OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

กิจกรรมขยายผลความรู้กินได้ "(อี)สาน จัก ถัก ทอ"

2175 | 10 มีนาคม 2558

โครงการขยายผลศูนย์ความรู้กินได้ ภายใต้สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และศูนย์ความรู้กินได้ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการขยายผลความรู้กินได้ โดยมีกิจกรรมสำคัญคือนิทรรศการหมุนเวียน "(อี)สาน จัก ถัก ทอ"


นำเสนองานจักสานในอดีตที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวไทยอีสาน ปัจจัยที่มีอิทธิพลในการออกแบบเครื่องจักสานอีสาน ตัวอย่างการประยุกต์งานจักสานเพื่อตอบสนองแนวคิดด้านประโยชน์ใช้สอย (function) ความสวยงาม (design) และความต้องการของตลาด (market demand) และผลิตภัณฑ์จักสานร่วมสมัยเพื่อต่อยอดให้เข้ากับวิถีสังคมพร้อมแนวคิดเบื้องหลังการออกแบบ พร้อมกับจัดเสวนา หัวข้อ "ไอเดียเพิ่มคุณค่าเครื่องจักสาน" เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนาเครื่องจักสาน และนำเสนอแนวแนวคิดในการพัฒนาและสืบสานงานฝีมือจากไม้ไผ่ ในวันที่ 10 มีนาคม 2557 ณ ศูนย์ความรู้กินได้ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีเนื้อหาการเสวนาโดยสรุปดังนี้


ผู้ร่วมเสวนา


  1. นางมะลิวัลย์ สิงห์ผง ผู้แทนกลุ่มผู้ผลิตงานจักสาน
  2. นางสุพรรณ ศรีประสาน ผู้แทนกลุ่มผู้ผลิตงานจักสาน
  3. นางทองใบ สมจิตร ผู้แทนกลุ่มผู้ผลิตงานจักสาน
  4. นายลำแพน ภาโว ผู้แทนกลุ่มผู้ผลิตงานจักสาน
  5. นางอำนวยพร มาลัยสันต์ ผู้แทนกลุ่มผู้ผลิตงานฝีมือจากใบตอง
  6. นางทองใบ กสิภูมิ ผู้แทนกลุ่มผู้ผลิตงานจักสาน
  7. นางสาวพิมพ์ผกา ผ่านพินิตย์ ผู้แทนกลุ่มผู้ผลิตงานถักจากเชือกร่ม
  8. ผศ. ดร. ศักดิ์ชาย สิกขา หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะศิลปะประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ผู้ดำเนินการเสวนา)

การผลิตหัตถกรรมไม้ไผ่ของประเทศในอาเซียนเพื่อเป็นสินค้าสำหรับนักท่องเที่ยว


จากตัวอย่างของชิ้นงานสามารถสรุปแนวคิดในการออกแบบและพัฒนาสินค้าได้ดังนี้


  • พม่า ใช้แนวคิด "หัตถอุตสาหกรรม" ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิตให้มีปริมาณที่ตอบสนองความต้องการของตลาดได้ แต่ฝีมือไม่ประณีตและจำหน่ายในราคาถูก
  • เวียดนาม ใช้งานจักสานไม้ไผ่ในรูปแบบดั้งเดิมเดิมมาตกแต่งเพิ่มเติมเพื่อจำหน่ายเป็นงานศิลปะ และใช้แนวคิด knock down ในการออกแบบเพื่อความสะดวกในการจัดเก็บและขนส่ง
  • อินโดนีเซีย ใช้อัตลักษณ์ของท้องถิ่น และความปราณีตของฝีมือแรงงานเพื่อสร้างชิ้นงานเป็นของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว และของสะสมสำหรับนักสะสมงานฝีมือ
  • ลาว โดยเฉพาะลาวเทินชิ้นงานจะมีจุดเด่นคือมีสีเข้มหรือสีดำที่เกิดจากการรมควันเพื่อไล่มอด และแมลงที่อยู่ในไม้ไผ่

