OKMD กระตุกต่อมคิด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ - Opportunity for All
กระตุกต่อมคิด เพื่อพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ภูมิปัญญา

Brain-Based Learning (BBL) กับการแก้ปัญญาสังคม

3668


โดย รองศาสตราจารย์ นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และอนุกรรมการขับเคลื่อนงานจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง


BBL กับการแก้ปัญญาสังคม เป็นเวทีเสวนาวิชาการที่จัดขึ้นในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "10 ปี การเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain-Based Learning: BBL)" ที่นำเสนอองค์ความรู้ด้านการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง ผ่านเวทีเสวนาจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ส่งต่อองค์ความรู้และวิธีการนำแนวคิดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมองไปปรับใช้ในการพัฒนาอนาคตของชาติและแก้ปัญหาวัยรุ่นในสังคมให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ยั่งยืน โดยมีเนื้อหาสรุปตามหัวข้อเสวนา ดังนี้


ทำความเข้าใจวัยรุ่น


ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่หลายคนเรียกว่า Second Birth จากพฤติกรรมของเด็กวัยรุ่นอาจจะเป็นคนละคนจากในช่วงก่อนหน้า เราจะเห็นได้ว่าในช่วงนี้เด็กจะเต็มไปด้วยข้อมูลต่างๆ มากมายที่เข้ามาในชีวิต สมองของเด็กก็เหมือนกับคอมพิวเตอร์ที่ต้องมีการทำความสะอาด (Cleaning) ข้อมูลเป็นระยะและจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ให้เป็นระเบียบยิ่งขึ้น ของข้อมูลที่ถูกใช้บ่อยก็จะถูกเก็บไว้ในหน้า Desktop ถ้าถูกใช้ไม่บ่อยก็จะเก็บเอาไว้ใน Drive D และหากไม่ได้ใช้เลยก็จะถูกลบออกไป โดยสมองของคนจะมีการทำความสะอาดครั้งใหญ่ (Big Cleaning) ใน 2 ช่วงคือ ช่วงอายุ 2-3 ปี และช่วงอายุก่อนวัยรุ่น (Preteen) ซึ่งจะต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสม


ในการทำงานของสมองมนุษย์ เราอาจเปรียบนิ้วโป้งเป็นสมองส่วนอารมณ์ และเปรียบนิ้วอีก 4 นิ้วที่เหลือเป็นส่วนคิดในด้านต่างๆ เพื่อไว้ควบคุมอารมณ์ ซึ่งหากเด็กไม่ได้รับการฝึกอย่างเหมาะสม นิ้วโป้งอาจจะมีพลังมากกว่า โดยในช่วงวัยรุ่นฮอร์โมนบางตัวจะทำให้นิ้วโป้งสามารถประทุอารมณ์ได้มากขึ้น อย่างกรณีของ โดพามีน (Dopamine) หากลดลงมาอย่างรวดเร็ว ทำให้เด็กวัยรุ่นต้องการความพอใจมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่มีความเสี่ยงได้ง่าย ในวัยรุ่นเนื้อเซลสมองจะมีการลดลงประมาณ 1% ทุกปี แต่เราจะทำอย่างไรให้การเชื่อมโยงของเซลสมองมีมากขึ้นแทน ฮอร์โมนอีกตัวหนึ่งที่มีผลต่อเด็กวัยรุ่น คือ เมลาโทนิน (Melatonin) ที่หลั่งออกมา ทำให้เด็กวัยรุ่นต้องการการนอนมากขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับพฤติกรรมของวัยรุ่นที่นอนดึกมากขึ้นและนอนน้อยลง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหานอนไม่พอและนำไปสู่ปัญหาต่างๆ อาทิ ปัญหาเด็กไม่มีสมาธิ ปัญหาความจำ ปัญหาในการเข้าใจเรื่องที่ยาก เช่นเรื่องจริยธรรมและคุณธรรม ฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความรักและความต้องการการยอมรับจากเพื่อนๆ จะมีมากในช่วงอายุ 14-15 ปี ดังนั้น หากเด็กวัยรุ่นอยู่ในกลุ่มเพื่อนหรืออยู่ในสังคมก็จะแสดงพฤติกรรมที่แตกต่างจากการอยู่กับพ่อแม่หรืออยู่คนเดียว โดยจะกลับมาใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล เพื่อสร้างการยอมรับจากเพื่อนและคนอื่นๆ ในสังคม ดังนั้น การให้เด็กหลีกเลี่ยงจากการเข้ากลุ่มที่ไม่เหมาะสมก็จะเป็นการลดพฤติกรรมเสี่ยงของเด็กได้ รวมถึงการจัดพื้นที่และกิจกรรมต่างๆ ที่ให้เด็กได้แสดงออกอย่างเต็มที่ก็จะช่วยลดปัญหาวัยรุ่นได้


