OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

ไบโพล่าร์ 2021!

2086 | 12 ตุลาคม 2564
ไบโพล่าร์ 2021!
อะไรคือไบโพลาร์ หลายคนอาจจะเคยได้ยินเรื่องไบโพลาร์ และคิดว่าเป็นโรคของคนที่เป็นโรคซึมเศร้า แต่แท้ที่จริงแล้วโรคนี้เป็นโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติทางอารมณ์อย่างสุดขั้ว ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ดีมากจนผิดปกติและจะมีช่วงที่ซึมเศร้าอย่างหนัก โดยอาการในแต่ละช่วงอาจจะอยู่นานเป็นอาทิตย์ หรือนานเป็นเดือน และมีช่วงที่เป็นปกติคั่นกลางทำให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน
 
อย่างที่บอกไปแล้วว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีอารมณ์แปรปรวนแบบสองขั้วสลับกันไปมาในระยะหนึ่ง ซึ่งสามารถแบ่งอาการออกเป็น 2 ช่วงอารมณ์ ดังนี้
  • ช่วงอารมณ์ดีมากผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการกระตือรือร้น หรือรู้สึกตื่นตัวตลอดเวลา มั่นใจในตัวเองสูงมาก มีพลังมากจนนอนน้อยลง คิดเร็ว พูดเร็วและพูดมากกว่าปกติ อารมณ์รุนแรง หงุดหงิดง่าย และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ทางเพศได้
      
  • ช่วงซึมเศร้าอย่างหนัก ผู้ป่วยจะรู้สึกหมดพลังในการใช้ชีวิต มองโลกในแง่ร้าย เบื่ออาหาร เหนื่อยหน่าย ท้อแท้ ไม่มีสมาธิ มีปัญหาด้านความทรงจำ มีปัญหาด้านการกิน และการนอนหลับ
สาเหตุของไบโพลาร์มาจากอะไร โรคนี้มักจะเกิดจากสารสื่อประสาทในสมอง ได้แก่ นอร์อะดรีนาลีน เซโรโทนิน และโดปามีน ทำงานผิดปกติจนเกิดความไม่สมดุลกัน นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ หากผู้ป่วยมีสมาชิกในครอบครัว หรือมีญาติที่มีความผิดปกติทางอารมณ์จะทำให้ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้ได้ง่ายขึ้น ส่วนสภาวะแวดล้อมทางสังคมยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียด หรือเกิดความกระทบกระเทือนทางจิตใจ ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้โรคนี้แสดงอาการออกมาได้อีกด้วย

ภาวะแทรกซ้อนที่มากับไบโพลาร์มีอะไรบ้าง การเป็นโรคนี้ไม่ใช่แค่มีผลทางด้านอารมณ์เพียงอย่างเดียว แต่มีผลข้างเคียงและภาวะที่สามารถเกิดแทรกซ้อนอื่นๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคเกี่ยวกับทางจิต โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคอ้วน ความผิดปกติที่เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือโรคเกี่ยวกับสมาธิ เป็นต้น ไม่เพียงแต่เท่านั้น โรคนี้ยังมีผลต่ออารมณ์และผู้คนรอบข้าง ดังนั้น ผู้ป่วยจึงมักมีปัญหาทั้งทางด้านความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง มีปัญญาด้านการทำงาน การเรียน รวมไปถึงวิถีชีวิตในแต่ละวัน ในรายที่รุนแรงอาจอยากฆ่าตัวตายได้ด้วย
 
รักษาไบโพลาร์ได้อย่างไร ยังไม่มีวิธีที่รักษาให้หายขาดได้เช่นเดียวกับโรคทางจิตหรือโรคทางอารมณ์หลายๆ โรค การรักษาของโรคนี้จึงเป็นการรักษาตามอาการและระดับความรุนแรงของโรค เพื่อควบคุมอาการให้มีผลกับผู้ป่วยน้อยที่สุด โดยมีวิธีการรักษาที่หลากหลาย ได้แก่
  • การรักษาด้วยยา โดยมีเป้าหมายเพื่อคอยรักษาระดับสารสื่อประสาทภายในสมองให้อยู่ในระดับปกติ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของหมออย่างเคร่งครัดจนกว่าหมอจะสั่งให้หยุดใช้ยา เพื่อป้องกันอาการกลับมาเป็นซ้ำหรือป้องกันไม่ให้มีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

  • การบำบัดรักษา นอกเหนือจากการใช้ยาผู้ป่วยอาจต้องรับการรักษาด้วยวิธีบำบัดซึ่งมีด้วยกันหลายวิธี เช่น การรับคำปรึกษาจากแพทย์ การเข้าร่วมกลุ่มผู้บำบัด เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยยังสามารถหาข้อมูลศึกษาเกี่ยวกับโรคที่ตนเป็นอยู่เพื่อให้มีความเข้าใจตนเองและสามารถรับมือกับอารมณ์ตนเองได้
ต้องป้องกันอย่างไร ถ้าไม่อยากเป็นไบโพลาร์ โรคนี้เป็นโรคเกี่ยวกับอารมณ์จึงไม่มีวิธีที่สามารถป้องกันได้ 100% แต่อย่างน้อยเรายังสามารถป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิต หากเป็นโรคนี้ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำและกินยาตามที่แพทย์สั่งเป็นประจำห้ามหยุด เว้นเสียแต่ว่าจะเป็นคำสั่งจากแพทย์และถ้าหากมีสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาในทันที
 
