OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

ปีนี้คุณได้ลิ้มลอง ‘ข้าวแช่’ แล้วหรือยัง?

1001 | 21 เมษายน 2564
ปีนี้คุณได้ลิ้มลอง ‘ข้าวแช่’ แล้วหรือยัง?
หลายคนอาจคิดว่า ข้าวแช่เป็นอาหารไทยแท้แต่โบราณ ทว่าแท้จริงแล้ว ข้าวแช่เป็นอาหารตำรับมอญ ซึ่งไทยรับมา แล้วนำมาประยุกต์ให้เป็นข้าวแช่ที่วิจิตรบรรจงอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยโปรดให้จารึกไว้ในแผ่นศิลาที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ถึงตำนานข้าวแช่ไว้ มีใจความว่า

เคยมีเศรษฐีผู้หนึ่งไม่มีบุตรธิดา จึงบวงสรวงบูชาพระอาทิตย์ พระจันทร์ แต่ผ่านไปนานสามปีก็ไม่ได้ผล

จนกระทั่งถึงช่วงเวลาสำคัญ คือช่วงปีใหม่ในชมพูทวีป ซึ่งก็ตรงกับช่วงสงกรานต์นั่นเอง เศรษฐีได้พาบริวารไปยังโคนต้นไทรใหญ่ริมน้ำ แล้วนำข้าวสารล้างน้ำเจ็ดครั้ง ก่อนหุงบูชารุกขเทวดาประจำต้นไทร พร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร รุกขเทวดาจึงเมตตาให้เทพจุติมาเป็นบุตรของเศรษฐีสมความตั้งใจ

ชาวมอญเชื่อในเรื่องนี้ และเห็นว่าถ้าทำพิธีดังกล่าว จะตั้งจิตอธิษฐานได้ รวมไปถึงการล้างข้าวสารให้สะอาด แล้วนำไปหุง ก่อเกิดเป็นข้าวแช่ขึ้นมา ซึ่งก็ประจวบเหมาะกับช่วงเดือนเมษายน เป็นช่วงที่อากาศร้อนจัด การกินข้าวแช่และเล่นน้ำสงกรานต์จึงเป็นเรื่องเหมาะสมลงตัวอย่างยิ่ง

ชาวมอญโบราณจะเรียกข้าวแช่ว่า "เปิงด๊าดจ์"  ซึ่ง "เปิง" แปลว่า "ข้าว" และ "ด๊าดจ์" แปลว่า "น้ำ" ดังนั้น ความหมายของคำนี้จึงคือ "ข้าวน้ำ" ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมนำไปถวายพระสงฆ์

วัฒนธรรมข้าวแช่ที่นำไปถวายวัดนี้ เรายังเห็นได้ใน “งานบุญข้าวแช่” ของบ้านม่วง ในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นชุมชนชาวมอญ โดยประเพณีสงกรานต์ข้าวแช่ของชาวไทยรามัญ (ซึ่งก็คือชาวมอญ) มีการนำข้าวสุกแช่ลงในน้ำเย็นลอยดอกมะลิพร้อมกับจัดอาหารคาวหวานจัดเป็นสำรับแล้วนำออกขบวนแห่ไปถวายพระและญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือในวันสงกรานต์

พอตกบ่ายก็จะมีการก่อพระทรายและร่วมปล่อยนกปล่อยปลา นำน้ำหอมไปสรงน้ำพระขอพรจากพระ และยกขบวนไปรดน้ำอวยพรผู้ใหญ่ตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่ได้ยึดถือกระทำกันมาเป็นประเพณี การได้นั่งล้อมวงกินข้าวแช่ร่วมกัน ไม่ว่าจะในบ้านหรือในวัด ยังสร้างสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชนเป็นอย่างดีอีกด้วย