(อี)สาน จัก ถัก ทอ


สถานการณ์งานไม้ไผ่ และงานจักสานในจังหวัดอุบลราชธานี


  • อำเภอน้ำยืน ชาวบ้านในพื้นที่รวมกลุ่มสานกล่องข้าว และหวด แต่มีรายได้รายละไม่เกิน 1,000 บาท ดำเนินการอยู่ประมาณ 1 เดือนจึงยกเลิกการรวมกลุ่ม และปัจจุบันหัวหน้ากลุ่มไปเป็นครูสอนที่แขวงสะหวันเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
  • อำเภอบุณฑริก ชาวบ้านในพื้นที่สานหวดเป็นหลักอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 10-12 ใบ/คน/วัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เมื่อสานเสร็จจะขายต่อให้กลุ่มเพื่อส่งต่อพ่อค้าคนกลางสินค้าอื่นที่ผลิตคือโคมไฟแต่จะทำเมื่อมีคำสั่งซื้อเท่านั้น ปัจจุบันต้องซื้อวัตถุดิบคือไผ่จากพื้นที่อื่น เนื่องจากไผ่ในอำเภอบุณฑริกปลูกกลางแจ้งทำให้ลำต้นสั้นไม่เหมาะในการนำมาใช้งาน
  • กลุ่มสานหมวก สินค้าที่ผลิตเพื่อจำหน่ายทำจากวัสดุ 2 ชนิด คือไม้ไผ่ และใบตาล ความสามารถในการผลิตวันละ 100 ใบ ต้นทุนสำหรับหมวกไม้ไผ่อยู่ที่ 10 บาท/ใบ โดยตั้งราคาขายส่งหมวกไม้ไผ่ใบละ 15 บาท ส่วนหมวกใบตาลปัจจุบันไม่สามารถผลิตได้มากนักเนื่องจากต้นตาลในพื้นที่ลดน้อยลง แม้มีการปลูกทดแทนแต่ใบตาลยังไม่ได้คุณภาพตามที่กำหนดเนื่องจากอายุน้อยเกินไป
  • ตำบลหนองขอน อำเภอเมือง นอกจากมีการรวมกลุ่มเพื่อผลิตสินค้าแล้ว ปัจจุบันตัวแทนกลุ่มรับเชิญเป็นวิทยากรให้โรงเรียนเพื่อถ่ายทอดความรู้และฝึกทักษะให้กับเยาวชนในพื้นที่
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์จากเชือกร่ม ส่วนใหญ่นำมาถักเป็นกระเป๋าโดยมีตลาดหลักคือกรุงเทพฯ นอกจากจำหน่ายทั้งขายปลีกและขายส่งแล้ว ยังจำหน่ายผ่านเฟสบุ๊คอีกช่องทางหนึ่ง
  • งานฝีมือจากใบตอง เนื่องจากเป็นงานที่ใช้ฝีมือและความประณีตสูง จึงทำให้มีรายได้ค่อนข้างดีคือเฉลี่ย 20,000 บาท/เดือน มีแนวคิดในการนำวัสดุธรรมชาติอื่นๆ มาใช้ร่วมกับใบตองและพัฒนารูปแบบให้หลากหลาย และประณีตซับซ้อนมากขึ้นเพื่อสร้างความแตกต่างของผลงาน
  • การส่งเสริมจากภาครัฐโดยเฉพาะการให้ความรู้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการตลาดขาดความต่อเนื่อง จึงทำให้ผู้ผลิตสินค้าบางกลุ่มขาดโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และลูกค้าขาดความเชื่อมั่นในสินค้าและผู้ผลิต

