OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

“Virtual Experience” สร้างประสบการณ์เสมือนในยุค New Normal

1825 | 16 มิถุนายน 2564
“Virtual Experience” สร้างประสบการณ์เสมือนในยุค New Normal
ที่ผ่านมาการรับชมคอนเทนต์ต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีเสมือนจริง อยู่ในวงจำกัด ไม่ได้ใช้งานอย่างแพร่หลาย อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นในยุคนี้เริ่มมีการเปลี่ยนไป โดยมีการนำเอารูปแบบ “Virtual” หรือเสมือนจริง มาใช้ในการทำกิจกรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวแหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ ชมงานศิลปะจากทั่วโลก หรืองานความบันเทิง จนไปถึงอีเว้นท์อีกมากมาย เพื่อเติมเต็มประสบการณ์ด้านต่างๆ ของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น เริ่มทำให้ผู้บริโภคคุ้นเคยกับ “Virtual Experience” มากขึ้นและเชื่อว่าต่อไปจะกลายเป็น “New Normal” ในชีวิตประจำวัน 

ล่าสุด TrendWatching บริษัทที่รวบรวมข้อมูลด้านนวัตกรรมและวิเคราะห์เทรนด์ผู้บริโภคชั้นนำของโลกได้คาดการณ์ว่า Virtual Experience Economy หรือยุคของประสบการณ์เสมือน จะได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นผ่านการพัฒนาการเชื่อมโยงระหว่างโลกความเป็นจริงกับโลกเสมือน เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้กับผู้ใช้งาน

Virtual Tour สร้างประสบการณ์ใหม่ในการท่องเที่ยว 
อย่าง Google เล็งเห็นเทรนด์ “Virtual” ต่อไปจะเติบโตมากขึ้น จึงได้เปิดตัว “Google Arts & Culture” เพื่อท่องเที่ยวงานศิลปะ สัมผัสวัฒนธรรมทั่วโลกด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริง รวบรวมพิพิธภัณฑ์กว่า 2,000 แห่งใน 80 ประเทศทั่วโลกภาพถ่าย วิดีโอ เอกสารต้นฉบับ และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวกับศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์กว่า 6 ล้านชิ้น รวมทั้งนิทรรศการในรูปแบบดิจิทัลกว่า 7,000 นิทรรศการ นำมาไว้บนออนไลน์ https://artsandculture.google.com/

หรือใครอยากจะไปดูพีระมิดและสุสานฟาโรห์ ยก(มือถือ)ขึ้นก็สามารถเที่ยวอียิปต์เสมือนจริงผ่านหน้าจอ ผ่านเว็บไซต์ https://egymonuments.gov.eg/en ซึ่งดูแลโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและโบราณคดีของประเทศอียิปต์ (Ministry of Tourism and Antiquities) เปิดการท่องเที่ยวเสมือนจริงผ่านเว็บไซต์ หรือ Virtual Tour สถานที่ทางประวัติศาสตร์ของอียิปต์ ให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกได้เข้าชมกันได้ฟรีอยู่ที่บ้าน ‏#ExperienceEgyptFromHome

Virtual Retail หรือร้านค้าเสมือนจริง
สร้างประสบการณ์ใหม่ถึงแม้ว่ากระแสเสมือนจริงในการช้อปปิ้งแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้น แต่ในปี 2021 ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดหลายคนมองว่า กระแสนี้กำลังมาแรงขึ้นกว่าเดิม เห็นได้จากธุรกิจค้าปลีกหลายราย ได้ทำการเปิดช่องทางช้อปปิ้งใหม่รูปแบบเสมือนจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ

ตัวอย่างธุรกิจที่เปิดตัว Virtual Retail ในการทดลองตลาด Machine-A 
แบรนด์ชื่อดังจากประเทศอังกฤษ (ลอนดอน) ที่ได้ทำการเปิดร้านค้าเสมือนจริงเป็นแฟชั่นแบบ boutique เมื่อเดือน ก.พ. 2021 ที่ผ่านมา ที่เป็นช่วงเดียวกับที่ในลอนดอนจัดงาน London Fashion Week โดยส่วนหนึ่งมีจุดประสงค์เพื่อล้อกับกระแสที่เกิดขึ้น และตัวแบรนด์เองอยากมีส่วนร่วมระหว่างที่มีการแสดงแฟชั่นเสื้อผ้า

ที่สำคัญคือผู้ที่เข้าเยี่ยมชมงานแฟชั่นวีคสามารถเลือกชมคอลเลคชั่นเสื้อผ้า Autumn/Winter 2021 ได้เลยในระหว่างที่ชมงาน และหากสนใจก็สามารถคลิกสั่งจองได้ทันที

