OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

ผศ.ดร. อโนทัย ชลชาติภิญโญ และ พลพัฒน์ อัศวะประภา
คู่หูกระตุกต่อมคิดกับการพัฒนาไหมไทยร่วมสมัย

4422
ผศ.ดร. อโนทัย ชลชาติภิญโญ และ พลพัฒน์ อัศวะประภา คู่หูกระตุกต่อมคิดกับการพัฒนาไหมไทยร่วมสมัย

สถานการณ์ความนิยมผ้าไหมทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากไหม อาทิ เสื้อผ้าแฟชั่นและสินค้าอื่นๆ ที่ลดลงเป็นลำดับ (มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์จากไหมลดลงร้อยละ 2.95 ในปี 2557)* ทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามถึงทางออกของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่คุณพลพัฒน์ อัศวะประภา นายกสมาคมแฟชั่นดีไซเนอร์กรุงเทพ และ ผศ. ดร.อโนทัย ชลชาติภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สองหัวเรือใหญ่ในโครงการพัฒนาต้นแบบไหมไทยร่วมสมัย (Modern Thai Silk) ของ OKMD กลับมองว่านี่เป็นโอกาสที่คนไทยจะได้หันกลับมามองตัวเอง ร่วมกับพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรมและความร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมผ้าไหมไทยร่วมสมัยที่จะช่วยเปิดมิติใหม่ให้แก่ผ้าไหมไทยในเวทีโลก


สถานการณ์ผ้าไหมไทยในปัจจุบัน


พลพัฒน์: ผมมองว่าโดยทั่วไปสินค้าแบ่งเป็นสองส่วน คือ สินค้า (Product) และการยอมรับ (Perception) ผ้าไหมมีวิวัฒนาการและภาพลักษณ์ที่ดีอยู่แล้ว แต่ในแง่การใช้งานอาจยังไม่ชัดเจนสำหรับคนกลุ่มใหญ่ ดีไซเนอร์และรัฐบาลไทยก็พยายามรณรงค์ให้คนรู้สึกว่าผ้าไหมเป็นสิ่งที่ร่วมสมัยและสามารถนำมาใช้ในสินค้าไลฟสไตล์ได้


ผศ.ดร.อโนทัย : ใช่ครับ ผ้าไหมมีภาพลักษณ์ที่คนทั่วไปมองว่าหรูหรา แพง ใช้งานยาก ต้องใช้ในงานกลางคืน (Evening Wear) หรืองานที่เป็นทางการเท่านั้น กลุ่มคนที่ใช้ก็ยังมีความเฉพาะสูงมาก คือเป็นคนกลุ่มบนที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกและยากจะเปลี่ยนแปลงพอสมควร


การมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาต้นแบบไหมไทยร่วมสมัย (Modern Thai Silk)


พลพัฒน์: เป็นโครงการที่ผมอยากทำมาก โดยผมได้ร่วมมือกับผู้ผลิตผ้าไหมเพื่อสร้างคอลเลกชั่นที่มีความร่วมสมัย เราคัดเลือกดีไซเนอร์รุ่นใหม่จากแบรนด์ดังๆ เข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์ผ้าไหมและเครื่องแต่งกายที่มีรูปลักษณ์ที่แตกต่างออกไปและตอบรับกับเทรนด์โลก จากนั้นกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมก็นำคอลเลกชั่นนี้ไปโชว์ที่ประเทศฝรั่งเศส โดยนำเสนออย่างครบวงจรตั้งแต่นวัตกรรมผ้า การออกแบบ และเทคนิคการตัดเย็บ


ความแตกต่างของผ้าไหมไทยร่วมสมัยกับผ้าไหมไทยดั้งเดิม


ผศ.ดร.อโนทัย : คุณลักษณะของไหมไทยแบบเดิมจะมีความกรอบ จับรูปเห็นเป็นทรง และมีความมันวาว ในขณะที่ผ้าไหมไทยร่วมสมัยมีการนำเส้นใยสังเคราะห์ เช่น โพลีเอสเตอร์ หรือ เส้นใยธรรมชาติจำพวกใยปอ ใยสัปปะรด เข้ามาผสม ทำให้เกิดเนื้อผ้าที่มีลักษณะพิเศษมากขึ้น มีความหลากหลาย ลักษณะผ้าจะทิ้งตัว มีน้ำหนักเบา มีผิวสัมผัสที่แปลกใหม่ และมีความลำลองมากขึ้น เหมาะกับการสวมใส่ในชีวิตประจำวัน หรือจะนำไปทำเป็นของตกแต่งบ้าน (Home Textiles) ก็ได้ ถัดมาคือเรื่องของดีไซน์ การออกแบบผ้าไหมไทยร่วมสมัยคำนึงถึงการใช้งานมากขึ้น ทั้งลักษณะของเนื้อผ้า สี การตัดเย็บ รวมถึงราคาที่จับต้องได้


