OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

ความคิดสร้างสรรค์ สอนกันได้ไหม

6418 | 23 กุมภาพันธ์ 2560

เวทีเสวนา เรื่อง “ความคิดสร้างสรรค์ สอนกันได้ไหม”

วิทยากร     คุณสรรพสิทธิ์ ฟุ้งเฟื่องเชวง
              ผู้อำนวยการฝ่ายคอร์ปอเรท มาร์เก็ตติ้ง บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)
              คุณสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (นิ้วกลม)
              นักคิดนักเขียนแถวหน้าของเมืองไทย
              คุณสาธิต กาลวันตวานิช
              ผู้ก่อตั้ง และ Creative Director, บริษัท ธิตทาง จำกัด
              คุณอานนท์ ไพโรจน์
              ผู้ก่อตั้งบริษัทอานนท์ ไพโรจน์ ดีซาย สตูดิโอ จำกัด
              ผศ.ดร.ปิยพงษ์  สุเมตติกุล
              ผู้ดำเนินรายการ
              

           จุดเริ่มต้นของการสร้างแรงบันดาลใจ (inspirations) ในงานของแต่ละท่าน


              คุณสรรพสิทธิ์ ฟุ้งเฟื่องเชวง ผู้อำนวยการฝ่ายคอร์ปอเรท มาร์เก็ตติ้ง บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คนส่วนใหญ่คิดว่าความสร้างสรรค์จะต้องออกแบบมาให้หน้าตาประหลาด ดึงดูดคน แต่สำหรับตนเอง ความคิดสร้างสรรค์เป็นกระบวนการ เช่น การออกแบบจะต้องก่อให้เกิดประโยชน์และช่วยแก้ปัญหาได้
แรงบันดาลใจเกิดจากการได้เห็นเทรนด์ใหม่ๆ  แล้วนำมาสร้างความแตกต่าง สิ่งที่เอพีทำคือ การร่วมงาน (collaboration) หรือ ถ่ายโอนความรู้ (transfer knowledge) กับดีไซเนอร์ภายนอก เมื่อนำสิ่งที่สองฝ่ายมีมาผนวกกัน จะก่อให้เกิดก้าวใหม่ที่ไกลกว่าเดิม

             คุณสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (นิ้วกลม) กล่าวชื่นชมงานออกแบบของ propaganda ซึ่งมีหลายครั้งที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะที่ส่งพลังถึงกันได้  หากใครรู้สึกว่าชีวิตขาดแรงบันดาลใจ นั่นอาจเป็นเพราะเราได้เจอโลกน้อยเกินไป เราควรออกไปลอง การอ่าน การดู การพูดคุย การออกไปนอกโลกของตัวเอง จะทำให้เราได้พบส่วนผสมใหม่ๆ ที่จะมาปะทะกับสิ่งที่เรามี แต่อีกมุมหนึ่ง การปิดโลกและอยู่กับตัวเองก็ดี  เพราะบางครั้งการเห็นคนอื่นมากเกินไปก็อาจทำให้เราไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้ว่าเราชอบอะไร อยากทำอะไร ดังนั้นจึงต้องจับจังหวะรักษาสมดุลระหว่างโลกภายในกับภายนอกให้พอดี ในความคิดสร้างสรรค์มีทั้งความเรียบง่ายและความหลากหลาย บางคนก็ซับซ้อน บางคนก็เรียบง่าย ความคิดสร้างสรรค์จะไม่เกิดขึ้นเมื่อมีคนบนเวทีกับคนอยู่ข้างล่าง แต่จะเกิดเมื่อเราอยู่ “เท่ากัน” บรรยากาศของการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันมากขึ้นจึงน่าจะดีต่อสังคมและบ้านเมือง
             คนเรามีความบ้า หรือ Crazy wisdom อยู่ในตัว แต่เรามักจะสร้างตัวตนให้ดูดีที่สุด เพราะเราคิดถึงความคาดหวังของคนอื่นอยู่ตอดเวลา แต่ถ้าเราเป็นตัวเองแบบที่ไม่ได้เจ๋ง และไม่มีใครเจ๋งกว่าเรา จะไม่มีใครถูกหรือผิด

