OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

เมื่อ Facebook ส่งผลต่อความทรงจำของเรา

1376 | 31 พฤษภาคม 2564
เมื่อ Facebook ส่งผลต่อความทรงจำของเรา
หลายครั้ง คุณรู้สึกมีตัวตนขึ้นมายามโพสต์อะไรก็ตามลงไปในสื่อโซเชียล 

คุณไม่ได้รู้สึกไปเองหรอก ผลจากการศึกษาวิจัยล่าสุดค้นพบว่า การโพสต์บนโลกโซเชียลช่วยให้เรากำหนด หล่อหลอม หรือสร้างตัวตนของเราขึ้นมาให้เป็นรูปเป็นร่างได้จริงๆ

งานวิจัยนี้บอกว่า การโพสต์เกี่ยวกับประสบการณ์ส่วนตัวบนโลกออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย และมีฟีเจอร์ Memories มาคอยเตือนความจำเราทุกปี จะทำให้เราจดจำสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้นในอนาคต และมันอาจเปลี่ยนแปลง “วิธีจดจำ” ของมนุษย์ไปอย่างสิ้นเชิง

นักวิทยาศาสตร์ทราบมาเนิ่นนานแล้วว่าการเขียน พูดถึง หรือคิดไตร่ตรองถึงเหตุการณ์ต่างๆ สามารถช่วยให้ผู้คนระลึกถึงเหตุการณ์เหล่านั้นได้ในภายหลัง ทำให้น่าสนใจว่า แล้วการโพสต์เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้นบนเว็บไซต์โซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram, Snapchat หรือบล็อกส่วนตัว จะมีผลในเชิงบวกที่คล้ายคลึงกันหรือเปล่า เรื่องนี้มีการศึกษาวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Memory เลยทีเดียว

งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเราคุ้นเคยกับการมีข้อมูลแบบดิจิทัลอยู่ตลอดเวลา เรามักจะพึ่งพาอินเทอร์เน็ตและลืมรายละเอียดได้ง่ายขึ้น เพราะรายละเอียดชีวิตจำนวนมากของเราไม่จำเป็นต้องจัดเก็บไว้ในสมองรอการเรียกออกมาใช้อีกต่อไป เพราะเราสามารถเปิด ค้นหา และเรียกดูข้อมูลของเราจากโลกออนไลน์ภายหลังได้

ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยจึงเริ่มค้นหาคำตอบว่าผลกระทบของโซเชียลมีเดียที่มีต่อความทรงจำนั้นเป็นอย่างไร

แรกสุด นักวิจัยขอให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ จำนวน 66 คน จดบันทึกประจำวันเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ โดยในไดอารี่ ให้แต่ละคนเขียนบรรยายสั้นๆ ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพวกเขาในแต่ละวันนอกเหนือจากกิจวัตรปกติของพวกเขา พวกเขายังต้องบันทึกว่าโพสต์เกี่ยวกับแต่ละเหตุการณ์เหล่านี้บนโซเชียลมีเดียด้วยหรือไม่ และให้คะแนนระดับความสำคัญส่วนตัวและระดับความรู้สึก หรืออารมณ์ของพวกเขาต่อเหตุการณ์เหล่านั้นด้วย 

ผ่านไปสองสัปดาห์ อาสาสมัครได้รับแบบทดสอบเซอร์ไพรส์ที่ไม่ได้มีการแจ้งเตือนล่วงหน้ามาก่อน เพื่อดูว่าพวกเขาจะสามารถจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้กี่เหตุการณ์ ผลปรากฎว่า ในระหว่างการทำแบบทดสอบทั้งสองครั้ง อาสาสมัครจะจดจำเหตุการณ์ที่ได้โพสต์ออนไลน์ไว้ได้ง่ายขึ้น โดยนักวิจัยได้ควบคุมระดับความรู้สึกหรืออารมณ์ของอาสาสมัครต่อเหตุการณ์ด้วยแล้ว

ผลวิจัยพบว่า ไม่ว่าเหตุการณ์เล็กหรือใหญ่ หรือมีผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้โพสต์ระดับไหนก็ตาม การโพสต์เกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านั้นจะทำให้จดจำได้ดีขึ้น

“หากผู้คนต้องการจดจำประสบการณ์ส่วนตัว วิธีที่ดีที่สุดคือการนำมาโพสต์ออนไลน์” คี่ หวัง (Qi Wang, PhD) ศาสตราจารย์ด้านการพัฒนามนุษย์จาก College of Human Ecology ของ Cornell University บอกไว้อย่างนั้น เขาเห็นว่าสื่อสังคมออนไลน์ทุกประเภทเป็นช่องทางสำคัญในการแบ่งปันประสบการณ์กับผู้อื่น ซึ่งอาจเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการสร้างความทรงจำ

“กระบวนการเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ของคน ๆ หนึ่งในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมักได้รับการตอบรับจากสังคมในเวลาต่อมา อาจทำให้ผู้คนสามารถสะท้อนถึงประสบการณ์ ความสัมพันธ์ และความมีตัวตนของพวกเขาได้” การศึกษายังตั้งข้อสังเกตว่า การแบ่งปันมุมมองส่วนตัวเกี่ยวกับเหตุการณ์ล่าสุดบนโซเชียลมีเดียยังช่วยให้ผู้คนสร้างและกำหนด “ความรู้สึกของการมีตัวตน" (sense of self) ขึ้นมาได้ด้วย

“สิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อเราใช้โซเชียลมีเดียโดยที่เราไม่รู้ตัว” ศาสตราจารย์หวังอธิบาย “เราแค่คิดว่าตัวเองกำลังแบ่งปันประสบการณ์กับเพื่อนๆ แต่ “วิธี” ที่เราจดจำประสบการณ์ของเราก็เป็นการกำหนดตัวตนของเราไปด้วย โดยฟีเจอร์ที่ช่วยให้คุณย้อนกลับไปดูความทรงจำในอดีตเช่นฟีเจอร์ On this Day ของ Facebook หรือแอป Timehop สามารถช่วยเสริมสร้างความรู้สึกมีตัวตนที่ว่าได้ 

“ความทรงจำมักเป็นสิ่งที่เลือกได้” ศาสตราจารย์หวังบอก “แต่ในกรณีนี้ การเลือก ไม่ได้ทำด้วยใจของเราเอง แต่ถูกจัดการโดยแหล่งข้อมูลภายนอก ดังนั้นฟังก์ชันแบบโต้ตอบบนเว็บไซต์เครือข่ายสังคมจึงสามารถกำหนดวิธีการดูประสบการณ์และมุมมองของเราได้ด้วย”

นี่อาจเป็นก้าวแรกสู่ความเข้าใจที่ดีขึ้น - เกี่ยวกับการบันทึกอัตชีวประวัติของเราในยุคอินเทอร์เน็ตก็ได้

แล้วคุณล่ะ ความทรงจำของคุณในวันนี้เมื่อหลายปีที่แล้วบน Facebook เป็นอย่างไรบ้าง คุณยังคงจดจำได้ไหม เวลาเรื่องเก่าๆ ผุดขึ้นมาแจ้งเตือน





อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.realsimple.com

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)