การเข้าใจพฤติกรรมวัยรุ่น


จากการศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมของวัยรุ่น พบว่าปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากวัยรุ่นไม่เข้าใจความไม่คงเส้นคงวาของผู้ใหญ่ ความไม่เข้าใจในประเด็นที่เป็นนามธรรมของวัยรุ่น มิจฉาทิฐิของผู้ใหญ่ที่มากกว่าเด็กซึ่งทำให้ปัญหาต่างๆ แก้ไขได้ยากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากเด็กซึ่งเมื่อจบก็คือจบและต้องการความยุติธรรมเป็นหลัก ความคิดของวัยรุ่นเองที่ต้องการการยอมรับและความโดดเด่น ซึ่งก็เป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดพฤติกรรมได้ทั้งในทางบวกและทางลบ ดังนั้น หากมีผู้ใหญ่มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัยรุ่นและมีการเตรียมตัวเด็กเป็นอย่างดี ก็จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการที่ดีและทักษะในการคิดใช้ชีวิตที่เหมาะสมให้กับเด็ก


การเป็นนักเหลาความคิด


พ่อแม่และครูมีบทบาทสำคัญในการช่วยขัดเกลาและเตรียมพร้อมเด็กเพื่อพัฒนาไปสู่วัยผู้ใหญ่ โดยการปลูกฝังความคิดและจิตใจในการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมและเรียนรู้ที่จะรัก โดยในการขัดเกลาหรือเป็นผู้เหลาความคิดนั้น พ่อแม่และครูควรจะต้องยึดหลักดังนี้


  • ต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและมีความสม่ำเสมอ
  • ต้องมีการตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย
  • ต้องช่วยกันคิดและทำอะไรที่แปลกใหม่
  • ต้องมีกิจกรรมเสริมและกิจกรรมนอกโรงเรียนมากขึ้นเพื่อเป็นทุนชีวิตให้กับเด็ก

โดยในการขัดเกลาเด็ก ไม่ควรที่จะช่วยเหลือหรือคิดแทนเด็กทั้งหมด ในการยื่นมือให้ความช่วยเหลือต้องให้เด็กได้พยายามออกแรงมากขึ้น เพื่อมาจับมือเรา (Scaffolding Theory) ผู้ปกครองและครูจะเป็นผู้ช่วยชี้แนะแนวทางและช่วยเท่าที่จำเป็น แต่จะต้องให้เด็กได้พยายามเอง จนในที่สุดที่เด็กสามารถเอื้อมมาจับมือเราได้ หรือไม่ต้องจับเพราะเขาสามารถทำได้ดีด้วยตัวเอง โดยพ่อแม่และครูจะต้องรักษาระยะห่างในการให้ความช่วยเหลือ เน้นให้เด็กมีส่วนร่วมในการคิดและทำเพื่อพัฒนาตนเอง และที่สำคัญจะต้องให้พลังแก่เด็ก ทั้งความรักความอบอุ่น การสื่อสาร การให้เกียรติ การมั่นคงมีหลักการ การชื่นชม และต้องคิดอยู่เสมอว่าเด็กไม่ใช่ผ้าขาว แต่เป็นผ้าที่มีพื้นสีแตกต่างกัน



ดาวน์โหลดเอกสาร (pdf ขนาด 1029.48 KB)

เอกสารเผยแพร่อื่นๆ

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เด็กกับเทคโนโลยี ความพอดีอยู่ทีไหน

เมื่อเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและมีบทบาทมากขึ้น จะทำอย่างไรให้เด็กๆ ใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน และชาญฉลาด
ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทิศทางใหม่ของการจัดการเรียนรู้

ทำความรู้จัก เข้าใจแนวทางจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ร่วมวิเคราะห์ สร้างสรรค์คำตอบให้กับการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 เพื่อนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต

“การสร้างเยาวชนของชาติ เพื่อตอบโจทย์อนาคต” ค้นพบความหมายและความสำคัญของ การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital Development) จากหลากมุมมองของผู้มีส่วนในการวางรากฐานการสร้างเยาวชนของชาติให้เติบโตขึ้นเป็นทุนมนุษย์ที่ทรงคุณค่าในอนาคต 

Brain-Based Learning