             คุณสาธิต กาลวันตวานิช ผู้ก่อตั้ง และ Creative Director, บริษัท ธิตทาง จำกัด แนะนำให้รู้จักกับมิตรแท้ของความคิดสร้างสรรค์ 4 ข้อ ได้แก่
  1. Passion ฉันทะ หรือความคลั่งไคล้
  2. Stupidity ความโง่ ไอเดียโง่ๆ กลายเป็นความคิดใหม่ๆ ได้
  3. Blind fake การมองทะลุ หรือความเชื่อมั่นอย่างไม่ลืมหูลืมตา ไม่มีตรรกะสามารถอธิบายได้ มีเพียงความเชื่อส่วนตัวว่ามันเจ๋ง
  4. Stubborn ความดื้อ 
              ความสร้างสรรค์ (Creativity) เกิดจากความกดดันจากข้อจำกัด นักสร้างสรรค์พยายามมองหาข้อผิดพลาด หาสิ่งที่หลุดออกจากกรอบคิด บางครั้งมีอะไรเผลอหลุดออกมาก็รีบคว้าไว้ นำไปขัดเกลา เริ่มแต่งจนกลายเป็นไอเดียที่ดี การก็อปปี้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แต่ต้องนำมาใช้อย่าง ”นักแก้ปัญหา” คำว่าก็อปปี้มักถูกมองในเชิงลบ แต่ถ้าเราหาเหลี่ยมมุมที่มองเป็นเรื่องสร้างสรรค์ จะพบว่าทุกสิ่งเป็นสิ่งเก่าที่นำมาต่อยอด ส่งเข้าตลาด แล้วกลายเป็นนวัตกรรมได้ ความบีบคั้นจากข้อจำกัด จะเปลี่ยนปัญหาไปเป็นสิ่งใหม่ตลอดเวลา เมื่อไม่จำนนต่อทุกปัญหา ความคิดดีๆ จะถูกขัดเกลาบ่มเพาะขึ้น ฝึกเป็นนักแก้ปัญหาและค้นหา solution ที่ดีขึ้น
            การจะคิดสร้างสรรค์ เราต้องเคารพตัวเอง เชื่อมั่น หัดจับความคิด อย่าปล่อยให้มันผ่านไป เพราะความคิดวิ่งผ่านไปผ่านมาตลอดเวลา ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งใกล้ตัวและทุกคนคิดได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้ความคิดสมบูรณ์แบบ กล้าที่จะก้าว กล้าที่จะผิด  แล้วมุมมองโลกของเราจะเปลี่ยนไป อย่ามัวแต่รอให้ทุกอย่างถูกต้อง แค่เชื่อมั่นว่าเป็นไปได้ แล้วค่อยใช้เป็นเหยื่อเกี่ยวเบ็ดดึงไอเดียตัวอื่นๆ เข้ามา

              คุณอานนท์ ไพโรจน์ ผู้ก่อตั้งบริษัทอานนท์ ไพโรจน์ ดีซาย สตูดิโอ จำกัด เกิดความรู้สึกสับสนว่าความคิดสร้างสรรค์คืออะไร จึงลองตรวจสอบดู และพบว่ามีสิ่งที่สร้างสรรค์ในสิ่งที่ไม่สร้างสรรค์ ค้นให้พบว่าตนเองเกลียดอะไร จะได้ไม่เสียเวลากับสิ่งนั้น
             ความรัก ความเศร้า และความกลัวทำให้เรากระหาย เราต้องการพัฒนาและสร้างตัวตนของเรา ในขณะที่เราสนใจความสัมพันธ์ของมนุษย์เราจะค้นพบสิ่งที่อ่อนแอของตัวเราด้วย เป้าหมายต้องชัดเจนและไม่แกว่ง การสร้างงานศิลปะอาจจะเหมือนทำงานให้คนอื่นแต่แท้ที่จริงแล้วเราได้พัฒนาตัวเอง

             

