OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

ห้องเรียนแห่งอนาคต พื้นที่แสดงความคิดของคนรุ่นใหม่ | พันธวิศ ลวเรืองโชค

8761 | 2 สิงหาคม 2561
ห้องเรียนแห่งอนาคต พื้นที่แสดงความคิดของคนรุ่นใหม่ | พันธวิศ ลวเรืองโชค
‘ห้องเรียน’ อาวุธที่สำคัญของครู
“ห้องเรียนแห่งอนาคตเริ่มมาจากสามจุดหลักๆ ที่ล้วนมาจากปัญหาของการใช้เทคโนโลยี จุดแรกคือตัวผมเองมีลูก แล้วสิ่งแวดล้อมรอบตัวลูกเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีค่อนข้างเยอะ ซึ่งเห็นข้อเสียทำให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้นและโรคออทิสติกเทียมมากขึ้น จุดที่สองคือการใช้สมาร์ทโฟนตลอดเวลาส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายของตัวเอง และจุดที่สามคือการมองเห็นการพัฒนาของแกดเจ็ต รวมถึงการเกิดขึ้นที่รวดเร็วของฟีเจอร์ส่งผลให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนและทำให้ห้องเรียนไม่น่าสนใจ เนื่องจากปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่คิดว่าการมีห้องเรียนหรือการเรียนรู้จากโรงเรียนเป็นสิ่งไม่จำเป็น เพราะพวกเขาสามารถเรียนรู้ผ่านสมาร์ทโฟนได้  ทำให้เกิดคำถามว่า ‘ถ้าเราปล่อยให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับการเรียนรู้มากเกินไป ห้องเรียนหรือแพลตฟอร์มความรู้ตามโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยจะหมดคุณค่าและความสำคัญลงหรือเปล่า’ แม้ 2-3 ปีที่ผ่านมาจะมีการตื่นตัวเรื่องระบบปฏิรูปการศึกษา แต่ก็เน้นไปที่การพัฒนาครู ไม่มีใครพูดถึงเรื่องห้องเรียนซึ่งครูก็เปรียบเหมือนนักรบ จะรบให้ชนะก็ต้องทำให้แม่ทัพดี ระบบกองทัพดี แต่เราลืมพัฒนาอาวุธให้ครู คือเหมือนเอาหอกสนิมไปให้นักรบสู้ เมื่อตัวผมเองทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบประสบการณ์ มีความรู้เรื่องการใช้สื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ค่อนข้างเยอะ ก็คิดว่าควรเอาทักษะ ประสบการณ์ และความรู้มาทำห้องเรียน ถือเป็นการพัฒนาอาวุธให้กับครู โดยเลือกทำห้องเรียนที่ตอบโจทย์คนในยุคสมัยใหม่”

ออกแบบภายใต้แนวคิด ‘ลอง ทำ โชว์ แชร์ ชม’
 “ห้องเรียนแห่งอนาคตน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการตั้งคำถามว่าการศึกษาที่ดีควรเป็นแบบไหน ที่เราเรียกว่าห้องเรียนเพื่อให้คนไทยเข้าใจง่าย แต่จริงๆ แล้วมันคือแพลตฟอร์มที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นพื้นที่ให้นักเรียนนักศึกษาได้เข้ามาทดลองใช้ ทดลองเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพื่อให้ค้นพบว่าสิ่งที่ทำนั้นใช่หรือไม่ใช่ ผ่านกระบวนการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ โดยเราได้ศึกษาห้องเรียนทั่วโลกกว่า 100 ห้องแล้วเลือก 5 ห้องที่น่าสนใจเพื่อนำมาปรับใช้ โดยพบลักษณะสำคัญร่วมกัน 5 ข้อ ได้แก่ ‘ให้พูด ให้ทำ ให้เป็น ให้เห็น ให้แชร์’ ยกตัวอย่างห้องเรียนของประเทศฟินแลนด์เป็นห้องเรียนไร้มิติ คือไม่มีหน้าห้องและหลังห้อง ไม่มีครูอยู่ข้างหน้าแล้วเด็กเป็นคนฟัง คือเป็นห้องเรียนที่ครูกับลูกศิษย์อยู่ด้วยกัน โดยมุ่งเน้นให้เด็กเกิดการแสดงออก ได้ทดลองฝึกอาชีพต่างๆ เพื่อค้นหาตัวเอง เราจึงนำแนวคิด ‘ลอง ทำ โชว์ แชร์ ชม’ มาใช้สำหรับการออกแบบ จากแพลตฟอร์มห้องเปล่าขนาด 250 ตารางเมตร เราใส่เทคโนโลยีและฟีเจอร์กว่า 40 ชนิดเข้าไป เพื่อให้ผู้ใช้ได้เลือกตามความเหมาะสมและรองรับทุกความต้องการ ซึ่งจะสามารถทดลอง ทำ นำเสนอ แชร์ และให้คนอื่นๆ เห็นได้ทันที”

