OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

การจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตร Brain-Based Learning ด้านศิลปะและการสร้างสรรค์

17806
การจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตร Brain-Based Learning ด้านศิลปะและการสร้างสรรค์

พัฒนาการด้านศิลปะและการสร้างสรรค์


  • ทำไมเด็กต้องเรียนรู้ศิลปะ? บางคนคิดว่า ศิลปะเป็นเรื่องของคนที่มีพรสวรรค์ บางคนคิดว่า เราสอนศิลปะเพื่อช่วยให้เด็กเบาสมอง แต่ที่จริงศิลปะเป็นผลงานอันเก่าแก่ที่สุดที่มนุษย์ได้ทำมา เช่น ภาพเขียนตามผนังถ้ำ และการประดิษฐ์ขวาน หม้อ เกวียน เหล่านี้เป็นศิลปะทั้งสิ้น
  • เด็กทุกคนสร้างงานศิลปะได้ และชอบงานศิลปะ การจะพัฒนาศิลปะและการสร้างสรรค์ให้เด็ก ต้องเข้าใจว่า ศิลปะก็คือ กระบวนการที่สมองถอดความคิดออกมาเป็นภาพ และชิ้นงานต่างๆนั่นเอง ถ้าสมองมีอะไรอยู่การ “ถอด” ความคิดออกมาก็เป็นไปได้
  • กระบวนการพัฒนาศิลปะและการสร้างสรรค์ของเด็ก จึงเน้นให้เด็กคิด และลงมือทำออกมา กล่าวคือ ให้ทำกิจกรรมศิลปะหลากหลายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และเสนอโจทย์หลากหลาย ซับซ้อน ท้าทาย ให้สมองคิดหลายแบบ หลายบริบท ทั้งนี้ก็เพื่อกระตุ้นให้สมองคิดและทำ
  • เครื่องมือที่จะช่วยให้สมองสื่อสารงานศิลปะออกมาได้ก็คือ ดินสอ สี กระดาษ น้ำ ดินน้ำมัน แท่งไม้ กองทราย ใบไม้ เชือก ด้าย กรรไกร และวัสดุต่างๆ
  • จุดหมายสำคัญ กระบวนการพัฒนาศิลปะและการสร้างสรรค์ของเด็ก มีจุดมุ่งหมายสำคัญก็คือ เพื่อให้เด็กได้ใช้การเชื่อมโยงในสมอง คิด จินตนาการ อย่างเต็มที่ และผลโดยตรงที่เด็กได้รับการพัฒนาด้านนี้ก็คือ ความรู้สึกพอใจมีความสุข ได้สัมผัสสุนทรีย์ของโลกตั้งแต่ยังเยาว์