ความคิดสร้างสรรค์สอนกันได้ไหม



  • คนที่เก่งที่สุดคือ คนที่ฝึกความสามารถในการเปลี่ยนข้อจำกัดไปเป็นมุมมองอื่นๆ มองสิ่งหนึ่งให้กลายเป็นอีกสิ่งหนึ่ง
  • ความไม่รู้อาจสร้างความคิดสร้างสรรค์ได้มากกว่าคนที่รู้ ความไม่รู้เสริมในสิ่งที่เป็นความคิดเดิมๆ ได้
  • การเรียนรู้เกิดจากการทำ และเปิดประตูไปสู่สิ่งใหม่ๆ ก้าวข้ามความไม่รู้ ด้วยการหาความรู้ ถ้าไม่ป้อนข้อมูลความรู้ให้ตัวเองเรื่อยๆ  ฐานก็จะแคบ การพึ่งตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ
  • ทุกความเชื่อที่เราเชื่อนั้นถูกต้อง การเคารพคนอื่นสำคัญ แต่การเคารพตัวเองก็สำคัญ ความคิดสร้างสรรค์เกิดจาก “กูเชื่อในแบบของกู”
  • ความคิดสร้างสรรค์จะเกิดก็ต่อเมื่อเราเคารพกันและกัน ความมั่นคงในตัวเองสำคัญ ควรสร้างบรรยากาศที่เชื่อมั่นในตัวเอง เคารพตัวเองขึ้นมาให้ได้
  • เราต้องเป็นสังคมที่ผลักดันเรื่องความรู้ (knowledge society) ก่อน


           ในห้องเรียนถ้าอยากได้ความคิดสร้างสรรค์ กับระเบียบวินัยต้องทำอย่างไร



  • ความคิดสร้างสรรค์ต้องมีวินัย มีเจตจำนงต่อการกระทำนั้น  ครูสามารถเปิดโอกาส ให้อิสระ ความยากคือครูรู้ได้อย่างไรว่านี่คือความคิดสร้างสรรค์หรือไม่สร้างสรรค์ อาจจะต้องตกลงกติการ่วมกัน
  • วิธีการที่สำคัญคือการสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก การสร้างสิ่งแวดล้อมของความมั่นใจเป็นสิ่งสำคัญ ต้องให้เด็กเกิดความมั่นใจจากการลงมือทำ ถ้ายังไม่เริ่มต้นทำเรียกว่า “เพ้อเจ้อ” ถ้าลงมือทำแล้วสำเร็จเรียก “นวัตกรรม”
  • ทุกคนเกิดมาเป็นศิลปิน แต่เราจะรักษาความเป็นศิลปินไว้ได้อย่างไร ดันนั้น แทนที่เราจะถามว่าเราจะสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้เด็กได้อย่างไร ต้องถามตัวเองว่าเราจะไม่ทำลายความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้
  • โลกทุกวันนี้ไม่แยกความคิดสร้างสรรค์กับไม่มีความคิดสร้างสรรค์ออกจากกันแล้ว สอนคณิตศาสตร์แบบสร้างสรรค์ได้ ครูต้องคิดว่าสอนอย่างไรในสิ่งที่เด็กอยากเรียนและครูก็อยากสอน
  • เราเป็นผลผลิตของส่วนผสมของคนที่อยู่รอบๆ เรา ถ้าคนรอบๆ เรางดงาม เราจะงดงาม และเราก็เป็นส่วนผสมของคนอื่นๆด้วย เรางดงาม คนรอบข้างก็งดงาม
  • ความคิดสร้างสรรค์ก็คือคนที่ไม่เหมือนกัน ถ้าทุกคนได้สร้างสรรค์ในแบบที่ตัวเองเป็นนั่นคือความปกติ ความคิดสร้างสรรค์คือความเป็นตัวเอง เราจะเป็นในแบบเรา มีความสุขในแบบที่เราเชื่อ อยู่ในบรรยากาศที่รู้สึกดีกับตัวเอง คนอื่น และสังคม

เอกสารเผยแพร่อื่นๆ

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เมื่อเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและมีบทบาทมากขึ้น จะทำอย่างไรให้เด็กๆ ใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน และชาญฉลาด
ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทำความรู้จัก เข้าใจแนวทางจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ร่วมวิเคราะห์ สร้างสรรค์คำตอบให้กับการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 เพื่อนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

“การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต” ค้นพบความหมายและความสำคัญของ การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) จากหลากมุมมองของผู้มีส่วนในการวางรากฐานการสร้างเยาวชนของชาติให้เติบโตขึ้นเป็นทุนมนุษย์ที่ทรงคุณค่าในอนาคต 

Brain-Based Learning