ข้อดีของเทคโนโลยี Virtual ในธุรกิจค้าปลีก
  • เพื่อทดสอบโปรดักส์ใหม่ก่อนลงตลาดจริง ช่วยในการประหยัดต้นทุน และยังช่วยทดสอบความสนใจของลูกค้าได้ว่า โปรดักส์นั้นๆ อยู่ในความสนใจ หรือดึงดูดลูกค้าได้มากน้อยแค่ไหน
  • สำรวจตลาดในราคาประหยัด ไม่มีความเสี่ยงในการลงทุน เพราะการลงพื้นที่สำรวจจริงมีค่าใช้จ่าย การนำเทคโนโลยนี้มาใช้จะช่วยให้ประหยัดต้นทุนได้ไปอีกหนึ่งระดับ
  • สำหรับการแสดงสินค้า (Showcase) ไปทั่วโลก ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็สามารถเข้ามาดูสินค้าที่วางจำได้แบบคล้ายของจริง
  • เพิ่มประสบการณ์ช้อปปิ้งแบบเสมือนจริงให้ลูกค้า ทำให้เราสามารถเข้าใจความต้องการของลูกค้า และเข้าถึงลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น
  • เปิดโอกาสในการร่วมมือกับธุรกิจระดับโลก ช่วยเป็นใบเบิกทางให้บริษัทมีโอกาสเข้าร่วมงานกับบริษัทชั้นนำของโลกมากขึ้น 
นอกจากเทคโนโลยีนี้จะถูกนำมาทำร้านค้าแบบเสมือนแล้ว ยังมีการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้กับอุตสาหกรรมธุรกิจอื่น ๆ อย่างการจัดงานอีเวนต์ ในยุคที่มีวิกฤตโควิด-19 อยู่อีกด้วย

Virtual Event หรือการจัดอีเวนต์แบบออนไลน์
การจัดงาน Virtual Event ถือเป็นการจัดอีเวนท์ที่ไร้ขีดจำกัดอย่างแท้จริง เพราะสามารถนำมาประยุกต์ให้เข้ากับธุรกิจของผู้ประกอบการได้หลากหลาย ซึ่งอีเวนท์ที่เหมาะสำหรับการจัดงานแบบเสมือนจริง ไม่ได้จำกัดวงแคบ ๆ แค่การเปิดตัวสินค้า ผลิตภัณฑ์ หรือพรีเซนเตอร์เท่านั้น โดยที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว ทั้งคอนเสิร์ต ดนตรี, สัมมนาออนไลน์, งานแสดงสินค้า, งานประชุมวิชาการ, งานประกาศรางวัล หรือแม้กระทั่งงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติออนไลน์ ก็ยังสร้างปรากฏการณ์สุดคึกคักในโซเชียลมีเดียมาแล้ว

การจัดงานในรูปแบบออนไลน์ จึงทำให้ประหยัดงบประมาณ และหลีกหนีจากข้อจำกัดในเรื่องสถานที่ไปได้ เนื่องจากไม่ต้องหาสถานที่รองรับคนจำนวนมาก หรือหาสถานที่ที่อยู่ใจกลางเมืองเพื่อให้คนเดินทางมาร่วมงานได้สะดวกสบาย อีกทั้งยังเพิ่มการเข้าถึงผู้คนได้จำนวนมากด้วย เพราะเมื่ออยู่ในโลกออนไลน์ จึงไม่มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนคน เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตก็สามารถรับชมงานที่จัดขึ้นได้แบบสด ๆ ในทุกพื้นที่ ทุกเวลา

เป็นการปรับเอาความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร นำมาพัฒนารูปแบบการจัดอีเวนต์ที่เป็นการจำลองสภาพแวดล้อมของงานอีเวนต์มาอยู่บนโลกออนไลน์ ทำให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถมีส่วนร่วมผ่านการใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต จึงช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงและสัมผัสประสบการณ์แก่ผู้คนจากทุกภูมิภาคทั่วโลกได้อย่างใกล้ชิด และสามารถสัมผัสกับเนื้อหาแบบเดียวกับงานอีเวนต์ที่จัดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง ยังมีประโยชน์ต่อผู้จัดงาน ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของผู้ร่วมงานทุกคนได้ เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มเหล่านี้ได้มากขึ้น

ตัวอย่าง Virtual Event : Shanghai Fashion Week 2020
หนึ่งในตัวอย่างสุดคลาสสิคที่อยากหยิบยกมากล่าวถึง คือ Shanghai Fashion Week 2020 ได้ยกระดับวงการแฟชั่นด้วยการจัดงานในรูปแบบดิจิทัลแฟชั่นวีคในทุกองค์ประกอบของโชว์ ตั้งแต่การสร้าง Virtual Runway การทำ Live Streaming ผ่านแอปพลิเคชัน Tmall ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม e-Commerce แบบ B2C ของ Alibaba Group โดยงานนี้ได้รวบรวมสินค้าจากดีไซเนอร์และแบรนด์มากกว่า 150 แบรนด์ จำนวนสินค้ากว่า 1,000 ชิ้น

ด้วยเหตุนี้ งานอีเวนท์แบบเสมือนจริงจึงตอบโจทย์สำหรับผู้ประกอบการที่พร้อมปรับตัวในทุกสถานการณ์ และไม่ยอมจำนนต่อข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทุกหย่อมหญ้า เพราะแม้รายได้จะลดลง แต่งานก็ไม่ล่มจนทำธุรกิจล้มตามไปด้วย!





ขอบคุณข้อมูล
https://tonkit360.com/
https://www.sanook.com/hitech/1518735/ 
https://artsandculture.google.com/
https://www.marketingoops.com/digital-life/virtual-experience-the-new-normal-of-life/
https://travel.trueid.net/detail/oOjYjy5ZA8dM 

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)