OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

สะล้อ ซอ ซึง มนต์เสน่ห์ดนตรีแห่งล้านนา

36038 | 20 พฤษภาคม 2564
สะล้อ ซอ ซึง มนต์เสน่ห์ดนตรีแห่งล้านนา
แว่วเสียงสะล้อ ซอ ซึง จวนหื้อนึกถึงดินแดนล้านนา เสียงดนตรีอันมีเอกลักษณ์ที่มีการขับร้องและท่วงทำนองอ่อนโยน ฟังดูเนิบนาบนุ่มนวล ฟังแล้วเย็นระรื่นหู ให้บรรยากาศแบบล้านนา เกิดจากเสียงสอดประสานกันของเครื่องดนตรีพื้นเมืองล้านนาอันได้แก่ สะล้อ ซึง ขลุ่ย ปี่ ฉิ่ง ฉาบ หรือกลองพื้นเมือง 

ดนตรีพื้นเมืองล้านนา หรือการบรรเลงเครื่องดนตรีและการขับขานในล้านนานั้น มีบทบาทในวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างแยกไม่ออก ทั้งในด้านความบันเทิงและการประกอบพิธีกรรม แง่พิธีกรรมในล้านนาแล้ว มีสองแนวคือ แนวพุทธกับแนวผี คือ พิธีกรรมเชิงพุทธศาสนาและพิธีกรรมเกี่ยวกับผี ซึ่งทั้งสองแนวดังกล่าวมีดนตรีเป็นส่วนประกอบ เช่น ในงานฉลองรื่นเริงหรือในงานศพซึ่งมีพิธีทางพุทธศาสนานั้น พบว่าดนตรีมีส่วนช่วยให้งานคึกคักหนักแน่นขึ้น ยิ่งในกิจกรรมเกี่ยวกับผี เช่นการฟ้อนผีนั้น ต้องมีดนตรีเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะมีการฟ้อนรำอันเป็นส่วนประกอบสำคัญในพิธีเลี้ยงผีด้วย

การใช้ดนตรีเพื่อประกอบการแสดงเกิดขึ้นได้ทั้งในงานประเพณีและเป็นไปเพื่อความบันเทิง แต่ที่โดดเด่นเห็นชัด ก็คือการนำดนตรีพื้นเมืองมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการ “แอ่วสาว” หรือ “เกี้ยวสาว” ของชาวล้านนาดั้งเดิมด้วย

ประเพณีที่ว่านี้คือ ถ้าบ้านไหนมีสาวๆ และนางผู้ปกครองปรารถนาจะให้มีสามีแล้ว ก็จะจุดตะเกียงหรือโคมไฟตั้งไว้ที่ปลายเสาต้นใดต้นหนึ่งที่รั้วด้านหน้าเรือน หรือไม่ก็วางไว้บนที่สูงๆ ทางหน้าเรือนนั้น เพื่อให้ชายหนุ่มที่เดินผ่านไปมาตามทางเดินได้สังเกตเห็น ถ้าเห็นตะเกียงจุดไว้ก็เป็นทราบได้ว่าที่เรือนหลังนั้นมีหญิงสาวและเป็นโสด ทั้งประสงค์จะให้มีคู่ครองด้วย โดยเฉพาะผู้ชายที่อยู่ต่างตำบล เวลาจะไปอู้สาวมักจะไปด้วยกันเป็นหมู่ๆ มีเครื่องดีดสีตีเป่า เช่น ซึง สะล้อ ติดมือไปด้วย พวกหนุ่มๆ เหล่านี้จะซอและดีดซึงไปตามถนนอย่างสนุกสนานในยามค่ำคืน จึงกลายเป็นดนตรีพื้นบ้านภาคเหนือโดยปริยาย นิยมเรียกตามชนิดของเครื่องดนตรีที่นำมาผสมเป็นวงว่า “วงสะล้อซอซึง”

วงสะล้อซอซึง เป็นวงที่มีเสียงจากเครื่องสายเป็นหลัก นิยมใช้เล่นกันตามท้องถิ่นภาคเหนือทั่วไป จำนวนเครื่องดนตรีที่ใช้ประสมวงไม่แน่นอน แต่จะมีสะล้อและซึงเป็นหลักเสมอ มีเครื่องดนตรีอื่นๆ เข้ามาประกอบ เช่น ปี่ก้อยหรือขลุ่ย กลองเต่งถิ้ง ฉิ่ง ฉาบ ใช้บรรเลงเพลงพื้นบ้านที่ไม่มีการขับร้อง เช่น เพลงปราสาทไหว เพลงล่องแม่ปิง เป็นต้น แต่ก็สามารถใช้บรรเลงเพลงสมัยใหม่ได้ด้วย

