูน่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ 
  7. ให้พ่อแม่เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนรู้ โดยคำนึงถึงความสะดวก และความสมัครใจของพ่อแม่เป็นหลัก เนื่องจากบางครอบครัวอาจจะมีภารกิจที่แตกต่างกัน เช่น อาจจะให้ผู้ปกครองที่สะดวกช่วยถ่ายคลิปวิดีโอกิจกรรมต่างๆ ที่ลูกสนใจเป็นพิเศษ มาแชร์ร่วมกัน เพื่อที่ครูจะได้ใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนการออกแบบการเรียนรู้และกิจกรรมให้กับเด็กได้น่าสนใจมากขึ้น 
ถึงแม้ว่า การที่เด็กปฐมวัยต้องมาเรียนรู้จากการสอนออนไลน์นั้น จะไม่ตอบโจทย์ธรรมชาติในการเรียนรู้ของเด็กสักเท่าไหร่ แต่เนื่องจากสถานการณ์ที่วิกฤตอย่างนี้ เด็กๆ ไม่มีโอกาสไปโรงเรียน การมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนในวัยเดียวกันก็น้อยลง กิจวัตรประจำวันต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลงไป  การที่พ่อแม่ และครูจะต้องช่วยกันสร้างการเรียนรู้ของเด็กให้เกิดขึ้นได้ในที่บ้านจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และสำคัญ ซึ่งบางครั้งพ่อแม่ก็ไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไร การใช้สื่อโซเชี่ยลมีเดียเพื่อเป็นสื่อกลางในการพบปะ พูดคุย ปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างพ่อแม่ และครูจึงเป็นวิธีการที่ดี เพื่อที่จะได้ร่วมมือกันในการพัฒนาเด็กในช่วงนี้ สำหรับครูปฐมวัยการใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส ได้นำเอาเทคนิคต่างๆ มาช่วยในการสอนออนไลน์ ถือเป็นมิติใหม่ในการพัฒนาทักษะตนเองไปสู่ “นักออกแบบการจัดการเรียนรู้และกิจกรรมผ่านหน้าจอ” อย่างแท้จริง 





ข้อมูลประกอบการเขียน
https://www.starfishlabz.com/blog/207-new-normal
https://bit.ly/3yks1qH

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)