สมองกับศิลปะและการสร้างสรรค์


  • ศิลปะ เปรียบเสมือนกระดาษทดแห่งจินตนาการ การแสดงออกทางศิลปะ เปรียบเสมือนการสร้างจินตนาการเป็นรูปร่างภายนอก แล้วป้อนกลับเข้าสู่สมอง ศิลปะจึงเปรียบเสมือนกระดาษทดแห่งจินตนาการ ทำให้สมองได้จัดการกับจินตนาการต่างๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น การทำศิลปะก็เหมือนการใช้กรดาษทดคิดเลข การทำเลขบนกระดาษทดทำให้การคิดเลขแจ่มชัดมากกว่าการคิดในใจ
  • การแสดงออกทางศิลปะ คือ การได้สำรวจระบบความคิดของสมองเอง ทางหนึ่งที่สมองจะรู้ได้ชัดเจนว่าสมองกำลังคิดอะไร คือ การแสดงออกทางใดทางหนึ่ง แล้วรับรู้สัมผัสความรู้จากการทำนั้นกลับเข้ามาพิจารณาใหม่ ยิ่งทำ ยิ่งจัดระบบความคิดได้ดีขึ้น สิ่งนี้จำเป็นสำหรับสมองที่กำลังพัฒนา
  • ศิลปะเด็ก เป็นคำศัพท์ใหม่ที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในหลายทศวรรษที่ผ่านมา และได้รับความสนใจกันมากขึ้นว่า จิตใจของเด็กย่อมสะท้อนออกมาในงานศิลปะที่เขาทำ
  • ศิลปะมาจากการทำงานของสมอง รูปที่เด็กวาดนั้น มิใช่เพียงเส้นสายยุ่งเหยิง หรือเส้นสีอันเลอะเทอะ หากแต่เป็นจินตนาการมาจากโลกแห่งจิตใจของเขาเอง และแน่นอน มันมาจากการทำงานของสมองนั่นแหละ
  • กระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญด้านศิลปะ คือการสร้างกระบวนแบบ (pattern) จดจำ เปรียบเทียบ และพยายามจะสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงสิ่งที่เห็น ได้ยิน สัมผัส ความพยายามเชื่อมโยงนี้เอง เป็นที่มาของการสร้างจินตนาการ นับเป็นการสมมติฐานแรกๆ ที่เด็กพยายามประกอบสร้าง (construct) ความรู้ด้วยตนเอง
  • การเริ่มเรียนศิลปศึกษาในช่วงแรก ควรเริ่มจากการฝึกให้เด็กสังเกตธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สมองจะจัดการประมวลสิ่งที่เห็นและรู้สึก แล้วจัดการถ่ายทอดความคิดออกมาในรูปแบบต่างๆสิ่งนี้จะย้อนกลับไปขัดเกลาตกแต่งจิตใจของเด็ก
  • การสร้างงานศิลปะเป็นการระบายความกดดัน อัดอั้นใจของเด็กออกมาแทนที่จะเก็บเอาไว้ หรือเก็บกดวันหนึ่งเกิดระเบิดออกมา
  • ศิลปศึกษา มีความสำคัญต่อการพัฒนาวงจรสมองที่ทำงานด้านอารมณ์ของเด็ก การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้เด็กอย่างถูกต้อง จะช่วยสร้างวงจรเซลล์สมองให้มีการพัฒนาความรู้สึกต่างๆของเด็กได้เป็นอย่างดี
  • ศิลปะมีส่วนคล้ายดนตรี ช่วยผ่อนคลายความเครียด และบรรเลงภาษาที่จับใจ
  • การส่งเสริมให้เด็กทำงานศิลปะเป็นสิ่งสำคัญ เด็กทุกคนมีกำลังใจเมื่อเขารู้ว่าตัวเขาได้รับการยอมรับ และรู้ว่าเขามีความหมาย งานศิลปะเด็กสะท้อนตัวเด็กเอง เส้นหนักหรือเบา สีเข้มหรืออ่อน ยังไม่ใช่ประเด็นที่ต้องวิจารณ์ ควรมุ่งไปที่จิตใจ จิตวิญญาณของเด็กเป็นสำคัญ
  • แม้ว่าเด็กจะมีข้อจำกัดในความสามารถที่จะทำงานวาด ปั้น แกะสลัก แต่สิ่งที่ควรสนใจมากกว่าก็คือ เด็กกำลังสื่อสารสิ่งที่คิดออกมาด้วยภาษาศิลปะ ที่ไม่ใช่คำพูดหรือภาษาเขียน
  • งานศิลปะเด็กเป็นสิ่งอัศจรรย์ เพราะทำให้สิ่งที่เด็กเห็นและสิ่งที่เด็กคิดในสมองผสานกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว เด็กจะก่อรูปความเข้าใจต่อมิติและระยะออกมาในภาพที่วาด ซึ่งสะท้อนให้รู้ว่า เขามีประสบการณ์ในรูปแบบ แบบแผน กระบวนการ (pattern) ของสิ่งต่างๆรอบตัวอย่างไร
  • การพัฒนาทักษะของกล้ามเนื้อละเอียดของเด็กวัยนี้ (fine motor skill) ดีขึ้น ทำให้เด็ก วาด ปั้น พับ ตัด แกะ และอื่นๆ เพื่อสื่อสารสิ่งที่คิดออกมาได้เป็นเรื่องเป็นราวชัดขึ้น

ศิลปะ พัฒนากระบวนการคิด


  • การให้เด็กทำงานศิลปะ เป็นการทำให้เด็กได้ฝึกกระบวนการคิด เช่น การปั้น การเปิดโอกาสให้เด็กได้จับต้องสัมผัสกับดินเหนียว หรือดินน้ำมัน เด็กจะเกิดความรู้สึกเหนียวนุ่มแล้วพยายามปั้นให้เป็นรูปทรง
  • เมื่อเด็กจะทำการปั้น วงจรทุกวงจรในสมองของเด็กจะเชื่อมโยงกัน สมองส่วนคิดจะทำงาน เด็กจะคิดจินตนาการว่าจะปั้นอะไร และแน่นอนคือ ทำไมเขาเลือกปั้นสิ่งนั้นหรือปั้นสิ่งนี้ กระบวนการนี้จะทำให้เด็กเกิดปัญญา เกิดความคิดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ
  • ในขณะที่เด็กปั้น เด็กจะใช้นิ้วมือและตาสัมพันธ์กัน สมองส่วนที่เกี่ยวข้องขณะนี้คือ ส่วนรับภาพ ส่วนรับสัมผัส และส่วนเคลื่อนไหว