ไหมไทยร่วมสมัยกับโอกาสของคนรุ่นใหม่


พลพัฒน์: แน่นอนว่าเมื่อมีนวัตกรรมที่นำมาประยุกต์ใช้กับผ้าไหมมากขึ้นย่อมส่งผลในเชิงของราคาที่ถูกลง รวมถึงการใช้งานและการดูแลรักษาที่ง่ายขึ้น น่าจะทำให้โอกาสของผ้าไหมเพิ่มมากขึ้นในวงจรแฟชั่น โอกาสที่คนรุ่นใหม่จะได้ใช้ผ้าไหมหรือทำเงินจากธุรกิจผ้าไหมก็มีมากขึ้น


อนาคตของผ้าไหมไทยร่วมสมัยในระดับประเทศและตลาดโลก


ผศ.ดร.อโนทัย : ผ้าไหมไทยน่าจะโตไปได้อีกไกล อย่างที่ผ่านมาเรานำผ้าไหมไทยไปแสดงที่งาน Premier Vision ที่กรุงปารีส มีหลายคนให้ความสนใจเพราะกระบวนการผลิตผ้าไหมนั้นยุ่งยากซับซ้อน ทำให้ผ้าไหมเป็นของหายากและยังคงเป็นที่ต้องการมาก ส่วนการจะให้คนไทยยอมรับหรือหันมาใช้ผ้าไหมไทยร่วมสมัยนั้นคงต้องอาศัยเวลา เพราะกว่าจะเกิดการยอมรับอะไรสักอย่างจะต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ที่พาเราไปยังจุดนั้น เช่น การวิจัยและคิดค้นเส้นใยใหม่ๆ ที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่ ต้องมีดีไซน์ที่โดนใจ ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าน่าจะใช้เวลาราว 4-5 ปี จึงจะเห็นความเปลี่ยนแปลงบ้าง

พลพัฒน์: ผมคิดว่าสิ่งที่ท้าทายมากกว่าการไปโชว์บนเวทีโลกคือ เมื่อไปแสดงแล้ว มีคนสนใจแล้ว เราตอบสนองความต้องการของเขาได้หรือไม่ เราจำเป็นต้องศึกษาความต้องการของตลาดบนพื้นฐานความเป็นจริง ไม่ใช่คิดเอาเอง สินค้าที่จะอยู่ได้ในระยะยาวต้องตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคน นี่คือสิ่งที่เราเน้นกับผู้ประกอบการอยู่ตลอด เป้าหมายของเราคือการทำให้ชาวบ้านหรือคนทอผ้าไหมมีรายได้เพิ่มขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้น อุตสาหกรรมผ้าไหมจึงจะอยู่รอด อุตสาหกรรมนี้เป็นมรดกและรากเหง้าของประเทศที่บอกว่าเราคือใคร มาจากไหน ยิ่งในอนาคตที่โลกจะกลายเป็น One world, one culture มากขึ้น ผ้าไหมไทยจะเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ที่สำคัญของประเทศเราครับ


* ที่มา : กลุ่มเศรษฐกิจการตลาด สพท. กรมหม่อนไหม รายงานสรุปสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการตลาดหม่อนไหม ปี 2557 สืบค้นจาก http://qsds.go.th/newqsds/file_news/1069.pdf



ดาวน์โหลดเอกสาร (pdf ขนาด 2900.59 KB)

ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เงื่อนไข การร่วมแสดงความคิดเห็น

"โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น"
1. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาอันเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เป็นอันขาด
2. ห้ามเสนอข้อความหรือเนื้อหาที่ส่อไปในทางหยาบคาย ก้าวร้าว ... (อ่านทั้งหมด)