(อี)สาน จัก ถัก ทอ


แนวคิดในการพัฒนาและสืบสานงานฝีมือจากไม้ไผ่


  • ควรมีการรวบรวมข้อมูล หรือจัดทำองค์ความรู้เกี่ยวกับงานสานของชาวอีสานเพื่อไม่ให้สูญหาย อีกทั้งควรนำมาประยุกต์ ต่อยอดเพื่อสร้างคุณค่า
  • ควรกระตุ้นและสร้างให้เยาวชนเห็นความสำคัญ และคุณค่าของงานจักสานที่มีต่อวิถีของชาวอีสานเพื่อสร้างผู้สืบทอด
  • ควรส่งเสริมให้มีการปลูกไม้ไผ่พุง โดยขอความช่วยเหลือจากนักวิชาการเกษตรเพื่อให้คำแนะนำวิธีการปลูก และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยให้กระบวนการจัดเตรียมวัตถุดิบสำหรับการจักสานมีคุณภาพดีก่อนนำไปผลิตเป็นงานหัตถกรรมและงานจักสาน
  • ควรกระตุ้นให้เกิดแนวคิดในการทำงานจักสานเพื่อนำไปจำหน่าย ซึ่งจะกระตุ้นให้มีการพัฒนาฝีมือและความคิดสร้างสรรค์
  • ควรมุ่งเน้นสร้างการรับรู้และพัฒนาชิ้นงานที่มีคุณค่าสูง โดยตั้งเป้าหมายไปที่ลูกค้าที่มีคุณภาพและกำลังซื้อมากขึ้นเช่น ใช้การเล่าเรื่องราว (story) เพื่อสร้างคุณค่าให้กับชิ้นงาน หรือวางตำแหน่ง (positioning) และสร้างผลงานให้เป็นงานหัตถกรรมสำหรับนักสะสม (collector) หรือชิ้นงานสำหรับจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
  • ควรสร้างแหล่งเรียนรู้ครบวงจร ตั้งแต่วัตถุดิบที่จะนำมาใช้ การออกแบบ เทคนิคและวิธีการสร้างชิ้นงาน การพัฒนาและการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่และวัสดุธรรมชาติ และเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าชมและซื้อสินค้าที่นำมาจัดแสดง
  • สร้างความร่วมมือระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ ผู้จักสาน ผู้ผลิตวัตถุดิบ นักออกแบบ และนักวิชาการเพื่อคิดค้นเทคนิคและกระบวนการที่ทำให้ผลิตงานได้มีคุณค่าและคุณภาพเพิ่มขึ้น
  • สร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายการผลิต ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการจำหน่าย

ความรู้กินได้อื่นๆ

เปิดมุมความรู้กินได้สตูล

เปิดมุมความรู้กินได้สตูล

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 วิทยาลัยชุมชนสตูล และสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ร่วมเปิดมุมความรู้กินได้สตูล เพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านการทำมาหากินที่สอดคล้องกับต้นทุนและศักยภาพของจังหวัดสตูล ทั้งด้านการเกษตร แปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร หัตถกรรม อาหาร และธุรกิจบริการ
พิธีเปิดศูนย์ความรู้กินได้มุกดาหาร

พิธีเปิดศูนย์ความรู้กินได้มุกดาหาร

วันที่ 29 มิถุนายน 2559 ดร.สิริกร มณีรินทร์ นายกสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร นายนพดล ไพฑูรย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร และดร.อภิชาติ ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักโครงการและจัดการความรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ร่วมเปิดศูนย์ความรู้กินได้มุกดาหาร
เปิดอุทยานความรู้กินได้น่าน

เปิดอุทยานความรู้กินได้น่าน

วันที่ 30 พฤษภาคม 59 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังวิทยาลัยชุมชนน่าน จังหวัดน่าน เพื่อทรงเปิด “อาคารสิริเบญญา” ซึ่งภายในอาคารมีอุทยานความรู้กินได้น่าน
กิจกรรมเสวนา "เทรนด์โลกและความเป็นไทยกับการทำมาหากินของชาวเชียงใหม่"

กิจกรรมเสวนา "เทรนด์โลกและความเป็นไทยกับการทำมาหากินของชาวเชียงใหม่"

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) โดยงานขยายผลศูนย์ความรู้กินได้ ร่วมกับสำนักงาน กศน. จังหวัดเชียงใหม่ จัดเสวนาหัวข้อ "เทรนด์โลกและความเป็นไทยกับการทำมาหากินของชาวเชียงใหม่"

ศูนย์ความรู้กินได้