พื้นสร้างสรรค์จุดประกายความคิด
“นอกจากห้องเรียนแห่งนี้จะมีลักษณะพิเศษที่ทำให้ผู้สอนและผู้เรียนร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกัน เทคโนโลยีที่มีอยู่ในห้องจะช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถแสดงออกมาได้จริง เช่น  ภายในห้องมีเลเซอร์โปรเจคเตอร์ที่ฉายในที่สว่างได้ มีเทคโนโลยีการต่อภาพ สามารถต่อภาพได้ทั้งพื้น ผนัง เพดาน กลายเป็นสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างให้ผู้เรียนได้เห็นของจริง ขนาดจริง ดีกว่านั่งท่องจำในหนังสือ มีปลั๊กกระจายทั่วพื้นห้อง เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่จะมาเสียบและรองรับกิจกรรมห้องเรียนไร้มิติ กิจกรรมจึงเกิดตรงไหนก็ได้ ดังนั้นตัวห้องก็สามารถเปลี่ยนหน้าตาตามความต้องการที่จะใช้ อาจจะเป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการ ห้องจัดอีเวนท์ หรือห้องจัดเวิร์กช็อปที่กำลังได้รับความนิยม ทำให้ผู้เรียนได้ลงมือทำงานด้วยตัวเอง ได้สัมผัสกระบวนการของการทำงานจริง ค้นพบตัวตนและความถนัด ทั้งยังได้ฝึกทักษะการรับมือกับงานที่ต้องเจอในอนาคต”

พัฒนาและต่อยอดจากการใช้งานจริง
“ห้องเรียนแห่งอนาคตห้องแรกที่กำลังสร้างอยู่ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat Design School ) จะเป็นเบต้ารุ่นทดลองที่จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมตามพฤติกรรมการใช้งานจริง พร้อมกันนี้ต้องอบรมผู้เข้ามาใช้งานโดยเฉพาะครูผู้สอนว่าเขาจะใช้เครื่องมือที่มีไปในทิศทางใด โดยเราตั้งใจให้ห้องนี้เป็นโมเดลต้นแบบที่จะกระจายอยู่ทั่วประเทศ ตอนนี้ก็เริ่มมีมหาวิทยาลัยติดต่อเข้ามาว่าสนใจที่จะทำห้องลักษณะแบบนี้เพื่อจะรองรับคอร์สอบรมเล็กๆ แล้วเหมือนกัน และหากมองในภาพกว้างแพลตฟอร์มนี้ก็จะสามารถรองรับธุรกิจ SME ออนไลน์อย่างเช่นการขายสินค้าต่างๆ ได้ เพราะสามารถเช่าเป็นสตูดิโอ ถ่ายเสร็จก็แชร์และโชว์ได้เลย ส่วนในองค์กรใหญ่ๆ ก็จะเป็นพื้นที่ที่เอื้อประโยชน์สำหรับการฝึกอบรมที่จะทำให้บุคลากรเกิดความคิดสร้างสรรค์ที่จะสามารถสร้างประโยชน์ได้ต่อไป”
 

 ที่มา : บทสัมภาษณ์ คุณพันธวิศ ลวเรืองโชค หนังสือ DigiLearn is Now (2560)
ส่องโอกาสสร้างอาชีพ

Digilearn is Now | เรียนรู้ สู่โอกาส
15968
Good Idea | ต่อยอดไอเดียและอาชีพในยุคแห่งการเรียนรู้ไร้พรมแดน
11680
คนรุ่นใหม่กับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล | รศ.ยืน ภู่วรวรรณ
16454
BLENDED LEARNING | บูรณาการการเรียนรู้แบบออนไลน์และออฟไลน์สำหรับคนรุ่นใหม่
10510
Future Trend แนวโน้มการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล
16243
ผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมและความต้องการการเรียนรู้ของคนไทย
11008
เทรนด์การเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัล
50318
ส่อง โอกาส จาก การเรียนรู้
6953