คนรุ่นใหม่ ทักษะหลากหลาย ฉายแววในเวทีโลก
"เราจะทำสิ่งที่ชอบให้ทำเงินหรือเป็นอาชีพที่เราภูมิใจทุกวันได้อย่างไร" หนึ่งในคำถามยอดฮิตของคนทุกวัย ไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้นที่สงสัย แต่ผู้ใหญ่หลายคนยังหาทางออกให้กับความฝันของตัวเองไม่ได้แม้จะล่วงเข้าวัยเกษียณแล้ว คำตอบถูกเฉลยอย่างแจ่มชัดเมื่อสองสาวไทยที่เปล่งประกายในระดับนานาชาติพร้อมใจกันมากระเทาะทักษะการเรียนรู้ที่จำเป็นให้ทุกคนได้รู้ หลายๆเทคนิคที่ใช้นั้น ง่ายดายแต่ถูกละเลย เหมือน "เส้นผมบังภูเขา"
ปอเปี๊ยะ-แพรกานต์ นิรันดร
เงือกน้อยนักเขียน บนเส้นทางฮอลลีวูด
ย้อนไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว แวดวงวรรณกรรมแฟนตาซีได้ต้อนรับนักเขียนรุ่นใหม่ กับผลงานเรื่อง "ผจญภัยในแดนเงือก" จากปลายปากกาของสาวน้อยวัย 15 ปีชื่อ “ปอเปี๊ยะ-แพรกานต์ นิรันดร”นอกจากเนื้อหาที่มีความสนุกสนานน่าติดตามแล้ว สิ่งที่สร้างความโดดเด่นคือพรสวรรค์ด้านการใช้ภาษาอังกฤษของเธอ ความตั้งใจแต่งนิยายด้วยภาษาสากล เพื่อให้เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศ ซึ่งสำนักพิมพ์จากประเทศอิตาลีได้ติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์เพื่อไปจัดจำหน่ายในทวีปยุโรปและอเมริกาแล้ว แต่เธอไม่ยึดติดความสำเร็จ จึงออกผลงานเล่มที่ 2 ตามมา ในชื่อ "ขุมสมบัติพรายทะเล" และล่าสุดกับผลงานเล่มที่ 3 "The Elven Ambassadors" ปัจจุบันเธอสนใจงานภาพยนตร์ กลายเป็นพนักงานประจำที่ ICM Partners ซึ่งเป็น 1 ใน 3 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดของฮอลลีวูด
ก่อนการเริ่มต้นเป็นนักเขียนนิยายปอเปี๊ยะในวัย 7 ขวบ เธอเป็นเพียงเด็กธรรมดาคนหนึ่งซึ่งมีความฝันและแรงบันดาลใจเขียนนิยายอย่างจริงจัง เพราะแฮร์รี พอตเตอร์ เธอใช้เวลาวางพล็อตเรื่องและค้นคว้าหาข้อมูลนานกว่า 1 ปี อาศัยการฝึกฝนและความพยายาม พัฒนาทักษะการเขียน และทักษะภาษาอังกฤษไปพร้อมกัน ถึงแม้จะเรียนโรงเรียนนานาชาติมาตั้งแต่เด็ก แต่เธอก็ยังไม่แน่ใจในการใช้ภาษาอังกฤษจึงต้องถามครู ถามเพื่อน ถามผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษา ให้เป็นคนช่วยแนะนำและตรวจทานอีกที พร้อมผลักดันตัวเองและลงมือเขียนไปทีละวัน มีความพยายามที่จะไปถึงฝั่งฝัน และไม่เคยหยุดยั้งพัฒนาศักยภาพของตัวเอง จนสามารถสร้างผลงานเล่มแรกได้สำเร็จ
เทคนิคพัฒนาทักษะการเขียน ก่อนขึ้นสังเวียนนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ
- ต้องฝึกฝนและพัฒนาทักษะของตัวเอง ทั้งด้านภาษาและการเขียน อย่างแน่วแน่ และตั้งใจ เพื่อทำให้คนอ่านเชื่อในจินตนาการโลกแฟนตาซีที่ถูกสร้างขึ้น
- เป็นคนรักการอ่าน
- ต้องค้นคว้าหาข้อมูลจากหนังสือ เว็บไซต์ หรือเดินทางท่องเที่ยวไปที่ต่างๆ เพื่อนำมาประกอบการเขียน
- ทักษะแห่งอนาคตที่สำคัญสำหรับการทำงาน คือ การเขียน การพูด การเจรจา เมื่อส่งต้นฉบับไปที่สำนักพิมพ์และรอการพิจารณา
- พัฒนาศักยภาพด้านอื่นๆ ด้วย เช่น เล่นกีฬา เล่นดนตรี เรียนรู้การทำคอมพิวเตอร์กราฟิก เรียนรู้การถ่ายภาพ และหาโอกาสเข้าร่วมทำกิจกรรมต่างๆ
- รู้จักหน้าที่ของตัวเอง รู้จักแบ่งเวลาให้กับการเรียนและการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างสมดุล
- ชอบเขียนไม่จำเป็นต้องเป็นนักเขียนก็ได้ เพราะทักษะที่ติดตัวมาอย่างการเขียนนั้น สามารถพัฒนาต่อในวงการอื่นได้ อาทิ ภาพยนตร์ แต่ต้องศึกษากระบวนการขั้นตอนการเขียนบทภาพยนตร์ เพื่อทำตามความฝันสร้างภาพยนตร์ฮอลลีวูด โดยอาจเลือกเรียนด้าน Psychology เพื่อศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวละครต่างๆ ให้ลึกขึ้น และเริ่มต้นฝึกงาน เรียนรู้เกี่ยวกับการทำสกรีนเทรนด์หนัง โดยคัดเลือกบทภาพยนตร์ต่างๆ ว่า ถ้าสร้างเรื่องนี้แล้วจะเป็นอย่างไร จะมีการตอบรับจากคนดูอย่างไร ซึ่งแต่ละวันจำเป็นต้องอ่านบทภาพยนตร์ต่างๆ ที่ส่งเข้ามา และรีเสิร์ชข้อมูลจำนวนมาก
