OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

Body Story เรื่องเล่าจากร่างกาย ตอน โทสิส: ปัญหาหนังตาตก

1353 | 12 พฤษภาคม 2564
Body Story เรื่องเล่าจากร่างกาย ตอน โทสิส: ปัญหาหนังตาตก
ในยุค 1940s เคยมีการ์ตูนอเมริกันที่มีตัวเอกคือเจ้าสุนัขชื่อ ดรูปปี้ (Droopy) ซึ่งมีลักษณะคล้ายมนุษย์ เพราะมันยืนบนสองเท้า ตัวสีขาว หูสีดำ ผมกลางศีรษะสีส้มเหลือง แต่ที่มีลักษณะโดดเด่นก็คือ ดรูปปี้มีหน้าตาง่วงนอนและอ่อนล้ามากตลอดเวลา โดยเฉพาะบริเวณดวงตาของมันที่มีลักษณะ “ตาตก” อย่างชัดเจนสมกับชื่อที่แปลว่าหย่อนยานนั่นเอง

เจ้าดรูปปี้อาจไม่รู้ตัวก็ได้ ว่ามันมีสภาวะที่เรียกว่า Ptosis (อ่านว่า โทสิส) อยู่

โทสิส คือภาวะหนังตาตก เป็นภาวะที่ผิวหนังเปลือกตาบนหย่อนคล้อยลงมาปิดบดบังลูกตา หรือนัยน์ตาดำมากกว่าปกติ ทำให้ตาปรือ หน้าตาอ่อนล้า ดูง่วงนอนตลอดเวลา อาจพบอาการในตาข้างเดียว (unilateral ptosis) หรือทั้งสองข้าง (bilateral ptosis) ก็ได้  ในบางคน ชั้นตาจะดูหนา ลึก หรือ มีรอยพับบนเปลือกตาหลายเส้นซ้อนกันอยู่ เปลือกตาแลดูไม่มีชั้นตาที่คมชัด ทำให้ตาสองข้างดูไม่เท่ากัน

โทสิส อาจเป็นได้แต่กำเนิด (congenital ptosis) หรือมาเป็นภายหลัง (acquired ptosis) โดยมีปัจจัยประการใดประการหนึ่งทำให้กล้ามเนื้อเหนือเปลือกตาบนที่ควบคุมการยกเปลือกตาขึ้นลง ที่เรียกว่ากล้ามเนื้อเลเวเทอร์ (levator muscle) ทำงานผิดปกติ ทำให้หนังตาตกหย่อนลงมา ผู้ที่มีหนังตาตกภายหลัง อาจเป็นได้เพราะสาเหตุหลักด้านอายุ พฤติกรรมส่วนบุคคล โรค หรือการบาดเจ็บ หรือความผิดปกติด้านร่างกาย เช่น
  1. อายุที่มากขึ้นส่งผลให้กล้ามเนื้อตายืดมากขึ้น อ่อนแรง หย่อนยานตามความชราภาพของร่างกาย
  2. การใส่คอนแทคเลนส์สายตา หรือคอนแทคเลน์แบบบิ๊กอายส์ เป็นประจำ หรือใส่เป็นระยะเวลานาน
  3. ขยี้ตาบ่อย จากการเป็นภูมิแพ้ หรือติดนิสัยการขยี้ถูตา
  4. ในบางกรณี อาจเป็นผลจากโรคร้ายแรง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกในสมอง หรือมะเร็งของเส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อ เป็นต้น
  5. การรักษาสายตาด้วยเลสิก หรือผ่าตัดต้อกระจก ส่งผลให้กล้ามเนื้อหรือเอ็นยึดกล้ามเนื้อตาหย่อน
  6. ความผิดปกติของระบบประสาทที่ส่งผลต่อเส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อของดวงตาเช่น myasthenia gravis อาจทำให้เกิดหนังตาตก
ด้วยเหตุเหล่านี้ และลักษณะของกล้ามเนื้อตาที่อ่อนแรง จึงเป็นที่มาของการเรียกโทสิส ด้วยอีกชื่อหนึ่งว่า “ตาขี้เกียจ” ซึ่งมีความรุนแรงได้ 3 ระดับ คือ
  1. หนังตาตกลงมาปิดตาดำ ร้อยละ 10 ถึง 20 ของตาดำ
  2. หนังตาตกลงมาปิดตาดำ ร้อยละ 20 ถึง 40 ของตาดำ
  3. หนังตาตกลงมาปิดตาดำ เกือบร้อยละ 50 ของตาดำ
แล้วจะรู้ได้อย่าไรว่า เป็นโทสิสแล้ว อาการที่พบชัดเจน คือ เปลือกตาบนด้านใดด้านหนึ่ง หรือทั้งสองข้างหย่อนยานลงมาตามระดับการตาตกข้างตน ในบางกรณีอาจทำให้การมองเห็น หรือวิสัยทัศน์แย่ลง 

ในบางคน หนังตาอาจไม่ได้ตกให้เห็นชัดเจน หรือผู้ที่เป็นอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป เพราะในบางวัน หนังตาอาจตกมากน้อยไม่เท่ากันได้ แต่นอกจากนี้แล้ว ยังอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ตาแห้ง น้ำตาไหล หน้าตาดูเหนื่อยล้า ปวดบริเวณรอบดวงตา หรืออาจเป็นไมเกรนร่วมด้วย ในบางกรณีที่เป็นมาก ผู้ที่เป็นอาจต้องยกหรือเอียงศีรษะเวลาสนทนากับผู้อื่น

การรักษาโทสิสขึ้นอยู่กับต้นเหตุ และความรุนแรงของอาการ โดยจักษุแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยหาต้นสายปลายเหตุและให้การรักษาตรงจุดอย่างเหมาะสมและถูกวิธี 

สำหรับภาวะหนังตาตกที่เกิดขึ้น เพราะอายุที่มากขึ้นนั้น จักษุแพทย์อาจแนะนำว่าไม่ต้องรักษาก็ได้ เนื่องจากอาการที่เป็นไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่หากหนังตาตกมากจนบดบังการมองเห็น ก็อาจรักษาด้วยการผ่าตัดศัลยกรรมยกกล้ามเนื้อเลเวเทอร์ให้กลับมากระชับไม่หย่อนคล้อย

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)