8 สัญญาณควรเข้ารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ
  1. มีปัญหาในการทำงานให้สำเร็จ ไบโพลาร์จะไม่มีปัญหาในการเริ่มต้นทำงานต่างๆ แต่เมื่ออารมณ์เริ่มเปลี่ยนแปลง การทำงานให้สำเร็จลุล่วงจะยากขึ้นเรื่อยๆ เฉะนั้นงานต่างๆ ที่ยังค้างคา คือหนึ่งในสัญญาณที่กำลังบอกว่าคุณอาจจะเป็นไบโพลาร์ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นไบโพลาร์จะมีอาการนี้ เพราะมีหลายคนที่สามารถเรียนรู้วิธีการจัดการตัวเอง และพัฒนาให้เป็นคนขยันในขณะที่กำลังเป็นไบโพลาร์

  2. มีอาการต่างๆ ของซึมเศร้าแทรกซ้อนไบโพลาร์ จะมีอาการลักษณะเดียวกับคนที่เป็นซึมเศร้า เช่น ความอยากอาหารลดลง มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ ไม่ค่อยมีสมาธิ ไม่มีเรี่ยวแรง

  3. พูดเร็ว คนส่วนใหญ่พูดเร็วขึ้นเมื่อรู้สึกตื่นเต้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ปกติ การพูดเร็วขึ้นเป็นสัญญาณหนึ่งของโรคไบไพลาร์ จะพูดแทรกคนอื่นและไม่สนใจบทสนทนาของคนรอบข้างมักเปลี่ยนหัวข้อสนทนาอยู่บ่อยๆ

  4. หงุดหงิดง่าย ในบางกรณีไบโพลาร์อาจจะมีอาการฟุ้งซ่าน และซึมเศร้าพร้อมๆ กัน เมื่อมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น จะหงุดหงิดง่ายมาก และมักจะถึงจุดที่ความหงุดหงิดเริ่มส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในเรื่องของความสัมพันธ์ต่างๆ กับคนรอบข้าง

  5. ใช้ยาเสพติดหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ไบโพลาร์ส่วนมากจะเริ่มต้นใช้ยาเสพติด กินเหล้า หรือใช้ทั้งสองอย่างร่วมกัน เพื่อช่วยคลายอาการซึมเศร้าระหว่างที่อยู่ในช่วง ซึมเศร้า แต่พอใช้วิธีการแบบนี้บ่อยๆ เพื่อบำบัดความซึมเศร้า มักจะนำไปสู่ภาวการณ์ติดสารเสพติด และยังเป็นอุปสรรคในการรักษาเพราะจะทำให้ประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ของยาลดลง

  6. อารมณ์ดีมากเกินไป การแสดงออกทางอารมณ์ที่ดีมากเกินไป (ไฮเปอร์) อาจเป็นสัญญาณของโรคไบโพลาร์ได้เช่นกัน อาการนี้จะเกิดขึ้นสลับกับภาวะซึมเศร้า ผู้ป่วยเหล่านี้อาจจะแค่รู้สึกค่อนข้างดี คล้ายๆ กับคนปกติและสามารถใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีประสิทธิภาพ

  7. นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นเรื่องปกติที่การเป็นไบโพลาร์จะมีผลข้างเคียงต่อการนอนของผู้ป่วย คนที่มีภาวะอารมณ์ดีมากผิดปกติ จะมีปัญหาในการนอนหลับพักผ่อนแต่จะไม่เคยรู้สึกเหนื่อยล้า ในทางกลับกัน ช่วงที่ซึมเศร้าอย่างหนักจะนอนหลับมากขึ้นแต่ยังรู้สึกเหน็ดเหนื่อยอยู่ดี

  8. มีพฤติกรรมที่สม่ำเสมอ ไม่คิดหน้าคิดหลัง เวลาที่อยู่ในภาวะอารมณ์ดีมากผิดปกติ มักจะมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก จึงทำให้มักจะแสดงกิริยาโอ้อวด ซึ่งจะเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยแสดงออก โดยที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมาในภายหลัง และอาจมีการแสดงออกในรูปแบบของพฤติกรรมอื่นๆ ร่วมด้วยเช่นกัน
ลักษณะอาการต่างๆ ข้างต้น คือสิ่งที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในคนเป็นไบโพลาร์ แต่ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคอื่นได้ด้วยเช่นกัน หากได้รับการรักษาที่ตรงจุดและถูกวิธีจากผู้เชี่ยวชาญซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างมีความสุขเหมือนกับคนอื่นเช่นกัน




ข้อมูลประกอบการเขียน
https://bit.ly/3lwhTaA
https://bit.ly/3aqgX1k
https://bit.ly/3AvR36H

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)