คนไทยรับเอาวัฒนธรรมข้าวแช่ของชาวมอญมาใช้ ซึ่งในตอนแรกข้าวแช่จะมีอยู่แค่ในรั้วในวังเท่านั้น แต่ต่อมาได้แพร่หลายไปทั่วในหลายจังหวัดของภาคกลาง โดยเมื่อตั้งต้นจากในวัง จึงมีความประณีตบรรจงมากกว่าปกติ ตั้งแต่การเตรียมภาชนะไปจนถึงอาหารที่คิดปรุงแต่งขึ้นมาเป็นเครื่องข้าวแช่ ล้วนแล้วแต่เป็นของที่ช่วยคลายร้อนทั้งสิ้น

ความอร่อยของข้าวแช่
ความอร่อยของข้าวแช่ นอกจากจะเป็นข้าวสวยขาวหุงสุกแช่ในน้ำเย็นลอยด้วยดอกมะลิดอกไม้หอมแสนชื่นใจแล้ว ยังมีส่วนของเครื่องเคียงด้วย

ถ้าเป็นข้าวแช่ตำรับมอญดั้งเดิม เครื่องเคียงจะมีไม่มากอย่างนัก เช่น ลูกกะปิทอด (ถือเป็นทีเด็ดของข้าวแช่ที่ทำจากปลาช่อนย่าง ตะไคร้ กระชาย หัวหอม กะปิ หัวกะทิ แล้วนำมาปั้นเป็นลูกกลมๆ ขนาดพอดีคำ ก่อนนำไปชุบไข่และแป้งสาลีทอดในกระทะ) กระเทียมดองผัดไข่, ไชโป๊ผัดไข่, หมูทอด, เนื้อทอด, ปลาเค็ม

แต่เมื่อข้าวแช่กลายมาเป็นของชาววัง ก็เริ่มมีเครื่องเคียงอื่นๆ เสริมเข้ามา เช่น ปลายี่สนผัดหวาน เนื้อฝอย ปลาเค็มชุบแป้งทอด ไข่เค็มชุบแป้งทอด รวมไปถึงพริกทอด พริกยัดไส้ และผักแกะสลัก

แต่ไม่ว่าจะเป็นข้าวแช่เสวย ข้าวแช่ชาววัง หรือข้าวแช่เมืองเพชร ทั้งหมดนี้ล้วนมีต้นแบบเป็นข้าวแช่ชาวมอญทั้งสิ้น



วิธีการรับประทานข้าวแช่
ทำความรู้จักกับข้าวแช่กันมาพอสมควรแล้ว หลายคนคงอยากลองกินข้าวแช่อร่อยๆ ต้อนรับสงกรานต์กันแล้ว แต่มีอีกหลายคนที่ไม่คุ้นเคยกับวิธีการรับประทานข้าวแช่และไม่เคยกินข้าวแช่มาก่อน วิธีกินข้าวแช่ให้อร่อย คือ
  1. ไม่ควรตักเครื่องเคียงมาใส่ลงในถ้วยข้าว เพราะจะทำให้ความคาวของเนื้อปลาและเครื่องปรุงต่างๆ ปะปนอยู่ในถ้วย ทำให้น้ำลอยดอกไม้มีกลิ่นคาวไม่หอมชื่นใจ
  2. รับประทานเครื่องเคียงก่อน แล้วค่อยตักข้าว แล้วซดน้ำลอยดอกไม้ตามจะฟินสุดๆ คลายร้อนได้ดี
  3. ลูกกะปิควรรับประทานคู่กับมะม่วงสดรสเปรี้ยวอมหวาน แนมกัน รสชาติเข้ากันดี
ถึงอากาศจะร้อน แต่คงจะไม่ร้อนกายร้อนใจอีกต่อไป เพราะมีเมนูเด็ดอย่างข้าวแช่ให้เราได้กินดับร้อน

ปัจจุบันมีเมนูข้าวแช่ให้สั่งมากมาย รวมไปถึงสั่ง delivery ได้ด้วย ถ้าใครยังไม่เคยลองลิ้มชิมข้าวแช่ อยากให้ลองดู รับรองว่าจะติดใจ




ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)