เครื่องดนตรีหลักในวงประกอบด้วย “สะล้อ” หรือ “ทร้อ” เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองล้านนาชนิดหนึ่ง เป็นประเภท”เครื่องสี” ซึ่งมีทั้ง 2 สายและ 3 สาย คันชักสำหรับสีจะอยู่ข้างนอกเหมือนคันชักซอสามอู้ของภาคกลาง ใช้ไม้แผ่นบาง ๆ ปิดปากกะลาทำหลักที่หัวสำหรับพาดทองเหลืองด้านหลังกะโหลกเจาะเป็นรูปลวดลายต่าง ๆ เช่น รูปหนุมาน รูปหัวใจ ส่วนด้านล่างของกะโหลก เจาะทะลุลงข้างล่าง เพื่อสอดคันทวนที่ทำด้วยไม้ชิงชัน ยาวประมาณ 64 ซมตรงกลางคันทวนมีรัดอกทำด้วยหวาย ปลายคันทวนด้านบนเจาะรูสำหรับสอดลูกบิด ซึ่งมี 2 หรือ 3 อัน สำหรับขึงสายซอ จากปลายลูกบิดลงมาถึงด้านกลางของกะโหลกมีหย่องสำหรับหนุนสายสะล้อเพื่อให้เกิดเสียงเวลาสี คันชักสะล้อทำด้วยไม้ดัดเป็นรูปโค้ง ขึงด้วยหางม้าหรือพลาสติก เวลาสีใช้ยางสนถูทำให้เกิดเสียงได้  สะล้อใช้บรรเลงประกอบการแสดงหรือบรรเลงร่วมกับบทร้องและทำนองเพลงได้ทุกชนิดเช่น เข้ากับปี่ในวงช่างซอ เข้ากับซึงในวงพื้นเมือง หรือใช้เดี่ยวคลอร้องก็ได้

เครื่องดนตรีสำคัญอีกชิ้นหนึ่งคือ “ซึง” จัดเป็นประเภท”เครื่องดีด” มี 4 สาย แต่แบ่งออกเป็น 2 เส้น เส้นละ 2 สาย มีลักษณะคล้าย กระจับปี่ แต่มีขนาดเล็กกว่า นับเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านล้านนาที่มีลักษณะเรียบง่าย ชาวบ้านสามารถทำขึ้นไว้เล่นเองได้ มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับพิณ หรือซุง ของภาคอีสาน ในบางท้องที่เรียกเครื่องดนตรีนี้ว่าพิณ รูปลักษณะของซึงนั้นหากเปรียบเทียบกับดนตรีของชาติอื่นๆ ก็จะพบว่าคล้ายกระจับปี่ของจีน หรือคล้ายกับกีต้าร์ หรือแมนโดลีน อันเป็นเครื่องดนตรีสากลด้วย 

ส่วน ซอ เป็นภาษาพื้นบ้านล้านนา หมายถึง การขับร้องเพลง การขับร้องทำนองของคำซอ หลายคนอาจเข้าใจว่าซอเป็นเครื่องดนตรี แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ ซอเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งวงสะล้อ 

จากอดีตที่ผ่านมาดนตรีล้านนามีบทบาทรับใช้ในสังคมแบบเกษตรกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อความบันเทิง ประกอบการขับร้อง ประกอบการฟ้อนรำ และเพื่อประกอบพิธีกรรมต่างๆ 

เมื่อผ่านกาลเวลามานับร้อยปี ดนตรีล้านนาได้พยายามปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน มีพัฒนาวิธีการบรรเลงจากเครื่องดนตรีชิ้นเดียวไปสู่การรวมวงแบบต่างๆ และบรรเลงเครื่องดนตรีให้น่าสนใจขึ้น เช่นในเพลงของ จรัญ มโนเพ็ชร ศิลปินคนสำคัญที่เป็นแรงบันดาลใจของศิลปินโฟล์คไทยหลายคน กับการใช้ถ้อยคำจริงใจ แต่งดงามราวบทกวี ใช้กีตาร์อะคูสติกผสมผสานไปกับเครื่องดนตรีพื้นบ้าน 

ดนตรีพื้นเมืองล้านนายังได้รับใช้สังคมสมัยใหม่ในหลากหลายมิติ อาทิ การส่งเสริมการท่องเที่ยว และธุรกิจบริการต่างๆ นอกจากความบันเทิงและประกอบพิธีกรรมที่มีมาแต่อดีต จึงทำให้มนต์เสน่ห์แห่งดนตรีล้านนาไม่เคยจางหายไปจากสังคมไทย 
 




ข้อมูลประกอบการเขียน  
https://th.wikipedia.org/wiki
https://web.facebook.com/TheLannaMusic
https://web.tcdc.or.th/th/Articles/Detail/soundofthecitynort
http://musicbiw.blogspot.com/2015/09/blog-post_90.html
https://sites.google.com/a/samakkhi.ac.th/kheruxng-dntri-lan-na/sung
https://sites.google.com/site/supatpongchounthip/dntri-phun-ban-phakh-henux

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)