OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

5 ศัพท์เทคโนโลยีเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่ไม่รู้จักไม่ได้แล้ว

1172 | 14 พฤษภาคม 2564
5 ศัพท์เทคโนโลยีเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่ไม่รู้จักไม่ได้แล้ว
5 ศัพท์เทคโนโลยีต่อไปนี้ ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของ “รูปแบบการเรียนรู้ในโลกใหม่” 

ในอนาคตอันใกล้ เทคโนโลยีเหล่านี้จะกระตุกต่อมคิดและสร้างแรงบันดาลใจให้เรา ด้วยเทคนิคการเรียนการสอนใหม่ๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบของตัวเราเอง 

ปัจจุบันเทคโนโลยีการเรียนรู้สมัยใหม่เปลี่ยนภาพการเรียนรู้แบบเดิมๆจนคุณแทบไม่เชื่อสายตา      เราสามารถขับยานย้อนเวลาไปสมัยอียิปต์ ตรวจอวัยวะภายในด้วยมือถือ โหลดฟอซซิลไดโนเสาร์มาศึกษา จึงเปลี่ยนห้องเรียนเป็นห้องเล่นได้ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้

Virtual Reality (VR) สร้างประสบการณ์เสมือนจริง
เป็นเทคโนโลยีในการจำลองการรับรู้ โดยสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนที่สามารถมองไปรอบตัวได้แบบ 360 องศา ในต่างประเทศเริ่มมีการเรียนการสอนที่ใช้ google expeditions และ google earth เป็นเครื่องมือการสอนเสมือนจริง โดยนำเทคโนโลยีVR มาช่วยให้ผู้เรียนมองเห็นสถานที่และสิ่งของต่างๆ ได้เหมือนอยู่ในสถานที่จริง

ในด้านอุตสาหกรรม บริษัทขนส่งสินค้าอย่าง UPS ก็ใช้ VR ในการฝึกการขับขี่ปลอดภัยให้แก่พนักงานขับรถทุกคนก่อนเริ่มงานจริง ส่วนในด้านศิลปะ มีการใช้ Google Tilt Brush ซึ่งเป็นอุปกรณ์วาดรูปแบบ VR ที่เนรมิตห้องทั้งห้องได้ดังใจเป็นเสมือนผืนผ้าใบ และใช้อุปกรณ์ VR แทนแปรงและสีในการถ่ายทอดจินตนาการออกมาเป็นภาพสามมิติในอากาศ ส่วนทางด้านการแพทย์ VR ก็เข้ามามีส่วนช่วยจำลองภาพเสมือนจริงในการบำบัดรักษาผู้ที่มีอาการกลัวแมงมุม กลัวความสูง จะเห็นว่า เทคโนโลยี VR มีส่วนสำคัญในการผลักดันกระบวนการเรียนรู้หลากเรื่องทีเดียว

Augmented Reality (AR) The Future of Education
AR ไม่เหมือน VR เพราะ AR เป็นเทคโนโลยีที่ผสมผสานโลกแห่งความจริงเข้ากับโลกเสมือนจริง พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นการซ้อนภาพจินตนาการลงไปบนโลกความเป็นจริง โดยอาจแสดงผลในรูปแบบสองมิติหรือสามมิติที่เป็นภาพเคลื่อนไหวหรือภาพนิ่งก็ได้ 

ตัวอย่างที่โด่งดังที่สุดและทุกคนน่าจะรู้จัก ได้แก่เกม Poke’mon GO ที่มีการจำลองตัวละครในเกมให้ดูเหมือนออกมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมจริงผู้เล่น แต่นอกจากนี้แล้ว ร้านเฟอร์นิเจอร์จากสวีเดนอย่าง IKEA ก็มีการนำ AR เข้ามาช่วยให้ลูกค้าทดลองแต่งห้องก่อนตัดสินใจซื้อจริงผ่านแอปพลิเคชัน IKEA Place และที่ลืมไม่ได้คือ Google Glass แว่นตา AR ที่ช่วยให้ผู้สวมใส่สามารถดูแผนที่ บันทึกภาพและวิดีโอหรือดูข้อมุลอื่นๆ บนกระจกแว่นตาโดยตรงโดยไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์อื่น 