เมียม-ณัฐสินี กิจบุญชู
นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์แห่งหอสังเกตการณ์ไลโก
ชื่อของ "เมียม-ณัฐสินี กิจบุญชู" นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์สาววัย 25 ปี เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง หลังจากทีมวิจัยไลโก (LIGO) ออกแถลงข่าวยืนยันการค้นพบคลื่นความโน้มถ่วงครั้งแรกของโลกเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเธอเป็นคนไทยหนึ่งเดียวที่ทำงานอยู่ในหอสังเกตการณ์แห่งนี้ ในฐานะเจ้าหน้าที่ชำนาญการด้านการปฏิบัติการ จากนักเรียนโครงการแลกเปลี่ยนที่สหรัฐฯ ระดับชั้นม.6 กลายเป็นแรงบันดาลใจสู่การเป็นนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ เมื่อเธอมีโอกาสส่องกล้องดูดาวของโฮสแฟมิลี่ในคืนหนึ่ง และเห็นวงแหวนดาวเสาร์และเนบิวล่าต่างๆ จนเกิดความสนใจในความลี้ลับของจักรวาล พร้อมตั้งเป้าที่จะมุ่งมั่นศึกษาดาราศาสตร์นับแต่นั้น
เธอตัดสินใจเลือกสอบ SAT และ IELTS เธอแสดงความชัดเจนในการเลือกเรียนคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีวิชาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยหลุยเซียนาสเตท สหรัฐฯ ทั้งเรียนไปด้วย ทำวิจัยไปด้วย เธอจึงเป็น Student Worker ได้รับค่าตอบแทนประมาณ 250 บาทต่อชั่วโมง ซึ่ง 3 ปีแรกที่ทำวิจัยกับกลุ่มดาราศาสตร์ ศึกษาเรื่องฝุ่นในจักรวาล ศึกษาดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ อย่างดาวอาร์ โคโรนา โบเรียลิสอยู่นั้น เธอเริ่มรู้จักไลโก จึงเข้าไปคุยกับอาจารย์ที่เป็นหัวหน้ากลุ่มไลโกด้วยตัวเอง และได้รับเลือกทำวิจัยร่วมกับทีมคนอื่นๆ ซึ่งปีนั้นเธอเป็นนักศึกษาเพียงคนเดียวที่ศึกษาระดับปริญญาตรี หลังจากมีโอกาสได้เรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ 1 ปี หลังเรียนจบจึงตัดสินใจสมัครเข้าทำงานประจำกับไลโก ซึ่งเธอให้คำจำกัดความว่า "อยู่ถูกที่ถูกเวลา"
เทคนิคพัฒนาทักษะวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ระดับโลก
- ทักษะแรกที่สำคัญ คือ ทักษะภาษาอังกฤษ ต่อมาคือ ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะการเขียนโปรแกรม เพราะความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมใช้ได้จริงในการทำงาน
- อย่ารีรอที่จะเรียนรู้แค่จากในโรงเรียน ควรแสวงหาและพัฒนาเพิ่มพูนทักษะความรู้แห่งอนาคตทั้ง 2 ด้านนี้ไปพร้อมกัน และเรียนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความชำนาญ
- ควรกำหนดเป้าหมายให้กับชีวิต พยายามค้นหาเป้าหมายของตัวเองให้เจอ ต้องรู้ว่าชอบอะไร ถนัดด้านใด อยากเรียนด้านใด อยากทำงานด้านใด เมื่อกำหนดเป้าหมายได้แล้ว ก็พยายามพัฒนาศักยภาพของตนเอง ให้มีทักษะความรู้ความสามารถที่จำเป็นต่อการเรียนหรือการทำงานนั้นๆ อย่างมุ่งมั่นแน่วแน่
- ควรเสาะแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ ทั้งจากการทำกิจกรรม การทำงาน การเข้าร่วมโครงการต่างๆ ทั้งจากในห้องเรียน และนอกห้องเรียน ที่สำคัญ อย่าเรียนแค่รู้ แต่ต้องเรียนให้ลึก เรียนให้มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ สิ่งที่ไม่รู้ ไม่แน่ใจ ก็ต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เช่น เสิร์ชข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต หรือปรึกษาครูอาจารย์
- อย่าท้อถอย อย่ามองว่ามันยาก ยิ่งยากยิ่งท้าทาย ยิ่งน่าสนุก เพราะไม่ว่าจะทำงานที่ไหน หรือเข้ามาทำงานเป็นทีมวิจัยระดับโลก ทุกก้าวก็ต้องเริ่มต้นนับจากหนึ่ง ต้องศึกษาเรียนรู้สิ่งต่างๆ เพิ่มเติมทุกวัน
ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)