OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

เรียนรู้ให้สนุก กับหลากหลายนวัตกรรมการเรียนรู้สำหรับผู้สูงวัย

2778 | 10 มิถุนายน 2564
เรียนรู้ให้สนุก กับหลากหลายนวัตกรรมการเรียนรู้สำหรับผู้สูงวัย
จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยตั้งแต่ปี 2548 และในปี 2564 จะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์เมื่อประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด หรือ 1 ใน 5 เลยทีเดียว การที่สังคมไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว ทำให้จำเป็นต้องมีการส่งเสริมและพัฒนาผู้สูงอายุให้ได้พัฒนาทักษะ ความคิด ทั้งกายใจ โดยการเรียนรู้ตลอดชีวิตจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของผู้สูงอายุให้สามารถมีความรู้ รู้จักการวางแผนและนำองค์ความรู้เรื่องราวต่างๆ ไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิต การทำงานต่างๆ ช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงรู้เท่าทันเทคโนโลยีองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ด้วย

มาดูตัวอย่างนวัตกรรมการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมเทคโนโลยีการเรียนรู้ใหม่ๆ แหล่งเรียนรู้ที่เหมาะสม ที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุในยุคนี้กัน

| แพล็ตฟอร์มออนไลน์ | 
แพล็ตฟอร์มออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในปัจจุบันที่มีส่วนช่วยผู้สูงอายุในการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ เป็นตัวช่วยในด้านเทคโนโลยีที่ผู้สูงอายุสามารถใช้ได้ง่ายเพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาแพล็ตฟอร์มออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ อาทิ แอปพลิเคชัน รายการบนยูทูบ เว็บไซต์ชุมชนออนไลน์ โดยที่มีการออกแบบให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอภาพหรือตัวอักษรที่ใหญ่ขึ้น เนื้อหาสาระที่ผู้สูงอายุสนใจ รูปแบบการใช้งานที่ง่ายขึ้น การนำเสนอที่ดึงดูดความสนใจเหมาะกับการใช้งานเวลาว่าง เป็นต้น  

ตัวอย่างแพล็ตฟอร์มออนไลน์ที่น่าสนใจ 
แอปพลิเคชัน Alzheimer Disease
แอปพลิเคชันสำหรับเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุก็เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ช่วยในการเรียนรู้ รวมทั้งใช้งานได้สะดวกและสนุกสนาน อย่างแอปพลิเคชันให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ ในชื่อ Alzheimer Disease จัดทำและพัฒนาโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ร่วมกับ ศูนย์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย โดยนำเสนอในรูปแบบของเกมที่จะเรียนรู้เรื่องโรคอัลไซเมอร์ อาการเตือนและวิธีป้องกัน ซึ่งจะค่อยได้รับข้อมูลความรู้ กระตุ้นการคิดและการใช้สมอง ทั้งเกมจับคู่ บวกลบเลข โดยการเล่นเกมผ่านไปทีละด่าน ซึ่งถือเป็นสื่อการเรียนรู้ที่เป็นทั้งเกม ข้อความ ภาพ สื่อวีดีโอ เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้อยู่ในรูปแบบเข้าใจง่าย คนรอบตัวผู้สูงอายุก็สามารถหาข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจในโรคอัลไซเมอร์เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงได้ด้วย

แพล็ตฟอร์มออนไลน์: Young Happy (ยังแฮ้ปปี้)
Young Happy เครือข่ายสังคมคนสูงวัยที่มีช่องทางการสื่อสารทั้งในรูปแบบเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน เฟสบุ๊ค ยูทูป พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นเครือข่ายสังคมที่ให้ผู้สูงวัยมีความสุข (‘ยังแฮ้ปปี้’ได้) เป็นมิตรกับผู้สูงอายุผ่านกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ที่หลากหลาย เพื่อลดปัญหาสุขภาพใจของผู้สูงอายุ โดยเจาะกลุ่มผู้สูงอายุในเมืองที่ยังมีการช่วยเหลือตนเองได้ (อายุ 50 ปีขึ้นไป) แพล็ตฟอร์มยังแฮ้ปปี้จะเป็นตัวกลางเชื่อมโยงนำเสนอทั้งในรูปแบบเนื้อหาที่น่าสนใจรอบตัวที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ ทั้งในด้านอาหาร สุขภาพ ความรู้ เทคโนโลยี ทักษะเสริม ช่วยเสริมสร้างทักษะทั้งกายใจ โดยมีการนำเสนอทั้งในรูปแบบบทความ วีดีโอรายการ บอร์ดสนทนา การจัดกิจกรรม เป็นต้น

เครื่องมือช่วยอ่าน: แอปพลิเคชัน Magnifying Glass with Light
สำหรับผู้สูงอายุแล้ว การอ่านตัวหนังสือบางครั้งเป็นเรื่องที่ลำบากในสถานการณ์ที่ต้องออกไปข้างนอกหรือต้องการอ่านหนังสือแต่ตัวหนังสือมีขนาดเล็กเกินไป แอปพลิเคชันแว่นขยายจึงช่วยผู้สูงอายุโดยช่วยขยายตัวหนังสือให้อ่านได้สะดวก รวมทั้งเป็นไฟฉาย แว่นขยาย สามารถอ่านได้ทั้งเมนูอาหาร หนังสือ นิตยสาร  หน้าจอสมาร์ทโฟนหรือแท็ปเล็ตได้อย่างง่ายดาย

| แหล่งเรียนรู้ |  
แหล่งเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ เช่น 
โรงเรียนผู้สูงอายุ โดยสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมใน 3 มิติประกอบด้วย ความรู้ที่ผู้สูงอายุต้องรู้ อาทิ การดูแลสุขภาพ โรคที่พึงระวังสำหรับผู้สูงอายุ  ความรู้ที่ผู้สูงอายุควรรู้ อาทิ เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสาร การวางแผนด้านการเงิน  และความรู้ที่ผู้สูงอายุอยากรู้ อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพ ปลูกผักออร์แกนิก ทำอาหาร เป็นต้น

| เกม | 
เกม เป็นเครื่องมือหนี่งที่ช่วยพัฒนาทั้งความคิดและจิตใจให้กับผู้สูงอายุ อย่างเช่น ผลงาน “Think Thought” จากโครงการพัฒนาและส่งเสริมสินค้าของเล่นไทย (T-Style : Big Toy Design 2019)  ซึ่งเกมนี้เล่นโดยใช้หนังยางมาดึงแล้วต่อให้เกิดรูปร่างโดยผ่านกระบวนการคิดและจินตนาการ ให้เกิดรูปร่างต่างๆ รวมถึงปรับใช้วิธีเล่นต่างๆให้ได้มากกว่า 1 วิธี ช่วยส่งเสริมการใช้ความคิดและกล้ามเนื้อของผู้สูงวัย เป็นต้น
บอร์ดเกม หรือเกมกระดานในรูปแบบต่างๆ นั้น เป็นอีกเกมที่มีประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุ นอกจากจะช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและครอบครัว เล่นร่วมกันได้หลากหลายวัย แล้ว ยังช่วยลดความเครียด กระตุ้นความจำและการทำงานของสมองอีกด้วย เช่น เกม Dixit (เกมทายภาพ), เกม Labyrinth (เกมเขาวงกต) ฯลฯ


ขอบคุณข้อมูล
สำนักงานสถิติแห่งชาติ
ThaiPBS 
www.acrosstheboardcafe.com
http://icehr.tu.ac.th

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)