สำหรับการเรียนการสอน AR จะช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับบทเรียน สามารถกระตุ้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้เร็วและสนุกขึ้นกว่าเดิม

Multi-Touch Technology
สำหรับอนาคตแห่งการเรียนรู้ คนหนุ่มสาวคุ้นเคยกับการจัดการกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และการโต้ตอบ เทคโนโลยีที่มีอยู่ในมือถือและแท็บเล็ตต่างๆ กลายเป็นบรรทัดฐานตั้งแต่เด็กๆ ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Muti-Touch

ในโลกของการเรียนรู้ มีการนำเทคโนโลยีนี้มาขยายให้ใหญ่ขึ้นจนกลายเป็น Multi-Touch Table หรือโต๊ะทั้งตัวที่กลายเป็นจอ สามารถเขียนได้ ดูรูปได้ และใช้ง่ายแค่ปลายนิ้วสัมผัส โต๊ะแบบนี้กลายเป็นอินเทอร์เฟซการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติที่สุดในห้องเรียน ทั้งยังช่วยให้ครูมีวิธีใหม่ในการมีส่วนร่วมกับนักเรียนในห้องเรียนด้วย มีการนำมาใช้กับนักเรียนวัย 8 ถึง 10 ขวบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเรียนรู้ร่วมกันช่วยเพิ่มทั้งความคล่องแคล่วและความยืดหยุ่นได้ในหลายวิชา เช่นคณิตศาสตร์ ชีววิทยา ฯลฯ

มีผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการใช้เทคโนโลยีนี้มีประโยชน์มากกว่าการทำคณิตศาสตร์บนกระดาษ เพราะเด็กๆ สามารถเรียนรู้โต้ตอบและเปลี่ยนแปลงได้ในทันที ที่จริงแล้ว ระบบมัลติทัชสามารถใช้ได้ตั้งแต่โรงเรียนประถม มัธยม จนถึงมหาวิทยาลัย 

Hologram Effect 
เรารู้จักโฮโลแกรมกันดีอยู่แล้ว เพราะนิยายวิทยาศาสตร์ต่างๆ ชอบนำเสนอเทคโนโลยีนี้ โฮโลแกรมก็คือภาพเสมือนสามมิติที่จำลองออกมาให้เราเห็นต่อหน้าเลย 

ในกระบวนการเรียนรู้ โฮโลแกรมมีประโยชน์มาก เพราะทำให้สามารถนำเสนองานได้ด้วยวิธีสุดล้ำ พลิกดูได้รอบด้าน จึงสนุกทั้งคนเรียนคนสอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นย่อมขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ในตัว ว่าจะนำเทคโนโลยีโฮโลแกรมมาใช้อย่างไรด้วย

Interactive Shadow ที่จับความเคลื่อนไหวของผู้เล่นได้ จะสนุกแค่ไหน
ถ้าเรียนวิชาสังคมแล้วได้เรียนรู้การเต้นรำแบบชาวอะบอริจิ้นด้วยการเต้นตามจริงๆ คงเป็นเรื่องสนุกและทำให้ได้เรียนรู้แบบเข้าถึงจริงๆ

นี่คือเทคโนโลยีที่เรียกว่า Interactive Shadow หรือ Self-Shadowing อันเป็นการใช้โปรแกรมในการแสดงข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่หนังสือไปจนถึงการฉายภาพลงไปบนผนังและพื้น แล้วผู้เรียนสามารถกระโดดเข้าไปอยู่ในนั้นได้ (อยากให้นึกถึงหนังอย่าง Mary Poppins ที่ตัวละครเข้าไปอยู่ในภาพวาด) แล้วจะมีเซนเซอร์จับการเคลื่อนไหว เพื่อสั่งให้โปรแกรมทำงานตามที่ต้องการได้ เทคโนโลยีนี้จึงถูกนำไปประยุกต์ใช้ได้กว้างไกลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ที่ว่ามานี้ เป็นเพียงตัวอย่างของศัพท์เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนรู้ แต่ที่จริงแล้วยังมีศัพท์อื่นๆ รอให้เราเข้าไปทำความรู้จักอีกมาก

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)