การจัดประสบการณ์ศิลปะ


  • ให้เด็กมีเวลาเต็มที่ในการวาดภาพ การวาดเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือใช้ทักษะในการแก้ปัญหา ใช้เวลาในการคิดเรื่องราวต่างๆ เพื่อพัฒนาวิธีคิดสร้างสรรค์ เพื่ออธิบายความเข้าใจของเขาที่มีต่อเรื่องของขนาดและปริมาณ (scale) ระยะและมิติ (space) การเปลี่ยนตำแหน่ง (motion) ของสิ่งที่เขากำลังจะวาดนั้น
  • ให้เด็กมีประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสผ่านทางศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ เป็นการสร้างความเพลิดเพลินที่มีคุณค่าแก่เด็ก เด็กจะได้สำรวจภาพ กลิ่น รสชาติ และลักษณะเนื้อแท้ของสิ่งต่างๆ เป็นการส่งเสริมความมั่นใจและความรู้สึกเป็นตัวตนของเด็ก
  • ให้เด็กมีโอกาสทดลองใช้วัสดุหลากหลาย ขณะที่เด็กทดลองใช้วัสดุเทคนิคต่างๆ ในการทำงานศิลปะและค้นหาวิธีต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดรูปภาพ และรูปทรงสองและสามมิติ เด็กจะเรียนรู้การใช้ประสบการณ์ในการแสดงความคิด และตอบสนองต่อโลก
  • ให้เด็กได้พูดถึงงานของตนเอง ผู้ใหญ่ควรจะขยายความสนใจในงานศิลปะของเด็ก โดยการพูดคุย การวิเคราะห์ และการพิจารณางานศิลปะร่วมกัน ทำให้การพูดคุยนั้นเป็นธรรมชาติ สนุกสนาน อย่าทำให้เป็นการวัดและประเมินอันเข้มงวด
  • ให้เด็กวาดอย่างอิสระ ศิลปะเด็กยังไม่ควรเน้นการลอกเลียนแบบ หรือการทำให้เหมือนของจริง สายตาและจินตนาการของเด็กวัยนี้ ยังไม่ได้มุ่งไปสู่ความถูกต้องของสัดส่วน แสง หรือเงา
  • ให้เด็กใช้สื่อหลากหลาย เช่น ดินเหนียว สี ทราย น้ำ แท่งไม้ เครื่องดนตรี วัสดุที่ไม่ใช้แล้ว และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในการจัดวาง สร้างสรรค์ และถ่ายทอดความคิดออกมา
  • ให้เด็กได้แสดงออกร่วมกันในการสำรวจอดีต ปัจจุบัน และจินตนาการอนาคต ผ่านการแสดงออกที่สร้างสรรค์ ได้แก่ การเต้น รำ ละคร เขียนสี วาดภาพ
  • ให้เด็กได้เล่นดนตรีและสร้างสรรค์ดนตรี จังหวะ เต้นรำ ละคร เรื่องเล่า และบทกวี ด้วยตนเองตามลำพังและร่วมกับผู้อื่น
  • ให้เด็กได้จัดแสดงผลงานนำเสนอความคิด โดยการทำงานศิลปะผ่านการอภิปราย นิทรรศการ การแสดง และการนำเสนอวิธีต่างๆ
  • ให้เด็กใช้เครื่องมือหลากหลาย เปิดโอกาสให้การคิดและจินตนาการของเด็ก ได้แสดงออกมาอย่างเต็มที่ และเริ่มพัฒนาขึ้นสู่ขั้นคุณภาพ
  • ให้เด็กได้รับประสบการณ์ศิลปะจากวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นการสร้างบุคลิกและตัวตนของเด็ก ทำให้ภูมิใจในท้องถิ่น รักชาติ และเข้าถึงศิลปะท้องถิ่น
  • ให้เด็กเรียนรู้ศิลปะสากล เพื่อซึมซับศิลปะของอารยธรรมอื่นในโลก ซึ่งควรครอบคลุมทั้งโลกตะวันตกและตะวันออก
  • จัดประสบการณ์ให้เด็กได้แสดงความประทับใจในความรู้ทางสุนทรียศาสตร์ รวมถึง สี รูปร่าง พื้นผิว เสียง และศิลปะจากสภาพแวดล้อม


เอกสารเผยแพร่อื่นๆ

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เมื่อเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและมีบทบาทมากขึ้น จะทำอย่างไรให้เด็กๆ ใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน และชาญฉลาด
ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทำความรู้จัก เข้าใจแนวทางจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ร่วมวิเคราะห์ สร้างสรรค์คำตอบให้กับการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 เพื่อนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

“การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต” ค้นพบความหมายและความสำคัญของ การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) จากหลากมุมมองของผู้มีส่วนในการวางรากฐานการสร้างเยาวชนของชาติให้เติบโตขึ้นเป็นทุนมนุษย์ที่ทรงคุณค่าในอนาคต 

Brain-Based Learning